ลูกทรพี หรือ "พ่อแม่รังแกฉัน"

ลูกทรพี หรือ "พ่อแม่รังแกฉัน"

จากกรณีข่าวที่สังคมกำลังติดตามให้ความสนใจมากๆ อยู่ในขณะนี้ก็คือ ข่าวเรื่องลูกจ้างวานคนมาให้ฆ่าพ่อแม่และพี่ชายของตัวเอง ซึ่งเหตุเกิดที่บางแค

โดยขณะนี้ได้รวบตัว 4 ผู้ต้องหาได้แล้ว ทั้งนี้ ตามข่าวบอกว่า ลูกชายคนเล็กวางแผนฆ่ายกครัว โดยโกหกบอกมือปืนว่า พ่อแม่โดนโกง

ทำไมจึงมีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ทั้งๆ ที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กันเมื่อไม่นานมานี้ที่จังหวัดปทุมธานี โดยสาเหตุเกิดจากการที่ลูกชายคนโตสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จึงได้ทวงถามรางวัลรถยนต์ 1 คนที่พ่อแม่เคยรับปากสัญญาไว้ แต่เมื่อปรากฏว่าพ่อแม่ไม่รักษาสัญญาไม่ทำตามที่รับปากไว้ จึงเป็นเหตุอันสลดที่ทำให้เกิดเหตุฆ่าบุพการีและน้องชายด้วยตัวเองอย่างเหี้ยมโหด โดยสารภาพอ้างเหตุ ผลว่า เพราะพ่อแม่รักน้องชายมากกว่า

นี่เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า สังคมในปัจจุบันเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น แล้วเด็กทั้ง 2 คนในข่าวอันน่าสลดใจนี้ต้องการเพียงแค่มรดกหรือรถยนต์เท่านั้นหรือ? ไม่ได้มองถึงอนาคตวันข้างหน้า หรือ? หรือทำไปเพราะขาดสติกันแน่

แต่เหตุการณ์ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดใจเป็นที่สุด เพราะไม่น่าเชื่อว่าลูกทรพีสามารถวางแผนทำเรื่องแบบนี้ได้โดยไม่การยั้งคิดไตร่ตรอง เราจะมองเหตุการณ์นี้อย่างไร เด็กสมควรถูกให้ศาลสั่งประหารชีวิตไปเลยหรือไม่? หรือว่าควรต้องถูกจำขังไปตลอดชีวิต คำถามเหล่านี้คงเป็นคำถามที่คาใจผู้คนในสังคม และเป็นสิ่งที่สังคมไม่อาจจะยอมรับได้เลย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากให้พิจารณามองดูจากมุมของเด็กวัยรุ่นว่าทำไมถึงคิดถึงเชื่อว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะบอกรักลูกทุกคนเท่ากันก็ตาม แต่พฤติกรรมของพ่อแม่อาจไม่ได้แสดงแบบนั้น ซึ่งครอบครัวแต่ละครอบครัวต่างก็ถูกเลี้ยงดูมาไม่เหมือนกัน ทำให้เด็กอาจจะคิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาเป็นการสะสมมาเรื่อยๆ จนถึงขีดสุด เลยทำพฤติกรรม (ที่น่าหดหู่เศร้าใจ) แบบนี้ออกมา ด้วยอารมณ์โกรธไม่เข้าใจพ่อแม่และอีกหลายๆ อย่าง เช่น

1. อาจจะถูกเลี้ยงมาแบบครอบครัวตามใจลูก ลูกอยากได้อะไรก็ให้ ตั้งแต่เด็กจนโต ของชิ้นที่ลูกขอก็มีมูลค่าไปตามกาลเวลา ในวัยเด็กขอของเล่น พ่อแม่ก็อาจจะซื้อให้ได้ แต่เมื่อโตขึ้นของที่ลูกต้องการอยากได้อาจจะมีมูลค่าที่สูงขึ้น พร้อมกับสิ่งแลกเปลี่ยน อย่างลูกคนโตตามข่าวที่ฆ่าบุพการีและน้องชาย เพราะได้บอกพ่อแม่ว่าถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้จะขอรถยนต์ พ่อแม่สัญญาและรับปากแบบนั้น แต่เมื่อลูกสอบเข้าได้แล้ว พ่อแม่กลับไม่ได้ให้หรือทำตามคำสัญญา อาจจะเป็นเพราะด้วยความเป็นห่วงว่าลูกเพิ่งขับรถเป็นกลัวมีอันตราย

แต่ถ้ามองในมุมของวัยรุ่น อาจจะรู้สึกเสียใจว่าทำได้แล้วทำไมไม่ให้ตามสัญญา รู้สึกเหมือนโดนพ่อแม่หลอกให้มีความหวัง เลยตั้งใจทำสิ่งนั้นๆ เมื่อทำได้แล้วกลับไม่ได้ในสิ่งที่รับปากหรือสัญญา ทำให้เด็กอาจจะโกรธพ่อแม่ก็เป็นได้ แล้วนำเอาเรื่องหลายๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นที่ผ่านมามาปะติดปะต่อ พ่อแม่อาจจะมีบ่นบ้าง ก็ทำให้คิดว่าพ่อแม่ไม่รัก จึงนำไปสู่โศกนาฏกรรมแบบนี้ขึ้นเลยเป็นเหตุผลหรือเปล่าว่า การตามใจลูกมากเกินไปก็จะกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉันก็เป็นได้

