เทรนด์ Chronoworking เลือกทำงานเวลาที่มีสมาธิ เพิ่มประสิทธิภาพ-สร้างสมดุล

เทรนด์ Chronoworking เลือกทำงานเวลาที่มีสมาธิ เพิ่มประสิทธิภาพ-สร้างสมดุล

เทรนด์ Chronoworking ทำงานตอนไหนก็ได้ที่มีสมาธิที่สุดของวัน ทลายกรอบเวลา ‘9 to 5’ แบบเดิมๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงาน-สร้างสมดุลชีวิต

ความยืดหยุ่นในการทำงานและการสร้างสมดุลชีวิต กลายเป็นความต้องการหลักของโลกการทำงานตั้งแต่ช่วงหลังโควิดเป็นต้นมา พนักงานทั่วโลกต่างดิ้นรนเพื่อความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ยกตัวอย่างรายงานจาก VoiceNation ที่ระบุว่า พนักงานในสหรัฐ 63% ได้พิจารณาเปลี่ยนงานเนื่องจากเจอความเครียดในที่ทำงาน ขณะที่พนักงานจำนวนไม่น้อยก็หันไปหางานที่ให้ความยืดหยุ่นมากกว่า นำไปสู่เทรนด์การทำงานใหม่ๆ หลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นมาในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น Coffee Badging, Shadow Policies และ Quiet quitting

ล่าสุด.. เกิดเทรนด์การทำงานใหม่อีกเทรนด์ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ Chronoworking ซึ่งถูกพูดถึงกันมาสักพักแล้ว แต่ปีนี้เริ่มได้ยินว่ามีการผลักดันการทำงานรูปแบบนี้มากขึ้น โดยเอื้อให้พนักงานไม่ต้องกังวลกับกรอบเวลาทำงานแบบ 9 to 5 (เข้างาน 9 โมงเช้าเลิกงาน 5 โมงเย็น) อีกต่อไป

Chronoworking คืออะไร เป็นรูปแบบการทำงานแบบไหน?

‘Chronoworking’ เป็นรูปแบบการทำงานที่ให้พนักงานสามารถปรับตารางเวลาทำงานตามจังหวะนาฬิกาชีวิตตามธรรมชาติของแต่ละคน หรือที่เรียกว่า โครโนไทป์ (Chronotype) ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานไปตลอดทั้งวันอย่างมีนัยสำคัญ

ทอว์น วิลเลียมส์ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และเป็นผู้ก่อตั้ง House of Anaya บริษัทด้าน Wellness อธิบายถึงเทรนด์นี้ว่า แทนที่จะยึดติดกับเวลาทำงานเดิมๆ แบบ 9 to 5 แต่แนวคิดนี้เปลี่ยนมุมมองเรื่องเวลางานใหม่ โดยมุ่งจัดลำดับความสำคัญในการรับรู้และเคารพวงจรตามธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งก็คือการรู้จักช่วงเวลาพลังงานสูงและช่วงพลังงานต่ำของตนเอง แล้วเลือกทำงานในช่วงเวลาที่เรามีพลังงานสูง มีสมาธิ สมองลื่นไหลได้ดีที่สุดของวัน 

ทั้งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เช่น บางคนตื่นเช้าและมีพลังสูงสุดในช่วงเช้าหรือสาย แต่บางคนตื่นสายและมีสมาธิทำงานที่สุดตอนบ่ายหรือค่ำ หรือบางคนทำงานได้ดีตอนกลางคืน เป็นต้น การปรับตารางทำงานแบบนี้ช่วยให้กำหนดเวลาที่ยืดหยุ่นได้มากขึ้น ทั้งยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“ด้วยการจัดเวลางานให้สอดคล้องกับเวลาที่เหมาะสมตามวงจรธรรมชาติของร่างกาย มันจึงสามารถช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางจิตใจ ร่างกาย และอารมณ์ของพนักงานได้อย่างกลมกลืน นำไปสู่ประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นและความพึงพอใจในงานโดยรวม” วิลเลียมส์ กล่าว

