การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทเอกชนไทย
ผมในฐานะประธานบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยหรือไอโอดี ได้รับเชิญไปพูดเรื่อง การกำกับดูแลกิจการภาคเอกชน
หรือธรรมาภิบาลธุรกิจค่อนข้างบ่อย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุดอาทิตย์ที่แล้วที่สิงคโปร์ในงานสัมมนาวิชาการจัดโดยมหาวิทยาลัยการบริหารของสิงคโปร์ (Singapore Management University) ร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดยประเด็นสัมมนามุ่งไปที่การกำกับดูแลกิจการภาคเอกชน และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในเอเชีย ซึ่งมีหลายประเทศในภูมิภาคเข้าร่วมสัมมนา วันนี้จึงอยากจะเขียนเรื่องนี้เพื่อถ่ายทอดให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ
ความสนใจประเด็นการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือธรรมาภิบาลในภาคเอกชน โดยเฉพาะในบริบทของการเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชีย ปัจจุบันความสนใจมีมากขึ้นกว่าเดิมมาก สะท้อนพลวัตของการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยสามเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น
เรื่องแรก ก็คือ แรงกดดันจากภาคทางการ หรือหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องการให้การทำธุรกิจในระบบ “ตลาด” โดยบริษัทเอกชนมีมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่เข้มแข็งในระดับหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้บริษัทเอกชน โดยเฉพาะสถาบันการเงินประสบปัญหาที่อาจนำไปสู่ความเสียหายต่อธุรกิจ และต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ความต้องการหรือแรงกดดันนี้ส่วนหนึ่งมาจากบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ประทุขึ้นเมื่อห้าปีก่อนในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่ชัดเจนว่าสาเหตุอันหนึ่งมาจากความบกพร่องในธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลในบริษัทเอกชนที่นำไปสู่การทำธุรกิจที่เสี่ยงที่เน้นกำไรระยะสั้น จนเกิดความเสียหายต่อบริษัท และต่อเศรษฐกิจ ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องออกกฏเกณฑ์ที่เข้มมากขึ้น เพื่อลดพฤติกรรมดังกล่าว โดยมุ่งไปที่การทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทในการกำกับดูแลกิจการ ให้มีหลักปฏิบัติที่ดีที่เน้นความรับผิดรับชอบ ความโปร่งใส และการให้ความสำคัญต่อสิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พูดง่ายๆก็คือ คณะกรรมการบริษัทต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
เรื่องที่สอง เป็นพลวัตจากนักลงทุนที่ต้องการเห็นบริษัทที่ตนเข้าไปลงทุนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่า ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนนั้นจะมีการบริหารจัดการที่ระมัดระวัง นำไปสู่ผลประกอบการที่ดีและยั่งยืน ตรงกันข้ามบริษัทที่ไม่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยง เพราะบริษัทไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจะอ่อนไหวง่ายต่อการบริหารแบบรวบอำนาจของประธานบริษัท หรือ ซีอีโอที่อาจนำไปสู่การบริหารที่ผิดพลาด เสียหาย ประเด็นนี้ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันจึงให้ความสนใจกับการกำกับดูแลกิจการหรือธรรมาภิบาลของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน
เรื่องที่สาม ก็คือ การแข่งขันทางธุรกิจที่มาจากความต้องการที่อยากเห็นธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้บริษัทเอกชนหันมาให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพราะการกำกับดูแลกิจการที่ดี นำไปสู่การยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อธุรกิจของบริษัท ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความยั่งยืนของธุรกิจ อีกนัยหนึ่งธุรกิจหลักๆแล้ว ก็คือ กระบวนการของการผลิตสินค้าหรือบริการ (เพื่อขายให้กับผู้บริโภค) ซึ่งถ้ากระบวนการดังกล่าวได้รับการยอมรับ ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ธุรกิจของบริษัทก็จะสามารถไปได้เรื่อยๆ คือยั่งยืน เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจของบริษัท ให้การยอมรับ และหัวใจของการทำให้เกิดการยอมรับก็คือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี ประเด็นนี้ทำให้ การกำกับดูแลกิจการได้กลายมาเป็นปัจจัยแข่งขันที่ธุรกิจใช้สร้างความแตกต่าง เพื่อหาความได้เปรียบ
แล้วการกำกับดูแลกิจการของภาคเอกชนไทย หรือบริษัทเอกชนเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือไม่
