นักลงทุนสถาบันกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี
อาทิตย์ที่แล้วผมอยู่ที่ประเทศอินเดีย เมืองมุมไบ ตามคำเชิญขององค์กรเพื่อความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจหรือOECD เข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมประเทศเอเซีย
เรื่องการกำกับดูแลกิจการบริษัท (Asia Roundtable on Corporate Governance) รวมถึงนโยบายการกำกับดูแลกิจการสำหรับนักลงทุนสถาบันที่ OECD จัดร่วมกับตลาดหลักทรัพย์อินเดีย (India-OECD Corporate Governance Policy Dialogue on Institutional Investors) และเชิญผมร่วมเป็นวิทยากร วันนี้ก็เลยอยากถ่ายทอดสิ่งที่ได้รับฟังมาและให้ความเห็นไป เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาตลาดทุนบ้านเรา
นักลงทุนสถาบันปัจจุบันมีบทบาทมากในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก เพราะเป็นผู้บริหารเงินลงทุนจำนวนใหญ่ที่สุดที่เป็นเงินออมของปัจเจกบุคคลและหน่วยการออมต่างๆ เพื่อหาผลตอบแทน สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไทย บทบาทนักลงทุนสถาบันจะมีทั้งที่เป็น นักลงทุนสถาบันในประเทศ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ กองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนที่บริหารเงินออมของผู้ออมรายย่อย และบริษัทประกันชีวิต สำหรับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ก็มีทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างประเทศ กองทุนรวม กองทุนเพื่อความมั่งคั่งและกองทุนที่มุ่งทำกำไรหรือเก็งกำไรเช่น เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) ทั้งหมดทั่วโลกประมาณว่าสินทรัพย์ที่บริหารโดยนักลงทุนสถาบันอาจมีมากกว่า 86 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ กระจายการลงทุนไปทั่วโลก ประเทศตลาดเกิดใหม่ก็มีเงินเหล่านี้เข้ามาลงทุน ในรูปเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ
เงินทุนภาคเอกชนที่ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ จะลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ตลาดสินเชื่อ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ การเคลื่อนไหวของเงินลงทุนจำนวนมหาศาลนี้ส่งผลกระทบไปทั่ว ทั้งดีและไม่ดี คำถามจึงมีว่า นักลงทุนสถาบันที่เป็นผู้ลงทุนเงินเหล่านี้ควรมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือไม่ เพื่อให้การประกอบธุรกิจเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ออมและผู้ที่ถูกกระทบจากการลงทุน นอกจากนี้ก็มีคำถามว่านักลงทุนสถาบันควรผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในบริษัทที่ตนเองเข้าไปลงทุนมากน้อยแค่ไหน ในฐานะผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของจากการเข้าไปซื้อหุ้น อันนี้คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
เรื่องนี้เป็นประเด็นเพราะวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกที่ปะทุขึ้นหกปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินลงทุนของนักลงทุนสถาบัน ที่เข้าไปลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐมากจนเกิดปัญหา โดยนักลงทุนสถาบันถูกมองว่าเพิกเฉย ต่อความเสี่ยงทำให้มีการลงทุนอย่างไม่ระมัดระวังจนเกิดปัญหาฟองสบู่ตามมา นำมาสู่ความเสียหายทั้งต่อเศรษฐกิจและต่อการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน กรณีประเทศตลาดเกิดใหม่ก็เช่นกัน ที่ผ่านมาทุกครั้งที่วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ สาเหตุหลักก็จะมาจากการไหลเข้าออกเร็วของเงินทุนต่างประเทศ ที่มักสร้างปัญหา คือตอนเงินไหลเข้าก็ทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ ขณะที่ตอนเงินไหลออกเร็วและแรงก็นำมาสู่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพและการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คำถามก็คือ นักลงทุนสถาบันควรต้องคำนึงถึงผลกระทบเหล่านี้หรือไม่เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อเศรษฐกิจและต่อตลาดการเงินของประเทศที่ไปลงทุน นี่เป็นประเด็นแรก
