บริษัทกับการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม
ปัญหาใหญ่ในบ้านเราขณะนี้คือ การใช้อำนาจที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในกรณีของธุรกิจก็คือ การทำธุรกิจโดยไม่มีจริยธรรม
การมีจริยธรรมกับการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นต่างกัน การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นสิ่งที่ผิด และเป็นสิ่งที่ต้องไม่ทำ แต่การทำธุรกิจอย่างไม่มีจริยธรรมเป็นการทำในสิ่งที่ไม่ควรทำแม้จะอ้างได้ว่าไม่ผิดตัวบทกฎหมาย แต่ประเด็นว่าอะไรควรหรือไม่ควรในแง่จริยธรรมไม่สามารถเขียนไว้ตายตัวได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความดีและความชั่ว ความถูกต้อง และความผิดทางศีลธรรม ที่แต่ละคนต้องตระหนักและชั่งใจ เพื่อควบคุมการใช้อำนาจของตัวเอง ถ้านักธุรกิจสามารถยับยั้งชั่งใจได้ ไม่เอาเปรียบ มองไกลถึงความยั่งยืนและการอยู่ได้ของธุรกิจในระยะยาว การมีจริยธรรมก็จะช่วยธุรกิจและสังคมให้สามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไปได้ นี้คือประเด็นที่อยากจะเขียนวันนี้
บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์สได้พูดถึงการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมว่าเป็นหลักการกำกับดูแลการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตนเองของผู้นำ คือ
๐ ไม่ทำในสิ่งที่มีอำนาจจะทำ ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะเพียงมีอำนาจที่จะทำ
๐ ไม่ทำในสิ่งที่มีสิทธิ์จะทำ ซึ่งแตกต่างกันมากระหว่าง “สิทธิที่จะทำ” กับ “สิ่งถูกต้อง” ที่ควรทำ
๐ ไม่ทำในสิ่งที่ต้องการทำ โดยควรปฏิบัติตนสูงกว่าสิ่งที่กฎหมายกำหนด หรือไม่เกินขอบเขตที่กฎหมายอนุญาต
ทั้งสามข้อนี้ชี้ชัดเจนว่า จริยธรรมส่วนหนึ่งก็คือ พฤติกรรมที่จำกัดหรือลดทอนการใช้อำนาจของตัวเองให้อยู่กับระดับที่จำเป็นและเหมาะสม และเมื่อนำหลักนี้มาปฏิบัติกับธุรกิจ “จริยธรรมธุรกิจ” ก็คือ หลักปฏิบัติ ที่เป็นเรื่องของความถูกต้องในแต่ละสถานการณ์ โดยมองประโยชน์ที่จะมีต่อผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน
จากพื้นฐานนี้ วิธีหนึ่งที่จะทำให้องค์กรธุรกิจทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ก็คือ การสร้างค่านิยมด้านจริยธรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร ที่เป็นค่านิยมที่ทุกคนในองค์กรตระหนัก ยอมรับ ให้ความสำคัญ และพร้อมปฏิบัติตาม ซึ่งสถาบัน Institute for Global Ethics ได้จำกัดความค่านิยมของจริยธรรมไว้ห้าเรื่อง คือ
หนึ่ง ความซื่อสัตย์และความซื่อตรง (Honest and Truthful)
สอง ความรับผิดชอบและความรับผิดรับชอบ (Responsibility and Accountability)
สาม ความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน (Fairness and Equitable)
สี่ การเคารพให้เกียรติและคำนึงถึงผู้อื่น (Respect and Mindful)
ห้า เมตตาและเอาใจใส่ผู้อื่น (Compassionate and Caring)
การพัฒนาค่านิยมทั้งห้าด้านให้เกิดขึ้นในองค์กร เป็นความท้าทาย เพราะทั้งห้าเรื่องล้วนเกี่ยวกับพฤติกรรมในระดับปัจเจกบุคคลทั้งสิ้น ซึ่งควบคุมยาก แต่ห้าด้านนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะเป็นแนวที่สามารถใช้เป็นหลักปฏิบัติของการทำหน้าที่ร่วมกันให้กับองค์กรได้ แต่การผลักดันให้เกิดขึ้นต้องมาจากผู้บริหารระดับสูง ต้องเป็นนโยบายจากผู้บริหารระดับสูงที่ต้องการขับเคลื่อนให้องค์กรดำเนินธุรกิจบนฐานของหลักจริยธรรม ซึ่งแนวทางสำคัญในการผลักดัน ก็คือ
