ปฏิรูปประเทศ : หัวใจอยู่ที่ระบบอุปถัมภ์และธรรมาภิบาล

ปฏิรูปประเทศ : หัวใจอยู่ที่ระบบอุปถัมภ์และธรรมาภิบาล

เสียงเรียกร้องจากทุกฝ่ายให้มีการ “ปฏิรูป” สะท้อนการยอมรับว่าประเทศไทยภายใต้ระบบการเมืองและพฤติกรรมของทุกภาคส่วนในสังคมอย่างปัจจุบัน

มีแต่จะทำให้โอกาสของประเทศถดถอยลงมากขึ้นๆ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ สะท้อนได้จากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่รุนแรง แต่การปฏิรูปที่คนอยากเห็น มุ่งไปที่การปฏิรูประบบการเมืองและการทำหน้าที่ของนักการเมือง เช่น ประเด็นการเลือกตั้ง การเข้ามาครองอำนาจแบบวงศ์ตระกูลของนักการเมือง ระบบตรวจสอบการใช้อำนาจความโปร่งใสของนักการเมืองเพื่อถ่วงดุล และการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งทั้งหมดมีความสำคัญ

แต่ถึงแม้เราจะปฏิรูปให้มีระบบหรือเกณฑ์การเมืองที่เข้มข้นขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากนักการเมือง แต่ประเทศคงไปไหนไม่ได้ไกล ถ้าการปฏิรูปการเมืองไม่ได้นำไปสู่การลดหรือทำลายระบบอุปถัมภ์ที่เป็นรากเหง้าแท้จริงของปัญหาสังคมไทยขณะนี้ การแก้ระบบอุปถัมภ์ส่วนหนึ่งต้องทำโดยการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเป็นระบบที่ให้โอกาสคนส่วนใหญ่มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งระบบอุปถัมภ์ ดังนั้น ถ้าประเทศจะเดินหน้าต่อไปภายใต้การปฏิรูปทางการเมืองที่ทุกคนพูดถึง เศรษฐกิจก็ต้องมีการปฏิรูปพร้อมกับพฤติกรรมของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนก็ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนเป็นพฤติกรรมที่เคารพกฎหมาย และมีธรรมาภิบาล ถ้าทั้งสองสิ่งนี้ไม่เกิด คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจและปฏิรูปพฤติกรรมสังคมในแง่ธรรมาภิบาลไม่มี การปฏิรูปทางการเมืองก็จะเป็นเพียงการมีกติกาหรือกฎเกณฑ์ทางการเมืองใหม่ ที่ไม่มีใครปฏิบัติตามจริงจังเหมือนปัจจุบัน เพราะระบบอุปถัมภ์ที่เป็นรากเหง้าปัญหาของประเทศยังคงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้คือประเด็นที่อยากเขียนวันนี้

ระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่ในสังคม พูดได้ว่าเป็นพฤติกรรมของสังคมที่เป็นที่มาสำคัญของปัญหาของประเทศขณะนี้ นักการเมืองใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อรักษาอำนาจทางการเมือง นำมาสู่การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ การทุจริตคอร์รัปชันที่รุนแรง ระบบอุปถัมภ์ในภาคธุรกิจ (ผ่านอิทธิพลทางการเมือง) ทำให้เศรษฐกิจเป็นระบบที่มีการแข่งขันน้อย ขาดประสิทธิภาพ ลดแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้กับคนอื่นหรือนักธุรกิจใหม่ที่อยากทำธุรกิจ และระบบอุปถัมภ์ทางสังคม ที่คนไทยมักจะชอบใช้ตำแหน่งหรืออำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองช่วยเหลือกันทั้งๆ ที่ผิดหรือไม่ควรทำ ก็ทำให้การบังคับใช้กฎหมายของประเทศ ไม่จริงจัง และขาดประสิทธิภาพ

ผลก็คือ คนที่อยู่ในระบบอุปถัมภ์หรือมีระบบอุปถัมภ์ที่เข้มแข็งดูแลก็จะกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนได้เปรียบคนอื่นที่มุ่งปฏิบัติตนในกรอบของกฎหมาย เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่ยุติธรรมในสังคม สังคมที่ไปได้ไกลและเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาในระดับสูงจะเป็นสังคมเศรษฐกิจที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ไม่มีระบบเหล่านี้

