เพราะอะไรจึงยังมีคนอยากไปอยู่ในอเมริกา
บารัก โอบามา เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีก 4 ปี เขามีงานชิ้นใหญ่ๆ รออยู่มากมายทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง
สังคมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ งานชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมานานได้แก่จะทำอย่างไรกับผู้คนหลายสิบล้านคนที่เข้าไปอยู่ในอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย
เราทราบดีว่าอเมริกามีปัญหาสารพัด ภาวะเศรษฐกิจยังง่อนแง่นหลังจากฟองสบู่แตกครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2551 งานหาทำยาก อัตราการว่างงานยังสูงถึง 8% แม้จะมีงานทำก็ใช่ว่าจะหารายได้พอเลี้ยงปากท้องเสมอไปส่งผลให้มีคนยากจนหลายสิบล้านคน นักสังเกตการณ์จำนวนหนึ่งจึงมักวิจารณ์ว่าอเมริกากำลังเสื่อมถอยอย่างหนัก แต่ก็ยังมีคนอยากเข้าไปอยู่ในอเมริกาทั้งแบบถูกกฎหมายและแบบลักลอบเข้าไปอยู่ การสำรวจความเห็นของคนทั่วโลกโดยสำนักกัลลัพสรุปว่า ในหมู่ของผู้ต้องการอพยพออกนอกประเทศของตนเอง อเมริกามีคนอยากเข้าไปอยู่มากที่สุดคือ 23% รองลงมาได้แก่อังกฤษคือที่ 7%
หากถามอภิมหาเศรษฐีอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ คำตอบก็คือ ไม่มีประเทศไหนให้โอกาสสร้างความมั่งคั่งได้เท่ากับอเมริกา เขาไม่น่าจะผิดเนื่องจากเศรษฐกิจของอเมริกายังใหญ่กว่าของใครทั้งหมด ใหญ่กว่าหมายเลขสองคือจีนถึงเกือบสองเท่าและใหญ่กว่าหมายเลขสามคือญี่ปุ่นถึงสองเท่าครึ่ง จริงอยู่เมื่อดูที่รายได้ต่อหัวคน อเมริกามิได้รวยที่สุด มีประเทศที่มีรายได้ต่อหัวคนสูงกว่าราวสิบประเทศ แต่ประเทศเหล่านั้นมักมีขนาดเล็กที่มักไม่เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าไปตั้งหลักแหล่ง หรือสร้างความร่ำรวย
ในด้านการมีทรัพยากรธรรมชาติ อเมริกาไม่น้อยหน้าใครนัก นั่นคือ มีที่ดินสำหรับทำเกษตรกรรมได้ถึงห้าเท่าของจีนและสองเท่าของบราซิลซึ่งนับว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในด้านการเกษตร ทางด้านพลังงาน อีกไม่นานอเมริกาจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันได้มากกว่าซาอุดีอาระเบียเสียอีก นอกจากนั้น อเมริกายังสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ปริมาณมหาศาลจากการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่งค้นพบใหม่ ทรัพยากรเหล่านี้เริ่มมีผลดีต่อการขยายตัวของด้านอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทางด้านทรัพยากรมนุษย์ อเมริกามีอัตราคนชราน้อยกว่าบรรดาประเทศก้าวหน้าทั้งหลาย แม้แต่จีนเองอีกไม่นานก็จะมีอัตราคนชราสูงกว่าชาวอเมริกัน การมีคนหนุ่มสาวในอัตราสูงกว่าย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจมีพลังผลักดันให้เกิดการผลิตสูงกว่าด้วย
