โทษประหารชีวิตไม่ทำให้อาชญากรรมลดลง

โทษประหารชีวิตไม่ทำให้อาชญากรรมลดลง

พลันที่ศาลกรุงนิวเดลีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาอย่างเร่งด่วนเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ให้ประหารชีวิตจำเลย 4 คน ในคดีรุมโทรมหญิง

จนถึงแก่ชีวิตเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีทั้งปรากฏการณ์ที่ผู้คนต่างแสดงความยินดีว่าการลงโทษนี้สาสมกับความผิดที่เขาเหล่านั้นได้กระทำแล้ว แต่ในทางตรงกันข้ามองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั่วโลกกว่า 3 ล้านคนและเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาแล้วได้ออกแถลงการณ์ว่าโทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในอินเดีย การปฏิรูปขั้นตอนปฏิบัติและโครงสร้างหน่วยงานอย่างกว้างขวางต่างหากที่จะเป็นทางออกเพื่อแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างแพร่หลายในอินเดีย

ผมในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่ต่อต้านโทษประหารชีวิตเห็นว่า

1. ไม่มีมนุษย์หรือคนกลุ่มใดที่สามารถอ้างสิทธิทำร้ายผู้อื่นหรือคร่าชีวิตผู้อื่นถึงตาย ไม่ว่าด้วยเหตุใด

ชีวิตเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน และเป็นสิทธิที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ขณะเดียวกันความยุติธรรมไม่ใช่เครื่องชั่งหรือวัดความเท่าเทียมว่า หนึ่งชีวิตที่เสียไปนั้นต้องได้รับการชดใช้ด้วยอีกชีวิตหนึ่ง ความเข้าใจที่ว่าชีวิตต้องแลกคืนด้วยชีวิตนั้นเป็นความเข้าใจผิด เพราะว่าการประหารชีวิตเป็นการทำลายชีวิตอย่างโหดร้าย ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์และอาจประหารผิดคนได้

2. บางครั้งผู้บริสุทธิ์ถูกประหารชีวิตและไม่มีหนทางชดใช้

ทางนิติวิทยาศาสตร์เผยให้เห็นว่า มีการตัดสินลงโทษประหารผิดคนมากขึ้น มีหลายกรณีที่ผู้ต้องโทษและถูกประหารชีวิตนั้น กระทำผิดข้อหาฆาตกรรมจริง แต่มีเหตุแวดล้อมที่ระบุชัดเจนว่าเขาเหล่านั้นไม่ควรต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต ความผิดพลาดอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้หากคนที่ได้รับโทษประหารชีวิตนั้นเสียชีวิตไปแล้วมีคนบริสุทธิ์เสียชีวิตไปแล้วกี่ราย ตัวอย่างของความผิดพลาดที่เห็นได้ชัดก็คือกรณีของเชอรีแอน ดันแคน ที่คุณกระแสร์ พลอยกลุ่มและพวกที่ตกเป็นแพะรับบาปต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างน่าอเนจอนาถ

3. การให้ผู้กระทำความผิดนั้นต้องตายตกไปตามกันนั้นไม่ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนและไม่ควรนำมาใช้คำนวณกันแบบเลขคณิตคิดเร็ว ชีวิตต่อชีวิตหรือตาต่อตา ฟันต่อฟัน

4. ทุกคนต้องได้รับความยุติธรรมความเท่าเทียมกัน

แต่ในความเป็นจริงไม่มีความเท่าเทียมกันในการตัดสินลงโทษประหารชีวิต จะเห็นได้ว่าคนจน คนไม่มีความรู้และชนชั้นล่างสุดของสังคม มีโอกาสที่จะต้องโทษนี้ได้มากที่สุด จึงเห็นได้ว่าคนที่รวยกว่า คนที่มีการศึกษามากกว่า หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีกว่า มักจะรอดจากโทษประหารชีวิตเสมอ

5. ด้านความคิดที่ว่าโทษประหาร ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายว่าย่อมเทียบไม่ได้เลยกับคุณค่าแห่งการมีชีวิตอยู่ของบุคคล การลงโทษประหารเป็นการลดคุณค่าศักดิ์ศรีและหลักธรรมแห่งมนุษย์

6. การลงโทษประหารขัดกับหลักทัณฑวิทยา เพราะวัตถุประสงค์ของการลงโทษนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขดัดนิสัยให้กลับตัวเป็นคนดีมิใช่การแก้แค้นทดแทน

7. ข้อโต้แย้งที่ว่าการประหารชีวิตเป็นมาตรการปรามอาญากรรมร้ายแรงได้นั้นเป็นข้อสันนิษฐานที่ขาดพื้นฐานรับรอง ความเปลี่ยนแปลงของสถิติอาชญากรรมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ซับซ้อน

