ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

ดิฉันได้รับทราบจาก ดร.นริศ ชัยสูตร อธิบดี กรมธนารักษ์ ว่าประเทศไทยมีทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินจัดแสดงอยู่

ณ “ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์” ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร

ท่านที่ไปเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว อาจจะเคยเห็นป้ายเชิญชวนเข้าชมพิพิธภัณฑ์เงินตราและเหรียญกษาปณ์ไทย ซึ่งอยู่ถัดจากซุ้มขายบัตรสำหรับชาวต่างประเทศ และประตูทางเข้า

ดิฉันเองก็เคยไปเยี่ยมชมเหรียญกษาปณ์ต่างๆเหล่านี้ และเพลิดเพลินกับการชมเงินตราในสมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยที่ใช้เปลือกหอย เงินฟูนัน ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 6-11 เงินพดด้วง ที่เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย และใช้สืบต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เหรียญกษาปณ์ของไทย เริ่มผลิตครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่สี่ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญกษาปณ์ชนิดกลมแบนแบบสากลขึ้นมาใช้แทนเงินพดด้วง จนพัฒนามาเป็นเหรียญกษาปณ์ต่างๆที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

ได้ไปเห็นเหรียญบาทขนาดใหญ่ที่ใช้ในสมัยที่ดิฉันยังเรียนอยู่ชั้นประถมก็รู้สึกเหมือนพบเพื่อนเก่า สมัยนั้นหนึ่งบาทมีค่าจริงๆค่ะ ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้หนึ่งชาม น้ำเขียว น้ำแดงก็ขายกันถุงละสลึง (25 สตางค์) หรือขนมราคาถ้วยละสองสลึง (50 สตางค์)

การแสดงเหรียญกษาปณ์นี้ ไปสิ้นสุดที่ห้องแสดงเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรชุดใหม่ที่กรมธนารักษ์จัดสร้างถวายในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปี

ห้องที่อยู่ถัดๆไป เป็นห้องจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินประเภทหลักอีก 2 ประเภท คือ เครื่องอิสริยยศ หรือ เครื่องยศ และต้นเค้าเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

ที่เรียกว่าเป็นทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน หมายถึง สิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวเนื่องในพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงสิ่งของที่สร้างขึ้นด้วยเงินแผ่นดิน เพื่อพระราชทานแก่ขุนนางหรือข้าราชการระดับสูง ในการเลื่อนยศหรือตำแหน่ง หรือเพื่อเป็นบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน โดยจะต้องส่งคืนเมื่อพ้นวาระแล้ว

ปัจจุบัน กรมธนารักษ์ เป็นผู้ดูแลรักษาทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินเหล่านี้ และได้ทำการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งแสดงให้มีความทันสมัย น่าสนใจมากขึ้น และจะเปิดให้เข้าชมได้ในเร็วๆนี้

เครื่องอิสริยยศ หรือเครื่องยศ นั้นจะทำจากวัสดุสูงค่า มีความประณีต งดงาม เพื่อพระราชทานแก่ราชตระกูล ขุนนาง ข้าราชการชั้นสูง หรือผู้มีความชอบต่อแผ่นดิน โดยมีเครื่องยศ 7 หมวดคือ ศิราภรณ์ หรือเครื่องประดับศีรษะ ภูษาภรณ์ หรือเครื่องนุ่งห่ม อุปโภคหรือเครื่องใช้สอย ศาสตราวุธ หรืออาวุธ เครื่องสูง(ของที่กำหนดไว้เพื่อแสดงถึงพระเกียรติและฐานะของพระเจ้าแผ่นดิน) และยานพาหนะ


เมื่อมีงานสำคัญ ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องยศสามารถแต่งกายและนำเครื่องยศไปตั้งเป็นเกียรติยศและใช้สอยต่อหน้าพระพักตร์ภายในท้องพระโรงได้


สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของไทยนั้น ในสมัยก่อน จะมีรูปแบบเป็นของใช้ หรือเครื่องประดับส่วนตัว ที่เป็นแบบใช้ประดับกับเสื้อตามแบบตะวันตกนั้น เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพลอยและเพชรประดับสวยงาม รวมถึงทรงบัญญัติศัพท์ว่า “ดารา” เพื่อใช้เรียกส่วนประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เช่นหากประดับพลอย 9 ชนิด ก็เรียกว่า “นพรัตน์ดารา” เป็นต้น


เมื่อเปิดแล้ว อยากเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านไปเยี่ยมชมค่ะ ด้วยค่ะ กรมธนารักษ์หวังที่จะให้คนไทยได้รับรู้ ร่วมภาคภูมิใจ และเกิดความรัก ความหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ และให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ ซึ่งจากการสำรวจผู้เข้าเยี่ยมชมทุกคนเกิดความรู้สึกนี้ร่วมกัน จึงนับได้ว่าหากได้เยี่ยมชม กรมธนารักษ์ก็จะบรรลุเป้าหมายนี้แน่นอนค่ะ


ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์เงินตราสำหรับคนไทยเข้าใจว่า 10 บาท แต่ไม่ทราบว่าเมื่อเปิดให้ชมส่วนที่เป็นเครื่องอิสริยยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วยแล้ว ค่าเข้าชมจะยังคงไว้ที่ 10 บาทหรือไม่ เพราะดิฉันคิดว่าต้นทุนในการอนุรักษ์ ดูแลรักษานั้นค่อนข้างสูงมากทีเดียว


ข้อมูลส่วนใหญ่นำมาจากเอกสารที่เผยแพร่โดยสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน และขอขอบคุณอธิบดีกรมธนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่สำหรับข้อมูลค่ะ ผู้สนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://emuseum.treasury.go.th


พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