1. ผู้บริหารต้องสนับสนุนจริยธรรม และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
2. ก่อนผลักดันนโยบาย หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใด ผู้บริหารควรเข้าใจก่อนว่า วัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร
3. ผู้นำต้องทำด้วย คือ ทำในสิ่งที่พูด ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมและมาตรฐานจริยธรรม ไม่ใช่ “ทำในสิ่งที่อยากทำ”
4. ยกย่องหรือให้รางวัลผู้ปฏิบัติตนอย่างมีจริยธรรม ในขณะเดียวกัน ผู้ที่กระทำผิดจริยธรรมจะต้องถูกดำเนินการอย่างเหมาะสมและชัดเจน
5. ปลูกฝังระบบและกระบวนการที่สนับสนุนแนวนโยบายของผู้บริหารระดับสูงว่าเป็น “การดำเนินธุรกิจ” ตามปกติ ซึ่งจะช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กร
หลักปฏิบัติดังกล่าว เป็นหน้าที่ของระดับสูงสุดของบริษัท ก็คือ คณะกรรมการบริษัท ที่ต้องผลักดัน แต่นอกเหนือจากการกำหนดเป็นนโยบาย คณะกรรมการบริษัทต้องมีระบบติดตามประเมินผลว่านโยบายดังกล่าวมีการปฏิบัติจริง ดังนั้น การสร้างความสำเร็จของการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร ก็คือ การสร้างค่านิยมด้านจริยธรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรนั่นเอง
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้จัดประชุมเฉพาะประธานกรรมการในหัวข้อนี้ คือ บทบาทของประธานกรรมการในการส่งเสริมจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ เพราะการผลักดันให้เกิดนโยบายและหลักปฏิบัติด้านจริยธรรมในองค์กร พูดได้ว่า เป็นหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของประธานกรรมการบริษัท และความล้มเหลวของหลายบริษัทในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นผลจากการดำเนินธุรกิจโดยขาดหลัก “จริยธรรม” นำมาสู่ปัญหาและความบกพร่องด้านการกำกับดูแลกิจการต่างๆ
ประธานกรรมการที่เข้าร่วมประชุมกว่า 50 บริษัทมองว่า ในกรณีของไทยการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติตามจริยธรรมธุรกิจ ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และประเด็นด้านจริยธรรมที่ประธานกรรมการเห็นว่าสำคัญที่สุดก็คือ การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งสร้างผลกระทบทางลบอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศ ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันขณะนี้สะท้อนชัดเจนว่า ค่านิยมของภาคธุรกิจของไทยในเรื่อง “จริยธรรม” กำลังถดถอยลง
ดังนั้น ในภาวะปัจจุบันของประเทศ การสร้างจริยธรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรธุรกิจจึงสำคัญมากเป็นพิเศษและเป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการบริษัทที่ต้องทำให้เกิดขึ้น เพราะคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กำหนดทิศทางของบริษัท และจุดเริ่มต้นสำคัญ ก็คือ ตัวคณะกรรมการเองที่จะต้องปฏิบัติหรือแสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่มีจริยธรรมในการทำหน้าที่ เป็นตัวอย่างให้พนักงานเห็น นำไปสู่การยอมรับและการปฏิบัติตาม
อันนี้ คือ ความสำคัญของตัวอย่างจาก “ข้างบน” หรือ Tone at the top ที่ "หัวหน้า" ต้องเป็นจุดเริ่มต้นของความถูกต้อง เพื่อให้เกิดจริยธรรมในองค์กรตามมา