2. พ่อแม่ชอบเอาตัวลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง ญาติๆ หรือคนข้างบ้านก็ตาม ยิ่งพูดว่าหรือเปรียบเทียบต่อหน้าคนอื่นๆ ให้ฟัง ก็จะยิ่งทำให้เด็กรู้สึก “จี๊ด” ขึ้นมาก็เป็นได้ อย่างเช่นพูดว่า “ดูน้องสิสอบได้เกรด 4.00 ทำไมเราไม่ตั้งใจเรียนเหมือนน้องบ้าง” เป็นต้น ทำให้เด็กอาจจะเก็บสะสมเป็นปมด้อยเอาไว้ก็เป็นได้ เลยเป็นสิ่งที่เป็นการเปรียบเทียบว่า ทำไมพ่อแม่ต้องน้องมากกว่าหรือ ทำไมแม่ต้องรักพี่มากกว่า

3. พ่อแม่ไม่ปล่อยให้ลูกได้ออกไปเจอโลกกว้าง อย่างเช่น ลูกขอพ่อแม่ไปเที่ยวกับเพื่อน พ่อแม่ไม่ให้ไปเพราะเป็นห่วงหรือไม่ตามใจ

4. พ่อแม่ไม่สนใจลูก บางครอบครัวอาจจะไม่มีเวลาให้ลูกเลย บางครั้งทำงานมากเกินไปจนไม่มีเวลาได้คุยกับลูก ถึงบ้านแล้วก็ต่างคนต่างอยู่ ครอบครัวแบบนี้ก็มี ทำให้ไม่มีเวลาได้สอนลูก ยิ่งทำให้ลูกขาดความอบอุ่นจึงต้องออกไปหาความสุขนอกบ้าน เด็กแบบนี้จึงมักเป็นกลุ่มที่ติดเพื่อน ไม่ฟังพ่อแม่ จนบางครั้งไม่เห็นพ่อแม่อยู่ในสายตา

5. พ่อแม่มีความคิดแบบโบราณ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในสังคมได้เช่นกัน เพราะเนื่องจากในปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทำให้มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องเข้าใจลูกในสมัยนี้ และ หันมาพูดคุยกับลูกอย่างเพื่อน เป็นกันเองกับลูก (มากขึ้น) จะทำให้ลูกสามารถปรึกษาพ่อแม่ได้อย่างเสมือนเพื่อนได้อย่างสนิทใจ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องพร้อมที่จะเปิดใจและรับฟังลูกมากขึ้น

สรุปได้ว่า ครอบครัวนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ การเลี้ยงดูลูกของแต่ละครอบครัวนั้นก็แตกต่างกันออกไป บางครอบครัวอาจจะเลี้ยงลูกอย่างตามใจอะไรก็ให้ ตามใจลูกไปเสียหมด ซึ่งเป็นการเลี้ยงลูกแบบ “พ่อแม่รังแกฉัน” หากวันใดพ่อแม่ไม่สามารถหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ลูกได้ วันนั้นแหละจะเป็นวันที่ลูก (เริ่ม) คิดว่า พ่อแม่ไม่รัก เพราะเลี้ยงลูกมาแบบนี้

ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ อยากให้พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยการใช้เหตุผลเข้ามาคุยกันมากขึ้น เพื่อจะทำให้ครอบครัวมีความสุข อยู่อย่างพอเพียงและพอดี บางสิ่งที่ลูกต้องการจริงอาจจะเป็นความรักของคนในครอบครัว การอยู่ร่วมกัน กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา การพูดคุยกันในครอบครัว จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจ และพ่อแม่ต้องทำให้พี่และน้องคิดอยู่เสมอว่าพ่อแม่รักลูกเท่ากันจริงๆ อาจจะเป็นเพราะอารมณ์โกรธในบางครั้งที่พ่อแม่อาจจะแสดงให้ฝ่ายพี่หรือน้องเห็นก็ตาม แต่ก็ควรจะใช้เหตุผลมานั่งคุยกันดีที่สุด หากสามารถทำได้เช่นนี้ เชื่อได้แน่ว่า เหตุการณ์ที่น่าสลดเศร้าใจที่สุดก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น

การเลี้ยงลูกสมัยนี้ให้ได้ดีในความคิดของพ่อแม่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่ายเลย เพราะฉะนั้น เรื่องบางเรื่องอาจจะมีจุดเล็กๆ ภายใต้ความรู้สึกมันก็อาจจะยากที่พูดออกไป อาจจะเป็นเหตุผลที่พ่อแม่นั้นรักลูกมากอาจจะเป็นห่วงลูก บางเหตุผลก็ไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้ พ่อแม่รักลูกทุกคน หากแต่ว่าลูกจะเข้าใจในมุมมองของพ่อแม่แบบไหน ถึงแม้เราจะอายุเท่าไหร่ ความรัก ความเป็นห่วงของพ่อแม่ เราก็เปรียบเสมือนเป็นเด็กที่เขารักอยู่ตลอด ถึงแม้พ่อแม่จะมีดุบ้าง ทำไปก็ด้วยรักลูกทั้งสิ้น

เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ก็คงจะเป็นบทเรียนสอนสังคมและครอบครัวแล้วว่า เราจะดูแลครอบครัวอย่างไรให้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด ในเหตุการณ์ทั้ง 2 เหตุการณ์ในครั้งนี้จะมองว่าใครเป็นคนผิดระหว่างพ่อแม่ หรือ ลูกนั้นสังคมก็จะเป็นคนตัดสินใจเอง และใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลว่าสิ่งใดควรหรือมิควร

ข้อมูลนักเขียน :

ภัทรธนรัชต์ นุชบุษบา

นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 4

วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม

มหาวิทยาลัยรังสิต