ในเรื่องนี้น่ายินดีว่าความพยายามที่จะปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการในภาคเอกชนไทย ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ได้มีความก้าวหน้ามาตลอด สะท้อนความร่วมมือที่จะผลักดันเรื่องดังกล่าวโดยหน่วยงานกำกับดูแล บริษัทเอกชนและองค์กรอิสระในภาคเอกชน เช่น สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมบริษัทจัดการกองทุน และสมาคมนักลงทุนไทย โดยหน่วยงานกำกับดูแล คือ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนยึดแนวปฏิบัติที่ดีในการกำกับดูแลกิจการ ให้มีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ในรายงานต่างๆ ออกแนวปฏิบัติให้คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการย่อยทำหน้าที่ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และยกระดับมาตรฐานบัญชี และการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนองค์กรอิสระในภาคเอกชนก็ช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ผ่านการอบรมและให้ความรู้ผู้ที่จะมาทำหน้าที่กรรมการ มีการจัดอันดับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย ก็มุ่งส่งเสริมให้บริษัทเอกชนปฏิบัติจริงตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ผ่านการออกเสียงและการถามคำถามในที่ประชุมใหญ่ประจำปีของบริษัท และผ่านการทำหน้าที่ของกรรมการอิสระ
สิ่งเหล่านี้ทำให้คะแนนการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนไทยดีขึ้นตลอด จากคะแนนประมาณ 50 ส่วนร้อยในปี 2002 เป็นคะแนน 78 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ผลประเมินโดยหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และสมาคมบรรษัทภิบาลเอเชีย หรือ Asia Corporate Governance Association ก็มีข้อสรุปเหมือนกันว่า การกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยนั้นมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง
แต่ถึงแม้ตัวเลขจะดีขึ้น คะแนนจะดีขึ้น และน่ายินดี ประเทศไทยในแง่ธรรมาภิบาลยังมีเส้นทางที่ต้องเดินต่ออีกมาก เพื่อให้ธรรมาภิบาลของประเทศและประเทศไทยดีขึ้น โดยประเด็นที่เราจะต้องเร่งทำกัน ก็คือ
1. บริษัทจดทะเบียนยังต้องแก้ไขการกำกับดูแลกิจการในสองเรื่องใหญ่ที่ยังเป็นจุดอ่อนของระบบเราอยู่ นั่นก็คือ เรื่องความรับผิดชอบของกรรมการและการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประเด็นแรกจะโยงกับเรื่อง เช่น โครงสร้างคณะกรรมการ คุณสมบัติกรรมการ การทำหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ กระบวนการการประชุมกรรมการ และการประเมินตนเองของกรรมการ ส่วนประเด็นหลัง เรื่องผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็โยงกับการต่อต้านการทุจริต การเคารพสิทธิมนุษยชน การรับผิดชอบต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม เรื่องเหล่านี้ หลายบริษัทมีนโยบายและให้ความสำคัญ แต่ช่องว่างอยู่ที่การปฏิบัติจริงที่ยังไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับนโยบายที่ได้เขียนไว้
2. เราต้องตระหนักว่า ธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีในภาคเอกชนนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะบริษัทจดทะเบียน แต่เป็นเรื่องที่บริษัทเอกชนทุกบริษัทต้องให้ความสำคัญ และตัวเลขที่ดูดีขึ้น ก็สะท้อนเฉพาะบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น ดังนั้น จำเป็นที่เราจะต้องเผยแพร่และสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้ขยายไปสู่บริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ บริษัทที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการที่ดีเกิดขึ้นกว้างขวางในภาคเอกชนไทย
3. ปัญหาคอร์รัปชั่นที่รุนแรงขึ้นขณะนี้ สะท้อนชัดเจนว่า การกำกับดูแลกิจการของประเทศไทยมีปัญหา และสวนทางกับแนวโน้มที่ดีขึ้นของการกำกับดูแลกิจการในภาคเอกชน ซึ่งชี้ว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีฝ่ายเดียวของบริษัทเอกชน จะไม่สามารถลดหรือแก้คอร์รัปชั่นได้ ตรงกันข้ามปัญหาที่ใหญ่กว่าของเราขณะนี้อยู่ที่ธรรมาภิบาลภาครัฐที่นับวันจะแย่ลง ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรงและต้องเร่งแก้ไข จุดนี้ถ้าแก้ไม่ได้ หรือถ้าการ “ปฏิรูป” ที่เราเรียกร้องกันไม่แตะประเด็นธรรมาภิบาลภาครัฐ การปฏิรูปก็จะสูญเปล่าไม่เกิดผล เพราะพฤติกรรมสำคัญที่ต้องแก้ไขมากที่สุด คือ ธรรรมาภิบาลภาครัฐ ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมนักการเมืองไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ถ้าเราจะเดินหน้าประเทศด้วยการปฏิรูป การปฏิรูปธรรมาภิบาลภาครัฐเป็นสิ่งที่ต้องทำมากที่สุด