ประเด็นที่สองก็คือ การเข้าซื้อหุ้นบริษัทของนักลงทุนสถาบันซึ่งปกติจะลงทุนในวงเงินที่สูง จะมีความเป็นเจ้าของบริษัทที่เข้าไปซื้อหุ้นโดยปริยาย ดังนั้น ในฐานะเจ้าของนักลงทุนสถาบันควรหรือไม่ที่จะใส่ใจกับประเด็นการผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในบริษัทเหล่านี้ เพื่อให้คณะกรรมการบริษัท และฝ่ายบริหารของบริษัทที่เข้าไปลงทุน มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่เน้นการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงระยะยาว ซึ่งนักลงทุนสถาบันมีศักยภาพที่จะผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย และต่อภาคธุรกิจของประเทศ ไม่ควรแค่ลงทุนเพื่อทำกำไรเพียงอย่างเดียว
ประเด็นที่สามเป็นประเด็นเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีของนักลงทุนสถาบันเอง ว่าควรมีหลักปฏิบัติที่ดีในการวางนโยบายและบริหารจัดการการลงทุนเพื่อประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นเจ้าของเงินออม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ
ทั้งสามประเด็น มาจากข้อสังเกตพฤติกรรมนักลงทุนสถาบันในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2008 ที่ หนึ่ง มีพฤติกรรมเน้นทำกำไร จนละเลยความเสี่ยงและประเด็นสภาพคล่อง จนถูกมองว่าทำให้ความสมดุลระหว่างบทบาทการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์บริษัท ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่กับบทบาทนักลงทุนเสียไป คือเน้นทำกำไร จะละเลยหน้าที่ด้านการผลักดันธรรมาภิบาล สอง วิธีการลงทุนก็เน้นการทำกำไรระยะสั้น เช่น ปรับ Port การลงทุนบ่อยจนเป็นพฤติกรรมแบบซื้อมาขายไปหรือ Trading มากกว่าจะเป็นพฤติกรรมลงทุน จนไม่มีบทบาทในฐานะผู้ถือหุ้นเรื่องธรรมาภิบาล และ สาม เป้าหมายของผู้ออมและผู้บริหารเงินกองทุนจะขัดแย้งกัน เพราะผู้ออมต้องการผลตอบแทนระยะยาวที่คงเส้นคงวา มีเสถียรภาพ ขณะนี้ ผู้บริหาร Port ลงทุนต้องการทำกำไร ทำอัตราผลตอบแทนให้ได้ตามเป้า จนต้องเน้นพฤติกรรมแบบซื้อขายระยะสั้น ที่ไม่ใช่เป้าประสงค์ของผู้ออม
ประเด็นเหล่านี้ทำให้มีข้อสรุปว่า พฤติกรรมลงทุนของนักลงทุนสถาบันตามโมเดลที่ใช้ในปัจจุบัน (ตามที่กล่าว) อาจไม่เหมาะสมต่อการมีส่วนร่วม หรือการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทที่เข้าไปลงทุน ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจอาจต้องแก้ไข เพื่อให้นักลงทุนสถาบันที่เป็นผู้ถือหุ้นมีความรับผิดชอบที่จะรักษาผลประโยชน์ของบริษัท และขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในบริษัทที่เข้าไปลงทุน ซึ่งทำได้ในสองทาง
หนึ่ง จัดตั้งคณะกรรมการที่จะกำกับการดูแลการลงทุนของกองทุนที่บริหารโดยนักลงทุนสถาบัน เพื่อให้กองทุนทำหน้าที่ทั้งสองด้าน คือ ทำกำไรและมีธรรมาภิบาลที่ดีในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงผ่านการวางนโยบายของคณะกรรมการกองทุนที่ชัดเจน
สอง มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นโดยเฉพาะข้อมูลปฏิบัติการ เช่น กระบวนการลงทุน บทบาทของ CG หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีในกระบวนการตัดสินใจลงทุน ผลตอบแทน และระบบแรงจูงใจที่ให้พนักงาน และข้อมูลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการที่กำกับดูแล ซึ่งสำคัญ คือ นโยบายของคณะกรรมการ กระบวนการธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ
การผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้น สามารถทำได้โดยใช้กลไกตลาด หรือมาตรการของทางการ หรือโดยความสมัครใจของนักลงทุนสถาบันเอง ในกรณีของประเทศไทย น่ายินดีว่า การผลักดันได้ทำผ่านทั้งภาครัฐ เอกชน และกลไกตลาด ที่ได้ร่วมกันผลักดันนักลงทุนสถาบันให้มีบทบาทด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในฐานะผู้ถือหุ้น เช่น สมาคมบริษัทจัดการกองทุน ที่ได้ผลักดันให้บริษัทจดทะเบียน ให้ความสำคัญกับการมีนโยบายไม่สนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงหน้าที่การเข้าประชุมใหญ่ประจำปี เพื่อลงคะแนนผลักดันให้บริษัทปฏิบัติตามหลักของการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกจากนี้เราก็มีสมาคมนักลงทุนไทยที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้เช่นกัน ผ่านการตั้งคำถามในที่ประชุมใหญ่ประจำปีของบริษัท
นี่คือตัวอย่างของการมีส่วนร่วมของนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อยในฐานะผู้ถือหุ้น ที่จะผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัทลงทุนและต่อภาคธุรกิจของประเทศโดยรวม