การแก้ไขระบบอุปถัมภ์ส่วนหนึ่งต้องมาจากการแก้ไขระบบเศรษฐกิจให้เป็นระบบที่ให้โอกาสทางเศรษฐกิจแก่คนในประเทศง่ายกว่าปัจจุบัน โดยปฏิรูปให้เศรษฐกิจเป็นระบบที่ทำงานบนการแข่งขันและกลไกตลาดอย่างแท้จริง มีระบบภาษีที่ให้ความสำคัญกับรายได้จากทรัพย์สินมากพอๆ กับรายได้จากการทำงาน รวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมคนในสังคมให้เน้นการเคารพสิทธิและกฎหมายตามหลักของการอยู่ร่วมกัน ขณะที่ภาคธุรกิจก็เน้นการทำธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือมีธรรมาภิบาลที่ดี ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น การปฏิรูปทางการเมืองอย่างเดียวจะเป็นเพียงการเปลี่ยนเกณฑ์หรือรูปแบบในการช่วงชิงอำนาจของนักการเมืองที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในสังคมที่แท้จริง และความขัดแย้งระหว่างระบบอุปถัมภ์เก่ากับระบบอุปถัมภ์ใหม่อย่างที่เราเห็นขณะนี้ ก็จะคงอยู่เป็นปัญหาของสังคมไทยต่อไป

หลายคนคงเคยได้ยินที่พูดว่าประชาธิปไตยทางการเมืองจะเข้มแข็งไม่ได้ ถ้าระบบเศรษฐกิจไม่เป็นประชาธิปไตย อันนี้คงจริงเพราะถ้าระบบเศรษฐกิจไม่เป็นประชาธิปไตย ในแง่ที่ว่าไม่เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมผ่านการทำงานของกลไกตลาดและการแข่งขัน การผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยคนกลุ่มน้อย โดยบริษัทธุรกิจน้อยรายก็จะเกิดขึ้น นำไปสู่การอุปถัมภ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ด้านเศรษฐกิจและพฤติกรรมของคนในสังคมจะต้องมีการปฏิรูป ซึ่งประเด็นสำคัญ คือ

หนึ่ง ต้องเน้นใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการจัดทรัพยากรเศรษฐกิจ มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะการแข่งขันในระบบตลาดเป็นหัวใจในการสร้างโอกาสให้กับประชาชนในวงกว้าง ในประเด็นนี้ จุดที่สำคัญก็คือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องเป็นตัวนำซึ่งหมายถึงการตัดสินนโยบายเศรษฐกิจโดยภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการแข่งขัน ความโปร่งใส ระบบการทำงานที่มีขั้นมีตอน และนโยบายเศรษฐกิจที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ และเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในเศรษฐกิจ ภาครัฐต้องเป็นตัวนำเพราะภาครัฐมีสัดส่วนสูงในทรัพยากรเศรษฐกิจ จากขนาดของงบประมาณของภาครัฐทั้งหมดที่มีในแต่ละปี คือรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ถ้าการใช้ทรัพยากรของภาครัฐยืนอยู่บนหลักการของการแข่งขัน ความโปร่งใส การทำงานที่เป็นระบบ และความมีเหตุมีผล ระบบเศรษฐกิจของภาคเอกชนก็จะไปในแนวเดียวกัน เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คือเปิดโอกาสให้เข้าถึงได้และรับรู้ได้โดยคนส่วนใหญ่ของประเทศ

สอง การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองการทำงานของ ระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมายจะต้องเข้มแข็งเพื่อให้ภาคธุรกิจ ประชาชนและผู้ร่วมตลาดมีความมั่นใจว่า สินทรัพย์ทั้งหมดที่ได้มาจากการทำธุรกิจจะได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่มีในกฎหมาย อันนี้สำคัญมาก เพราะความมั่นใจดังกล่าวจะทำให้นักธุรกิจกล้าที่จะลงทุน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจ เราพูดกันมากว่าการบังคับใช้กฎหมายเป็นจุดอ่อนสำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการแทรกแซงหรืออิทธิพลของระบบอุปถัมภ์

