บทเรียนจาก PTTGC (2) : ยิ่ง “ฟอกเขียว” ยิ่งไกลห่างจากความยั่งยืน

บทเรียนจาก PTTGC (2) : ยิ่ง “ฟอกเขียว” ยิ่งไกลห่างจากความยั่งยืน

ตอนที่แล้วพูดถึงพฤติกรรมการปิดบังความจริงของ พีทีทีจีซี บริษัทลูก ปตท. ที่ทำน้ำมันรั่วลามถึงอ่าวพร้าวจนเป็นข่าวครึกโครมครึ่งค่อนเดือน

ชนิดที่ใครอยากปิดข่าวก็ปิดไม่มิด โดยผู้เขียนสรุปว่า เหตุการณ์นี้สะท้อนว่าบริษัท “อวดเบ่ง เส้นใหญ่ และไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อม” และอธิบายวิธีที่พีทีทีจีซีปิดบังความจริงต่อนักลงทุนและประชาชน

วันนี้จะมาอธิบายประเด็นที่สอง นั่นคือ การที่พีทีทีจีซี “ไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อม” ซึ่งถ้าวัดจากคำพูดของผู้บริหาร อาจจะถึงขั้น “ไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์” ด้วย

ระหว่างที่นักวิชาการและภาคประชาชนเรียกร้องให้มีคณะกรรมการสอบสวนอิสระ ไม่ใช่ชุดที่บริษัทตั้งเอง และระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์หลายท่านพยายามย้ำเตือนให้สังคมเข้าใจและใส่ใจกับการติดตามผลพวงของน้ำมันรั่วในทะเล ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารทะเล ระบบนิเวศชายฝั่ง หรือระบบนิเวศใต้ทะเล

ในทางตรงกันข้าม สารจากผู้บริหารบริษัทกลับพยายามย้ำแต่สิ่งที่สายตา (นักท่องเที่ยว) มองเห็นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันว่าทะเลสวยใสเหมือนเดิมแล้ว (ก่อนที่น้ำมันบางส่วนจะทะลักเข้าอ่าวพร้าว) หาดทรายกลับมาขาวสะอาดเหมือนเดิมแล้ว (ก่อนที่เวลาผ่านไปเกือบหนึ่งเดือนเต็มหลังเกิดเหตุ ชาวบ้านจะยังเจอก้อนน้ำมันดิบตามชายหาด) หรือแม้แต่การพูดก่อนหน้านั้นว่า คราบน้ำมันเป็นธรรมชาติ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ผู้เขียนไม่ได้พูดถึงประเด็นที่ว่าบริษัทสลายคราบน้ำมันถูกต้องครบถ้วนกระบวนความเพียงใด ทำตามหลักสากลจริงหรือไม่ และก็มิได้ข้องใจในประเด็นนี้ เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ และเท่าที่ฟัง ผู้เชี่ยวชาญก็มีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ประเด็นของผู้เขียนคือ ถ้าตัดคำว่า “น้ำมัน” ออกจากถ้อยแถลงของผู้บริหารบริษัท ใครผ่านมาได้ยินเข้าจะไม่มีทางรู้เลยว่ากำลังพูดถึง “น้ำมันดิบ” รั่วในทะเล

เผลอๆ จะนึกว่าบริษัทเพียงแต่ทำ “น้ำเปล่า” ห้าหมื่นลิตรหกในทะเลเท่านั้นเอง

ความไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อม (หรือแกล้งไม่เข้าใจ หรือไม่ใส่ใจ) ดังที่ชี้ให้เห็นในถ้อยคำของผู้บริหารบริษัทข้างต้นนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงพีทีทีจีซี แต่บริษัทแม่คือ ปตท. ก็เป็น

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ซีอีโอของ ปตท. กล่าวอ้างในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2556 หลังจากที่นักอนุรักษ์ผู้รับรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” ร่วมสิบชีวิต เดินทางไปคืนรางวัล ณ สำนักงานใหญ่ ว่า ขนาดน้ำมันรั่วที่อ่าวเม็กซิโก (หมายถึงกรณีแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ของบริษัทบีพีระเบิดในปี 2553 น้ำมันรั่วเป็นประวัติการณ์นานเกือบสามเดือน รวมกันกว่า 776 ล้านลิตร) น้ำมันยัง “หมดภายในเดือนเดียว”

ผู้เขียนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ยกมือถามด้วยความสงสัยว่า เอาข้อมูลจากไหนมาพูด เพราะงานวิจัยต้นปี 2556 ชี้ว่าสามปีผ่านไป นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าน้ำมันมากถึงหนึ่งในสามของทั้งหมดที่รั่วไหลอาจยังวนเวียนอยู่ในอ่าวเม็กซิโก เกิดเป็นปรากฏการณ์ “อ่างน้ำสกปรก” ใต้ทะเล (อ่านสรุปรายงานจากข่าว http://www.cbsnews.com/8301-205_162-57566171/study-dirty-bathtub-buried-oil-from-bp-spill/)

