Gen Me

Gen Me

เราคงคุ้นเคยกับคำว่า Gen X Gen Y หรือแม้แต่ Millennium Generation กันมาพอสมควรแล้ว แต่ยังมีอีกคำหนึ่งคือคำว่า Gen Me หรือ Generation Me

ซึ่งเป็นคำที่คิดขึ้นโดย Jean M.Twenge

Twenge มองว่า พวกเบบี้บูม หรือคนรุ่นที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงใหม่ๆ กับคนรุ่นอื่นๆ ทั้งหมดหลังจากนั้น (ซึ่งรวม Gen X Gen Y และ Gen M ไว้ทั้งหมด) มีความแตกต่างกันมากในหลายประเด็น โดยเฉพาะทัศนคติเกี่ยวกับส่วนรวม และการมองตัวเอง ถึงขนาดที่สามารถเรียกคนรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี หรือน้อยกว่า ในเวลานี้ ทั้งหมด รวมกันว่าเป็นพวก Generation Me ซึ่งตรงข้ามกับพวกเบบี้บูม

พวกเบบี้บูม นั้นจะมีความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสูงมาก หมายความว่า พวกเขาจะเต็มใจสละความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งในสังคมสูงกว่าลูกหลานของพวกเขามาก เป็นต้นว่า ในสังคมสหรัฐยุคปีก่อนปี 1960 นั้น ถ้าหากคุณอายุ 25 ปีแล้วยังไม่แต่งงาน ก็ถือว่าแปลกมาก หรือถ้าแต่งงานแล้ว แต่แต่งงานกับคนต่างสีผิว ก็จะยิ่งแปลกมาก การไม่ปฏิบัติตามจารีตของสังคมทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้เบบี้บูมรู้สึกผิด

ตรงข้ามกับพวก Gen Me ซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ยุค 1970 และชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน (หมายความว่า พวก Gen X โดยรวมจะมีความเป็น Gen Me อยู่ด้วย แต่ว่าน้อยกว่าพวก Gen Y) การปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามจารีตของสังคมกลับกลายมาเป็นวิธีที่ช่วยทำให้ตัวเองดูโดดเด่น มีเอกลักษณ์ มีความคิดเป็นของตัวเอง กลายเป็นพฤติกรรมที่เป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ พวก Gen Me เริ่มคิดว่า วิธีที่ถูกต้องนั้นไม่จำเป็นต้องมีแค่วิธีเดียว และชอบพูดความต้องการของตัวเองออกมาตรงๆ มากกว่ารักษามารยาท งานแต่งงานของคนสมัยก่อนนั้นดูเหมือนกันหมด การ์ดเชิญต้องเป็นสีอ่อน ไม่มีลวดลายเท่านั้น งานแต่งงานของพวก Gen Me นั่น ยิ่งถ้ามีอะไรแปลกกว่างานของคนอื่น ก็ยิ่งดูดีมากเท่านั้น

มีปัจจัยทางสังคมหลายอย่างที่ผลักดันให้เกิดแนวคิดแบบ Gen Me ขึ้นเอง ตัวอย่างเช่น การล้มลงขององค์กรขนาดใหญ่ๆ ในยุค 70-80 ซึ่งนำไปสู่การ lay-off พนักงานบริษัทที่ภักดีจำนวนมาก หรือการ outsourcing ที่ช่วยลดต้นทุนให้องค์กร ทำให้ผู้คนฝากผีฝากไข้กับองค์กรได้น้อยลง พวกเขาจึงเริ่มรู้สึกว่า การภักดีต่อสถาบันทางสังคมต่างๆ นั้นไม่อาจนำมาซึ่งความมั่นคงในชีวิตได้จริง พวกเขาจะมองที่รายได้เป็นตัวเงินมากกว่าเรื่องอื่นๆ

พวก Gen Me มีความยึดติดกับศาสนาน้อยลงมาก พวกเขาส่วนใหญ่ยังเรียกตัวเองว่าเป็นคนมีศาสนาอยู่ แต่คาทอลิกบางคนอาจจะตัดสินความดีความชั่วด้วยมโนสำนึกของตัวเอง มากกว่าที่จะยึดตามคำพูดของพระสันตะปาปาทั้งหมด เป็นต้น

คำว่า Gen Me นั้นไม่ได้หมายความว่า พวกเขาหมกมุ่นกับตัวเอง แต่พวกเขาเชื่อว่าตัวเองสำคัญ และต้องการการยอมรับทางสังคมอย่างสูงเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดี พวกเขาจึงชอบการแข่งขัน ต้องการมีรายได้สูงกว่าคนรอบข้าง และนำมาซึ่งความเครียด และอาการซึมเศร้า ที่มากกว่าคนรุ่นก่อน รวมไปถึงความกล้าที่จะซิกแซกด้วยวิธีการสีเทาๆ ต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จแบบฉับพลันด้วย

พวก Gen Me ไม่ค่อยสงสัยในจุดมุ่งหมายของชีวิต หรือแสวงหาความหมายของชีวิตมากนัก เพราะพวกเขายึดโยงมันกับเรื่องวัตถุ ซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้พวกเขายังให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาของตัวเองมากด้วย

พ่อแม่สมัยใหม่ในยุค Gen Me นิยมสอนลูกแบบให้กำลังใจตลอดเวลา ทำให้ Gen Me มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก แต่ในแง่ลบ พวกเขามักไม่กล้าทำอะไร เนื่องจากกลัวว่าหากทำแล้วพลาดจะทำให้ภาพลักษณ์ของตัวเองเสียไป เนื่องจากคนรอบข้างชมว่าเขาเป็นคนฉลาดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ Gen Me มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงอุปสรรค มากกว่าที่จะหาประสบการณ์สิ่งเหล่านั้น Gen Me บางคนจะเถียงอาจารย์ที่ไม่ให้เกรด A กับพวกเขา จนกว่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการ พวกเขามีความเชื่อว่า พวกเขาสมควรจะได้ A เพราะว่าเขาฉลาดกว่าคนส่วนใหญ่

มีการวิจัยพบด้วยว่า การชมลูกตลอดเวลาเพื่อให้ลูกคิดบวกหรือมั่นใจในตัวเองนั้นอาจไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิตจริง แต่การให้เด็กได้เผชิญกับอุปสรรคเพื่อให้ได้พัฒนาตัวเองจนประสบความสำเร็จต่างหากที่นำมาซึ่งความภูมิใจในตัวเองในภายหลัง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสำเร็จทำให้เราคิดบวกกับตัวเอง แต่การคิดบวกกับตัวเองอาจไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จเสมอไป เด็กเอเชียในสหรัฐฯ นั้นมีความมั่นใจในตัวเองน้อยกว่าเด็กที่เป็นฝรั่งแต่เด็กเอเชียก็มีผลการเรียนที่ดีกว่าเด็กฝรั่งเป็นอย่างมาก

ถ้าอยากรู้อะไรมากกว่านี้เกี่ยวกับ Gen Me ลองไปหาหนังสือของ Twedge ฉบับเต็มๆ มาอ่านกันได้ ผลการวิจัยหลายๆ ชิ้นในหนังสือของเขาชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มอะไรหลายๆ อย่างที่น่าสนใจมากทีเดียวเกี่ยวกับวิธีคิดของคนรุ่นปัจจุบันทั้งในด้านบวกและด้านลบ

เราจะได้สำรวจข้อบกพร่องของตัวเองบ้างครับ