สาม การเข้าถึงบริการทางการเงินโดยประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย ระบบเศรษฐกิจจะเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ถ้าระบบการเงินของประเทศซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจไม่สามารถให้ประโยชน์แก่ประชาชนได้ทั่วถึง ความไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินโดยเฉพาะการกู้ยืมจากสถาบันการเงินมักเป็นข้อจำกัดหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไม่เป็นประชาธิปไตย คือ การเติบโตกระจุกตัวอยู่เฉพาะกับกลุ่มคนที่เข้าถึงระบบการเงิน นำมาซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจ บ่มเพาะให้มีระบบผูกขาดและสร้างระบบอุปถัมภ์ให้เติบโต ในประเด็นนี้ส่วนที่ต้องทำมากขึ้นสำหรับประเทศไทย ก็คือการปฏิรูประบบการเงินเพื่อขยายบริการทางการเงินให้เข้าสู่ทุกส่วนของเศรษฐกิจให้ทั่วถึงกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะผ่านธุรกิจการเงินรายย่อยเช่นธุรกิจไมโครไฟแนนซ์และการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ เมื่อประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น โอกาสทางเศรษฐกิจของประชาชนก็จะเพิ่มขึ้น นำมาสู่การเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุล และเมื่อภาคประชาชนมีฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งระบบอุปถัมภ์ก็จะลดลง

สี่ การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญของสังคมไทยขณะนี้ที่ระบบการศึกษาของเราไม่สามารถสร้างมาตรฐานการศึกษาของนักเรียน ที่มีความรู้ความสามารถทัดเทียมประเทศอื่นๆ ในเอเชียได้ ทั้งๆ ที่เด็กไทยใช้เวลาในห้องเรียนมากกว่าประเทศอื่นๆ ขณะนี้หลายประเทศในโลกกำลังศึกษารูปแบบการศึกษาของเอเชียเป็นตัวอย่างโดยเฉพาะของจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน ที่สามารถผลิตนักศึกษาระดับมัธยมที่มีคุณภาพและมีความสามารถสูงกว่าเด็กนักเรียนในยุโรปและอเมริกา แต่น่าเสียดายว่าขณะที่คุณภาพการเรียนการสอนของประเทศอื่นๆ ในเอเชียดีขึ้นๆ (วัดจากคะแนน PISA) ของไทยกลับคงที่หรือเพิ่มขึ้นช้ากว่ามาก ประเด็นนี้ผมไม่คิดว่าเกินความสามารถที่คนไทยจะแก้ไขปัญหาได้ ยิ่งถ้าระบบเศรษฐกิจมีการแก้ไขให้มีการกระจายทรัพยากรเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ผลต่อระบบการศึกษาไทยก็ควรดีขึ้นตามมา

ห้า พฤติกรรมและธรรมาภิบาล ที่ประเทศเราเป็นอย่างนี้และดูมีปัญหามาก ก็เพราะพฤติกรรมส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่ของคนในสังคมอย่างที่กำลังทำในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นผลดี แต่กลับเป็นผลเสียต่อประเทศ เช่นเรื่องคอร์รัปชันที่แพร่หลาย ดังนั้นถ้าจะให้ประเทศดีขึ้น ทุกคนไม่ว่านักการเมือง ภาคธุรกิจ ข้าราชการประจำและประชาชนต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ส่งเสริมค่านิยมของการทำในสิ่งที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นกว้างขวางในระดับปัจเจกบุคคล ประเทศเกาหลีใต้ลดทอนปัญหาคอร์รัปชันได้ เพราะคนเกาหลีใต้พร้อมใจกันมีพฤติกรรมใหม่ ไม่ยอมให้มีการทุจริตคอร์รัปชันในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าคนไทยไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น ไม่มีธรรมาภิบาล ระบบอุปถัมภ์อย่างที่เป็นอยู่ในสังคมไทยก็จะคงอยู่และสร้างปัญหาต่อไป

เราพูดถึงและหวังผลจากการ “ปฏิรูป” แต่ถึงจุดนี้ยังไม่ชัดว่า เราตระหนักหรือไม่ว่าประเด็นปัญหาของเราอยู่ที่ไหน และเราควรต้องทำอะไรต่อ ส่วนหนึ่งเพราะเรามัวแต่มองไปข้างนอกคือนอกตัวเอง ว่าทางออกของปัญหาอยู่ที่อื่นไม่ใช่ตัวเอง ที่ข้อเขียนของผมวันนี้พยายามสะท้อนก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน โดยคนไทยทุกคนต้องร่วมกันเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ระบบอุปถัมภ์ในสังคมลดลง เช่น ประพฤติตนตามตัวบทกฎหมาย ไม่เป็นอภิสิทธิ์ชนที่อาศัยพวกพ้อง ไม่ทุจริตคอร์รัปชันมีธรรมาภิบาลที่ดีและทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

สิ่งเหล่านี้บวกกับการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็น “ประชาธิปไตย” มากขึ้น จะเป็นแรงกดดันให้การปฏิรูปการเมืองนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศที่แท้จริงและถาวร