ในประเทศที่ยังใช้โทษประหารสถิติอาชญากรรมก็มิได้ลดลงแต่ประการใด และประเทศที่เลิกการใช้โทษประหารบางประเทศกลับมีสถิติคดีอาชญากรรมลดลง

จากการวิเคราะห์ข้อค้นพบในงานวิจัยเกี่ยวกับโทษประหารและอัตราการฆ่าคนตาย ซึ่งเป็นการสำรวจขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2531 และมีการปรับปรุงข้อมูลในปี 2539 และ 2545 สรุปว่า “...งานวิจัยที่มีอยู่ไม่สามารถให้หลักฐานอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าการประหารชีวิตมีผลยับยั้งการก่ออาชญากรรมมากกว่าการจำคุกตลอดชีวิต และไม่มีแนวโน้มว่าจะมีหลักฐานสนับสนุนได้ในเวลาอันใกล้หลักฐานที่เราค้นพบส่วนใหญ่ ไม่สนับสนุนสมมติฐานในเชิงป้องกันอาชญากรรมเลย”

ตัวเลขอาชญากรรมล่าสุดในประเทศที่ยกเลิกโทษประหาร ก็ไม่บ่งบอกว่าการยกเลิกโทษประหารส่งผลในทางลบแต่อย่างใด อย่างเช่นในแคนาดา อัตราการฆาตกรรมต่อประชากร 100,000 คนลดจากตัวเลขสูงสุดที่ 3.09 ในปี 2518 ก่อนที่จะมีการยกเลิกโทษประหาร ลงมาเหลือ 2.41 ในปี 2523 และจากนั้นมาก็มีอัตราลดลงเรื่อยๆ และในปี 2546 ยี่สิบเจ็ดปีหลังจากยกเลิกโทษประหาร อัตราการฆาตกรรมอยู่ที่ 1.73 ต่อประชากร 100,000 คน ตํ่ากว่าปี 2518 ถึง 44% และถือว่าตํ่าสุดในรอบสามทศวรรษ แม้ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.0 ในปี 2548 แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราที่ตํ่ากว่าตัวเลขในช่วงที่เริ่มมีการยกเลิกโทษประหารถึงหนึ่งในสาม

เป็นการไม่ถูกต้องที่จะเหมาเอาว่าคนที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงเช่นการฆาตกรรม จะมีการไตร่ตรองอย่างเป็นเหตุผลถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น บ่อยครั้งที่การฆ่าคนตายมักเกิดขึ้นในช่วงที่อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล หรือตกอยู่ใต้อิทธิพลของยาเสพติดหรือสุรา บางคนที่ก่ออาชญากรรมรุนแรงเป็นเพราะเกิดจากสภาพความไม่มั่นคงด้านจิตใจหรืออารมณ์เป็นอย่างมาก

จะเห็นได้ว่าโทษประหารไม่ได้มีผลในลักษณะที่ทำให้คนยับยั้งชั่งใจได้เลย นอกจากนั้น ผู้ที่วางแผนล่วงหน้าที่จะก่ออาชญากรรมร้ายแรง ก็ยังเลือกที่จะกระทำความผิดนั้นต่อไปแม้จะมีความเสี่ยงจากโทษประหาร เพราะพวกเขาเชื่อว่าจะสามารถหนีรอดจากการถูกจับกุมตัวได้

การไม่มีหลักฐานอย่างชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าโทษประหารมีผลในเชิงป้องกันอาชญากรรม ชี้ให้เห็นถึงความไร้ประโยชน์และอันตรายจากการเชื่อในสมมติฐานเรื่องผลในเชิงป้องกัน และนำข้อมูลนั้นมากำหนดนโยบายใช้โทษประหารของรัฐ มิหนำซ้ำยังจะเป็นผลทางตรงข้ามดังข้อคิดเห็นของนักโทษประหารชีวิตที่ผมได้มีโอกาสพบปะพูดคุยด้วยได้ให้ความเห็นว่ากรณียาเสพติดที่มีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิตทำให้ราคายาเสพติดสูงขึ้นอย่างมากหลายเท่าตัว ทำให้เกิดแรงจูงใจให้คนกระทำความผิดโดยไม่ได้เกรงกลัวต่อโทษประหารชีวิต

ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่าโทษประหารเป็นการลงโทษที่รุนแรงต่อชีวิต แต่ไม่มีผลรุนแรงต่อการลดจำนวนของอาชญากรรมแต่อย่างใด

หมายเหตุผู้เขียน หลายครั้งที่ผมพูดหรือเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มักจะได้รับการโต้แย้งว่าผมไม่มีญาติพี่น้องถูกฆาตกรรมจึงพูดหรือเขียนเช่นนี้ ซึ่งหลายครั้งเช่นกันที่ผมตอบว่าคุณพ่อบังเกิดเกล้าของผมก็เสียชีวิตจากการฆาตกรรม แต่ผมก็ยังคงยืนยันในการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตครับ