ความรัก ความลำเอียงและความเป็นกลาง
ผลการศึกษาวิจัยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับความรักความลำเอียงของพ่อแม่โดยนักวิชาการสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกออกมาตรงกัน
ว่า พ่อแม่ล้วนแต่มี “ลูกรัก” และ “ลูกชัง” อยู่ในใจทั้งสิ้น
นักวิจัยอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่า อย่างน้อยที่สุด กว่าร้อยละ 70 ของพ่อแม่มักจะมี “ลูกรัก” ที่รักมากกว่าลูกคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่สืบสายเลือดเดียวกัน นักวิชาการเชื่อว่า หากพูดกันจริงๆ แล้ว พ่อแม่ทุกคนล้วนแต่มีความรักที่ 2 มาตรฐานที่ให้กับลูกแต่ละคน
เช่นเดียวกับผลการวิจัยของนักวิชาการอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยบริสตอล ที่พบว่าพ่อแม่ (โดย เฉพาะครอบครัวที่มีลูก 2 คน) มีท่าทีว่ารักลูกคนโตมากกว่าลูกคนเล็ก ลูกคนแรกจะได้รับความเอาใจใส่มากกว่า ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีกว่า ได้รับรางวัลของขวัญที่มีราคาค่างวดมากกว่า เรียกว่าได้รับความรักความเสน่หาจากพ่อแม่มากกว่าลูกคนเล็ก ด้วยสาเหตุเหล่านี้ จึงส่งผลทำให้ลูกคนโตตัวสูงกว่า (อาจเป็นเพราะได้รับอาหารที่สมบูรณ์กว่า) และมีไอคิวมากกว่าลูกคนเล็ก (เนื่องจากได้รับความเอาใจใส่จากพ่อแม่อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องแบ่งให้พี่น้องคนอื่นๆ)
งานวิจัยเหล่านี้ยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า หัวอกของคนเป็นพ่อแม่ (ทุกคน) นั้นมีธรรมชาติที่รักลูกไม่เท่ากัน (?) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง พ่อแม่ทุกคนล้วนแต่มี 2 มาตรฐานในความรักที่มีต่อลูกๆ เป็นความจริงที่ยากจะมีพ่อแม่คนไหนกล้ายอมรับตรงๆ ว่ารักลูกไม่เท่ากัน แต่ภาษากายและพฤติกรรมต่างๆ เป็นความรู้สึกที่คนเป็น “ลูกชัง” รู้สึกถึงความลำเอียงนี้ได้ไม่ยาก และนั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต ทั้งต่อตัวลูก พ่อแม่และสังคม
“ลูกรัก” ของพ่อและแม่อาจจะไม่ใช่คนเดียวกันเสมอไป บางครั้งพ่อมักจะรักลูกคนโตมากกว่า ส่วนแม่จะเอนเอียงให้กับลูกคนเล็กมากกว่า บางครั้งอาจจะเป็นลูกชายหรือลูกสาวที่เป็น “ลูกรัก” ของพ่อแม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ มาประกอบ เช่น ลูกคนไหนเหมือนพ่อเหมือนแม่มากกว่ากัน ลูกคนไหนเข้ากับพ่อแม่ได้ดีกว่ากัน ลูกคนไหนประสบความสำเร็จเจริญรอยตามหรือชดเชยในสิ่งที่พ่อแม่ไม่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน ใครเข้มแข็งหรืออ่อนแอกว่ากัน ใครได้ดังใจพ่อแม่หรือทำให้พ่อแม่ปลื้มมากกว่ากัน เป็นต้น
ความรู้สึกว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันนี้ ได้กลายเป็นปมด้อยของ “ลูกชัง” ที่ถูกเพาะพันธุ์และค่อยๆ หยั่งรากลึกกลายเป็น “แผลเป็น” ที่ติดตัวไปตลอดทั้งชีวิต จนบางครั้งเกิดเป็นโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าสลดที่สุดสำหรับสัตว์ที่ประเสริฐที่สุดที่เรียกว่ามนุษย์
ครั้งหนึ่ง กรณีของ พ.ต.อ.สุพัฒน์ เลาหะวัฒนะเคยเป็นข่าวเกรียวกราวทางหน้าหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับในช่วงปลายปี 2555 โดยมีการเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันระหว่าง “หมอสุพัฒน์” กับพี่ชายประหนึ่งเป็นศึกสายเลือด
“หมอสุพัฒน์” ถูกกล่าวหาในคดีฆาตกรรมแรงงานพม่าอย่างเหี้ยมโหด แต่พื้นฐานความเป็นมาและสภาพจิตใจของ “หมอสุพัฒน์” เป็นสิ่งน่าศึกษาและให้ความสำคัญ เนื่องจาก “หมอสุพัฒน์” ถูกกล่าวหาจากพี่ชายว่า (เคย) จงใจให้ยาผิดหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการวางยาแม่ของตัวเอง เนื่องมาจากเหตุของปมด้อยที่รู้สึกมาตลอดตั้งแต่เด็กว่าแม่รักพี่ชายมากกว่า
และถึงแม้ว่า “หมอสุพัฒน์” จะใช้ปมด้อยนี้เป็นพลังทางบวกผลักดันตัวเองเรียนหนังสือให้เก่งกว่าและให้มีอาชีพที่ดีกว่าพี่ชายเพื่อพิสูจน์ให้แม่เห็นและรักมากขึ้น แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถเปลี่ยนใจแม่ได้ จึงมีมูลเหตุให้เชื่อได้ว่าปมด้อยและความรู้สึกว่าแม่รักลูกไม่เท่ากันนี้ได้ฝังลึกจนยากจะถอนได้
กรณีต่อมาที่เรียกว่าช็อกสังคมไทยมากๆ ก็คือกรณีที่ “นายวัฒน์” หนุ่มวัย 18 ปีซึ่งเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวลั่นไกสังหารบุพการีของตัวเองพร้อมน้องชายอย่างโหดเหี้ยมในบ้านพักเขตปทุมธานีเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากพ่อแม่ไม่ยอมซื้อรถยนต์ให้ตามสัญญาหลังจากที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
แต่หากพินิจพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว ความผิดหวังดังกล่าวย่อมไม่เพียงพอสำหรับใครสักคนหนึ่งที่จะเป็น “เหตุ” นำไปสู่การฆ่าพ่อแม่ของตัวเองได้ แต่มูลเหตุที่แท้จริงที่มีน้ำหนักมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของปมด้อยที่ “นายวัฒน์” รู้สึกมาตลอดว่าพ่อแม่ลำเอียงรักลูกไม่เท่ากัน น้องชายคือลูกรักที่ได้รับการเอาใจใส่และความอบอุ่นทุกๆ อย่าง ส่วนตัวเองคือลูกชังที่ถูกดุด่าเป็นประจำ
“นายวัฒน์” คงคิดว่า การพยายามทำให้ดีที่สุด (ด้วยการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามที่พ่อแม่มุ่งหวัง) จะทำให้พ่อแม่หันมารักตัวเองมากขึ้นเหมือนที่เอ็นดูน้องชาย แต่กลับกลายเป็นความสำเร็จที่ไร้ความหมายในสายตาของพ่อแม่ เมื่อถูกพ่อแม่ปฏิเสธไม่ซื้อรถยนต์ให้ตามที่สัญญาไว้จึงเป็นเหมือนเส้นฟางสุดท้ายที่ทำให้ตัดสินใจกระทำผิดอย่างมหันต์ที่สุดสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง
เพียงแค่ข้ามเดือน โศกนาฏกรรมที่น่าเศร้าสลดที่สุดก็เกิดขึ้นซ้ำชนิดช็อกสังคมไทยไปตามๆ กัน เมื่อปรากฏข่าวว่า “นายเต้ย” วัย 22 ปี ก่อเหตุจ้างวานให้ผู้อื่นไปสังหารบุพการีของตัวเองพร้อมพี่ชายสายเลือดเดียวกันอย่างเหี้ยมโหดในพื้นที่เขตบางแค จนเกิดคำถามว่าสังคมไทย “ป่วย” มากถึงขั้นนี้แล้วหรือ?
เช่นเดียวกับกรณีของ “นายวัฒน์” และกรณีของ “หมอสุพัฒน์” ที่มีมูลเหตุให้เชื่อได้ว่า ปมมรดกที่ดินกว่าร้อยล้านที่ “นายเต้ย” หวังครอบครองไม่น่าจะ “มากพอ” ถึงที่สุดที่จะจูงใจและผลักดันให้ “นายเต้ย” ถึงกับต้องก่อเหตุปิตุฆาตมาตุฆาตได้เช่นนี้ หากไม่ใช่เพราะปมด้อยที่สะสมฝังรากลึกมานาน
มีเหตุให้เชื่อว่า มูลเหตุสำคัญหนึ่งที่ค่อยๆ บ่มเพาะและทำให้หนุ่มวัย 22 ปีกลายเป็นลูกทรพีถึงขั้นจ้างคนไปสังหารพ่อแม่และพี่ชายของตัวเองได้ ก็คือปมด้อยที่รู้สึกมาตลอดว่าพ่อแม่ลำเอียงรักพี่ชายมากกว่า เพราะ (ในสายตาของพ่อแม่แล้ว) พี่ชายดีกว่า เก่งกว่าและกำลังเป็นนายตำรวจที่มีอนาคตไกลให้พ่อแม่ได้ภูมิใจมากกว่าเมื่อเทียบกับตัวเอง จนสุดท้ายตัดสินใจผิดชั่วอย่างมหันต์ที่สุด
เพราะฉะนั้นแล้ว ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่พึงปรารถนาอย่างมากๆ แต่ก็นับเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ ที่จะเห็นพ่อแม่แสดงออกซึ่งพฤติกรรมและภาษากายว่ารักลูกทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ทำให้ลูกคนใดคนหนึ่งรู้สึกถึงความลำเอียงใดๆ ได้
หากเราไม่สามารถสร้างความรักให้เป็นมาตรฐานเดียวสำหรับลูกๆ ในครอบครัวเดียวกัน ไม่สามารถทำให้พ่อแม่ทุกคนรักและเอาใจใส่ลูกๆ แต่ละคนอย่างเท่าเทียมกันทั้งๆ ที่เป็นสายเลือดเดียวกันได้แล้ว ก็นับเป็นเรื่องที่ยากพอๆ กันที่จะเรียกร้องหรือค้นหาใครสักคนหนึ่งที่มีความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริงได้