แนวโน้มการส่งออกและทิศทางอุตสาหกรรมไทยปี 2557

แนวโน้มการส่งออกและทิศทางอุตสาหกรรมไทยปี 2557

โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยได้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

โดยที่ภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าและสัดส่วนที่สูงกว่าภาคเกษตรกรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 อุตสาหกรรมไทยนั้นพัฒนาอยู่บนพื้นฐานยุทธศาสตร์สองประการในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา คือ เน้นใช้แรงงานราคาถูกและเน้นการส่งออก ขณะที่เราเอาใจใส่ภาคเกษตรกรรมน้อยเกินไป ภาคอุตสาหกรรมมีภาคเอกชนเข้มแข็งขับเคลื่อนจึงทำให้ฝ่าวิกฤติต่างๆ ได้อย่างดีพอประมาณ

อุตสาหกรรมไทยไม่สามารถใช้แรงงานราคาถูกได้อีกต่อไปแล้ว ทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหรอลง ยุทธศาสตร์ต้องเน้นไปที่ “นวัตกรรม” และ “ผลิตภาพ”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาภาคส่งออกของไทยเรามีความหลากหลายทั้งชนิดสินค้าและตลาดส่งออกมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่รวมทั้งประเทศในอาเซียนด้วย นอกจากนี้เรายังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ทั้งระดับภูมิภาคและโลก ในสินค้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ฐานะดังกล่าวเป็นผลจากการดำเนินนโยบายดึงดูดการลงทุนให้เมืองไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก จึงเกิดกระแสไหลบ่าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา

สถานการณ์การไหลบ่าเข้ามาลงทุนจะไม่เกิดขึ้นหากเรายังแก้ปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองไม่ได้ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ความเชื่อมั่นถดถอย และ ทำให้เราสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งที่เรากำลังก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ค.ศ. 2015

สำหรับปี พ.ศ. 2557 แนวโน้มอุตสาหกรรมโดยภาพรวมจะขยายตัวดีขึ้นจากการเติบโตเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการส่งออก ส่วนอุตสาหกรรมที่ขึ้นกับกำลังซื้อภายในประเทศจะมีการชะลอตัวลง เช่น สาขาก่อสร้างจะหดตัวตามการก่อสร้างภาครัฐ โดยที่การก่อสร้างภาคเอกชนจะไม่ได้ขยายตัวสูงนัก สาขาอสังหาริมทรัพย์เติบโตลดลงทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ยกเว้นบางพื้นที่ของประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างสูงของกลุ่มประเทศ CLMV อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากการชุมนุมยืดเยื้อและวิกฤตการณ์การเมือง อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและพลังงานยังขยายตัวได้ตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มหดตัวหรือขยายตัวในระดับต่ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมอัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น

แนวโน้มการส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมไทยในปี 2557 น่าจะมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีกว่าปี 2556 เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2557 มีการขยายตัวร้อยละ 3.5-3.6 ซึ่งสูงกว่าปี 2556 ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.9-3.1

ตลาดสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยน่าจะมีกำลังซื้อดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนเม้นเศรษฐกิจพ้นขีดต่ำสุดแล้วแต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง การส่งออกไปยุโรปจึงอาจไม่พร้อมขึ้นมากนัก ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังประเทศญี่ปุ่นอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบปัญหาชะลอตัว อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ลดลงจากร้อยละ 1.8 ในปี 2556 อันเนื่องมาจากมาตรการทางการคลังของญี่ปุ่นในการปรับเพิ่มภาษีการบริโภคจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในเดือนเมษายน 2557 ซึ่งจะส่งผลให้การอุปโภคบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ชะลอตัว การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังประเทศจีนในปีหน้า คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2557 ไม่น่าจะต่ำกว่าร้อยละ 7.5

ดร. ยศ อมรกิจวิกัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมไทย ณ ปัจจุบัน เริ่มให้ความสำคัญเรื่องการเพิ่มมูลค่าผลผลิต อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไทยยังมีข้อจำกัดในด้านที่ต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจภายนอกประเทศ เช่น การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งปัจจัยทุน องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้อุตสาหกรรมไทยยังมีข้อจำกัดพื้นที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและข้อกำหนดทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA และ HIA) ที่มีการเข้มงวดมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ อาทิ ราคาและต้นทุนการผลิตของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งลดขีดความสามารถในการแข่งขันประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ สรอ. เงินยูโร และเงินเยนที่อ่อนค่า แรงงานที่ขาดการพัฒนาทักษะ ผู้ประกอบการขาดการพัฒนาตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ รวมทั้งขาดความรู้และข้อมูลด้านการตลาดและการส่งเสริมด้านการวิจัยและการพัฒนา โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับจาก World Economic Forum ให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องเน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพและการพัฒนาคุณภาพของผลผลิต (Efficiency-driven stage of development)

ดังนั้น ผู้ประกอบควรเน้น 1) การเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยมุ่งการผลิตสินค้าระดับกลางและระดับสูงให้มากขึ้น 2) พัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานไร้ทักษะ 3) ลดต้นทุนการผลิต และเน้นการผลิตสินค้าที่ลดมลภาวะซึ่งลูกค้าต่างชาติให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4) พัฒนาผลิตภาพการผลิต 5) ศึกษาข้อมูลด้านการตลาดและทำการวิจัยและพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน และ 6) สร้างความเข้มแข็งในคลัสเตอร์ในประเทศและใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมไทยร่วมกับภาคบริการและภาคการเกษตร

ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป พลวัตของระบบทุนนิยมโลก ผมมองว่าประเด็นสำคัญและสิ่งท้าทายอุตสาหกรรมส่งออกของไทย มีตั้งแต่ การใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากรจากข้อตกลง FTA การใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งและโลจิสติกส์ภายในภูมิภาค ผลกระทบจากต้นทุนด้านแรงงาน คุณภาพและปริมาณของปัจจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ และสำคัญที่สุด คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ครับ