คุณไพรินทร์ยืนยันว่า ไม่ได้พูดเอง เอาข้อมูลมาจากในเน็ต พลางชี้ให้ดูเอกสารที่แจกในห้องประชุม

เอกสารแผ่นที่ว่า (ดูภาพประกอบ หรือดูจากเว็บ http://www.pttgc-oilspill.com/Blog/Info/61) แสดงการทำงานของสารเคมีสลายน้ำมัน (dispersant) ซึ่งใช้จุลินทรีย์ช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพของน้ำมัน ว่าย่อยสลายได้ภายใน 4 สัปดาห์

นั่นหมายความว่ากรณีเดียวเท่านั้นที่คำพูดของซีอีโอ ปตท. จะถูกต้อง คือถ้าหากสารเคมีสลายน้ำมันฉีดโดนน้ำมันรั่ว 100% ครบทุกโมเลกุล ไม่มีหลุดรอดออกไปได้ - นั่นแหละมันถึงจะ “หมดภายในเดือนเดียว” ได้

ซึ่งลำพังสามัญสำนึกก็บอกได้ว่า ไม่มีทางเป็นไปได้

ย้ำอีกครั้งว่าประเด็นของผู้เขียนไม่ได้อยู่ที่ว่า ผลกระทบของน้ำมันรั่วครั้งนี้มีมากน้อยเพียงใด กำจัดคราบน้ำมันถูกวิธีหรือไม่ แต่ประเด็นคือ วิธีที่บริษัทสื่อสารเรื่องนี้ตลอดมาทำให้มองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะมองว่าบริษัทนี้ไม่เข้าใจ หรือไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจริงๆ

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่วิธีพูด เพราะกรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ปตท. แสดงความ “ไม่เขียวจริง” ออกมา

ยกตัวอย่างเช่น ปตท. ทั้งเครือยังลงทุนในพลังงานสะอาดน้อยมาก เพิ่งจะกำลังเข้าร่วมทุนในบริษัทผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2556 นี้เอง โดยจะใช้เงินลงทุน 1,450 ล้านบาท ซื้อหุ้น 40% เงินจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.05 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้รวมทั้งบริษัท 2.8 ล้านล้านบาท (ตัวเลขปี 2555)

เทียบไม่ได้เลยกับเม็ดเงินลงทุน 68,000 ล้านบาท ที่ ปตท.สผ. ใช้ซื้อหุ้น 40% ในแหล่งทรายน้ำมัน (tar sands) KKD ในประเทศแคนาดา

นักวิทยาศาสตร์แทบทุกคนเห็นตรงกันว่า ทรายน้ำมันคือพลังงานชนิดที่สกปรกและก่อมลพิษมากที่สุดในบรรดาพลังงานทั้งหมดที่มนุษย์รู้จัก

เนื่องจากน้ำมันจากทรายน้ำมันเป็น “น้ำมันหนัก” (heavy oil) การกลั่นจึงต้องใช้ต้นทุนและพลังงานมากกว่าการกลั่นน้ำมันปกติมาก กล่าวคือ การผลิตน้ำมันดิบ 1 บาร์เรล จะต้องแยกทรายและดินทิ้งเป็นปริมาณมากถึง 4 บาร์เรล นอกจากนี้ยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 2-4 เท่าของกระบวนการผลิตน้ำมันปกติ

มิหนำซ้ำ “ของเสีย” จากกระบวนการ ซึ่งเป็นส่วนผสมแหยะๆ ระหว่างทราย น้ำ และสารพิษที่ปนเปื้อนในน้ำมันดิน ก็จะถูกปล่อยไปตามท่อออกสู่บ่อน้ำทิ้ง ซึมลงไปในดิน บ่อนทำลายระบบนิเวศน์น้ำจืดใกล้เคียงต่อไป

ไม่ใช่พลังงานชนิดที่บริษัทที่อยาก “เขียว”, “ยั่งยืน” หรือ “รักษ์โลก” จริงๆ จะอยากลงทุนแน่ๆ

นพ.รังสฤษฏ์ กาญจนะวณิชย์ ให้เหตุผลในการคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวว่า “ด้วยพฤติกรรมของบริษัท ปตท.ที่ผ่านมา ผมไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพสีเขียวของบริษัทฯ ได้จริงๆ”

หวังว่าข้อมูลหลักฐานที่ผู้เขียนรวบรวมมาแต่เพียงสังเขปในวันนี้ จะพอฉายภาพของบริษัทที่ “สร้างภาพสีเขียว” โดยที่ตัวเองไม่เขียวจริง หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “ฟอกเขียว” (greenwashing) อย่างไม่อนาทรร้อนใจ น่าจะเพราะไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อมอย่างถ่องแท้ และยังไม่มองความเชื่อมโยงที่เขม็งเกลียวขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงขององค์กรในอนาคต