Chronoworking แม้จะมีประโยชน์ต่อพนักงาน แต่อาจทำได้ยากในองค์กรใหญ่ๆ

วิลเลียมส์บอกอีกว่า จากมุมมองด้านประสาทวิทยาศาสตร์และชีววิทยา การทำงานแบบ “โครโนเวิร์กกิง” อาจดูสมเหตุสมผล แต่ในความเป็นจริงแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่า วัยทำงานส่วนใหญ่ยังคงต้องติดอยู่ในกรอบตารางการทำงานแบบเดิมในแทบจะทุกองค์กร แม้ว่าจังหวะการทำงานตามนาฬิกาชีวิตของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปก็ตาม 

โดยเฉพาะถ้าคุณทำงานให้กับบริษัทใหญ่ๆ นายจ้างของคุณอาจเรียกไปคุยหากคุณไม่ทำงานตามกรอบเวลามาตรฐานปกติ แต่คนที่สามารถทำงานในรูปแบบนี้ได้นั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเจ้าของกิจการแบบ Solopreneur (ผู้ประกอบการที่ทำงานด้วยตัวเองคนเดียว ทำธุรกิจโดยไม่ต้องจ้างพนักงานประจำแต่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาทดแทน)

“ปัจจุบันมีการเสนอแนวคิดการทำงานแบบ Chronoworking ในหลายๆ องค์กรที่มองว่าความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญต่อพนักงาน แต่ยังพบว่ามีน้อยอยู่ ส่วนองค์กรใหญ่ๆ ก็เริ่มเปิดรับแนวคิดนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานแบบไฮบริด แต่ก็อาจจะยังไม่มีความชัดเจนมากนัก อาจเป็นเพียงการวางโครงสร้างหลวมๆ ไว้เป็นหนึ่งในทางเลือกเท่านั้น” วิลเลียมส์อธิบาย 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้ยังไม่พุ่งสูงขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่แต่อย่างใด แต่วาทกรรมเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะทางจิตใจที่เพิ่มขึ้นในที่ทำงาน ก็กำลังค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองของนายจ้างในยุคนี้มากขึ้น ยิ่งบทสนทนาเหล่านี้เปิดเผยมากขึ้นเท่าไร ผู้นำทางธุรกิจก็เริ่มตระหนักถึงศักยภาพของโมเดลดังกล่าวมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะเอื้อต่อความเป็นอยู่และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานที่ดีขึ้นตามไปด้วย

ข้อดีและข้อเสียของ 'โครโนเวิร์กกิง’ มีอะไรบ้าง?

วิลเลียมส์ อ้างถึงประโยชน์หลักๆ ที่พนักงานจะได้รับจากการทำงานแบบ Chronoworking ว่า พวกเขาจะประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นและความรู้สึกเติมเต็มในการทำงานมากขึ้น คนเราจะเข้าใจเวลาการปฏิบัติงานที่เหมาะสมที่สุดของตนเองโดยสัญชาตญาณ ยกตัวอย่างเช่น วิลเลียมส์บอกว่าตัวเธอเองมักจะทำงานได้ไม่เต็มที่จนกระทั่งหลัง 10.00 น. ดังนั้น เธอจึงชอบจัดกำหนดการประชุมหลังจากได้ดื่มกาแฟยามเช้าและเช็กอีเมลแล้วเท่านั้น เธอตั้งข้อสังเกตว่าประสิทธิภาพการทำงานของเธอจะถึงจุดสูงสุดในช่วงเวลาอาหารกลางวันและเริ่มลดลงภายในเวลา 18.00 น. 

“การทำงานแบบ Chronoworking มีข้อได้เปรียบจุดสำคัญตรงที่ เราเลือกทำงานในเวลาที่เรามีพลังงานสูงสุดของวัน ซึ่งช่วยให้แต่ละบุคคลสามารถทบทวนและปรับตารางการทำงานให้สอดคล้องกับจังหวะที่เป็นธรรมชาติของร่างกาย มันจึงส่งเสริมความรู้สึกรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตนมากขึ้น และผลลัพธ์ที่ได้ตามมาก็คือ การตระหนักรู้ในตนเองและความรับผิดชอบนี้สามารถช่วยเพิ่มความพึงพอใจและประสิทธิผลในการทำงานได้อย่างมาก” วิลเลียมส์เน้นย้ำ 