อเมริกามิใช่มีอัตราคนหนุ่มสาวสูงกว่าอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้คนฝึกฝนจนมีทักษะสูงไม่น้อยหน้าใครอีกด้วย อเมริกามีมหาวิทยาลัยหลายพันแห่ง ในบรรดามหาวิทยาลัยเหล่านี้มีนับสิบที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก มหาวิทยาลัยและบริษัทขนาดยักษ์ที่มีเงินทุนจำนวนมหาศาลเสริมกันและกันในการทำวิจัยและพัฒนาส่งให้อเมริกาเป็นผู้นำในด้านการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในหลากหลายด้าน
ปัญหาของอเมริกามีมากรวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย แต่เมื่อเปรียบกับของประเทศอื่นก็ใช่ว่าจะร้ายแรงกว่า อาทิเช่น เรื่องปัญหาหนี้สิน เรามักได้ยินเรื่องอเมริกามีปัญหาเรื่องเพดานหนี้ แต่เรื่องนี้ต่างกับเรื่องภาระหนี้ต่อรายได้ของประเทศซึ่งของอเมริกายังต่ำกว่าบรรดาของประเทศก้าวหน้าอีกมากโดยเฉพาะญี่ปุ่น เรื่องเพดานหนี้มิใช่ว่าอเมริกาจะมีปัญหาเรื่องการใช้หนี้ หากเป็นประเด็นการเมืองซึ่งฝ่ายหนึ่งต้องการให้รัฐบาลลดบทบาทลง หรือลดการใช้จ่ายในบางด้านลง ถ้าไม่ลดตามความต้องการของฝ่ายเขา บรรดาสมาชิกในรัฐสภาก็จะไม่ยอมให้เพิ่มเพดานหนี้
หนึ่งในด้านที่ฝ่ายต้องการให้รัฐบาลลดบทบาทลง ได้แก่ ในเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม ทั้งนี้เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นอีกไม่นานรัฐบาลจะไม่มีเงินจ่ายและฝ่ายนั้นไม่ต้องการให้ขึ้นภาษี เรื่องนี้มิใช่อเมริกาเท่านั้นที่กำลังมีปัญหา หรือจะมีปัญหาต่อไปในอนาคตอันใกล้ ประเทศทั้งหลายต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกันรวมทั้งประเทศในย่านสแกนดิเนเวียที่เก็บภาษีสูงมากอยู่แล้วด้วย เรื่องนี้เป็นปัญหาระยะยาวของทุกประเทศที่ต้องการสร้างระบบสวัสดิการชั้นดีในขณะที่โครงสร้างของประชากรเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ มีอัตราของผู้ทำงานน้อยลงส่งผลให้เก็บภาษีได้ไม่พอ
อีกด้านหนึ่ง ได้แก่ การต้องพึ่งพาอาศัยตลาดต่างประเทศอันเป็นเสมือนการยืมจมูกคนอื่นหายใจ จริงอยู่อเมริกาค้าขายสูงมาก แต่เมื่อมองกันในด้านสัดส่วนของการส่งออกกับรายได้ประชาชาติแล้ว ของอเมริกานับว่าต่ำกว่าของประเทศส่วนใหญ่คืออยู่ที่ 14% เท่านั้น ในขณะที่จีนอยู่ที่ 31% เยอรมนีอยู่ที่ 50% สหราชอาณาจักรอยู่ที่ 32% และฝรั่งเศสอยู่ที่ 27% (ไทยอยู่ที่กว่า 75%)
นักคิดจำนวนหนึ่งมองว่าปัญหาของอเมริกามาจากการใช้แนวคิดทางเศรษฐกิจกระแสหลักที่ล้าสมัยแล้ว นั่นอาจจะจริง แต่ทั่วโลกยกเว้นคิวบาและเกาหลีเหนือก็ยังเดินตามก้นอเมริกา หากอเมริกามีปัญหา ประเทศอื่นย่อมมีด้วย เพราะเหตุผลเหล่านี้จึงมีคนนับล้านต้องการเข้าไปตั้งหลักแหล่งในอเมริกาทุกปี ในบรรดาพวกเขาเหล่านั้น อาจมีวอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือบิล เกตส์ คนต่อไปรวมอยู่ด้วยก็ได้