ในขณะที่ข้อเสียของการทำงานรูปแบบนี้ก็คือ อาจเป็นรูปแบบการทำงานที่นำมาซึ่งความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมของทีมที่สมาชิกส่วนใหญ่อาจมีชั่วโมงทำงานที่คล้ายคลึงกัน หากคุณเป็นคนเดียวที่ขอปรับเวลางานก็อาจส่งผลกระทบในทางที่แย่ต่อทีมได้ ดังนั้น หากจะมีการปรับมาใช้แนวทางนี้ “การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและการไม่แบ่งแยกกันภายในทีม” จึงเป็นจุดสำคัญที่สุดที่ต้องมี ทีมต้องหารือร่วมกันอย่างจริงจังก่อนที่จะนำ Chronoworking มาใช้ในการทำงาน

การจะผลักดันให้เกิดการทำงานแบบ Chronoworking ขึ้นมาได้ ทีมต้องทำงานร่วมกันเพื่อรองรับตารางเวลาที่หลากหลายของสมาชิกแต่ละคน ซึ่งต้องการความยืดหยุ่นและการประนีประนอมในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ กุญแจสำคัญในการเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้น อยู่ที่การรักษาความโปร่งใสและการวางแผนงานที่ละเอียดรอบคอบ หากพิจารณาถึงข้อเสียเหล่านี้ อาจทำให้รู้สึกว่ามีข้อเสียเปรียบในตอนแรก แต่หากทำได้ในระยะยาวจะสามารถเปลี่ยนเป็นผลประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว เช่น ช่วยเพิ่มพลวัตของทีมและประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม เพิ่มความสามารถในการปรับตัวและความเข้าใจกันภายในสถานที่ทำงาน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยให้สภาพแวดล้อมการทำงานมีความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายจ้างที่อยากส่งเสริมความยืดหยุ่นในที่ทำงาน ต้องทำอย่างไร?

ปัจจุบันมีนายจ้างจำนวนมากกระตือรือร้นที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานให้แก่พนักงาน และมองผลประโยชน์ของพนักงานเป็นหลัก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีว่าพวกเขาเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นอันดับแรก และพร้อมเสมอที่จะสำรวจแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ 

แต่วิลเลียมส์ชี้ว่า การต่อต้านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมักเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งอาจนำมาซึ่งความท้าทายที่สำคัญได้ การสร้างสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีในสถานที่ทำงานที่มีประสิทธิผล ไม่สามารถดำเนินการได้ในชั่วข้ามคืน มันจำเป็นต้องมีแนวทางที่ค่อยเป็นค่อยไปและรอบคอบ ซึ่งบริษัทบางแห่งอาจรู้สึกว่าสิ่งนี้ยังดูห่างไกลเกินไปที่จะเริ่มดำเนินการในตอนนี้ หรือบางแห่งก็ยังไม่สื่อสารเรื่องนี้ออกไปอย่างชัดเจน 

ดังนั้น เพื่อเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ วิลเลียมส์ให้คำแนะนำว่า ผู้นำองค์กรจะต้องส่งเสริมวัฒนธรรมการสนทนาที่เปิดกว้างและความยืดหยุ่น เพื่อรับรู้แนวคิดของพนักงานว่าต้องการปรับการทำงานให้ยืดหยุ่นต่อพวกเขาด้วยวิธีไหน สิ่งนี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการตระหนักถึงความหลากหลายในรูปแบบการทำงานของพนักงานเท่านั้น แต่ยังอำนวยความสะดวกและสนับสนุนตารางการทำงานที่หลากหลายอีกด้วย

“นายจ้างควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างกรอบการทำงานที่แข็งแกร่ง ที่ช่วยให้สามารถจัดเตรียมการทำงานส่วนบุคคลได้ ในขณะเดียวกันก็รักษาความสามัคคีในทีม และรักษาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพนักงเอาไว้ได้ด้วย การทำเช่นนี้ องค์กรต่างๆ จะสามารถนำแนวทางปฏิบัติที่เป็นนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจและประสิทธิผลของพนักงานได้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยตอกย้ำถึงการเป็นนายจ้างที่ให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นหลัก” วิลเลียมส์ กล่าวทิ้งท้าย