พลวัตทางยุทธศาสตร์ในเอเชียแปซิฟิก (2)

พลวัตทางยุทธศาสตร์ในเอเชียแปซิฟิก (2)

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในความเห็นของสหรัฐอเมริกา ประเทศใน ASEAN เป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐอเมริกาและช่องแคบมะละกาครอบคลุมร้อยละ 70 ของพาณิชย์นาวีในย่านนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นบริเวณที่มีความสำคัญต่อดุลยภาพเชิงยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง หลังจากจีนอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ต่อสหประชาชาติในปี 2009 กรณีพิพาทในบริเวณนี้ก็ได้เกิดขึ้นหลายครั้ง ดังนั้น การช่วยประเทศในบริเวณนี้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันตนเองจึงเป็นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกัน ก็ขอร่วมมือใช้สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารในประเทศต่างๆ แต่ประเทศใน ASEAN ก็ให้ได้เพียงการใช้งานเป็นครั้งคราวเท่านั้นไม่ใช่เป็นการประจำ เพราะว่าประเทศต่างๆ ก็ไม่อยากจะเลือกข้างอย่างชัดเจน นอกจากนี้ประชาชนในแต่ละประเทศต่างก็มีความรู้สึกชาตินิยมและไม่ไว้วางใจสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าประเทศใน ASEAN จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีจุดร่วมกันอยู่ 3 ประการคือ 1) การเกาะกลุ่มระหว่างกันให้เหนียวแน่นขึ้น 2) ความมั่นคงภายในที่ให้ความสำคัญกับการแทรกซึมและน่านน้ำ 3) ความห่วงใยต่อการอ้างสิทธิเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ของจีนที่มากขึ้น ในขณะที่ประเทศใน ASEAN อยากให้สหรัฐอเมริกามีบทบาททางการทูตและทางเศรษฐกิจ แต่ส่วนใหญ่ก็อยากจะให้สหรัฐอเมริกามีบทบาททางทหารมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศในอาเซียนไม่อยากจะให้การวางกำลังของสหรัฐอเมริกาเป็นแบบประจำยกเว้นสิงคโปร์ เนื่องจากไม่อยากเข้าไปอยู่ระหว่างการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

ในเชิงของแต่ละประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศเดียวที่ยอมให้สหรัฐอเมริกาใช้ฐานทัพสำหรับเรือลาดตระเวนชายฝั่ง 4 ลำและมีความพร้อมในการรองรับเรือบรรทุกเครื่องบินด้วย ไทยมีการฝึก Cobra Gold และการฝึกทางอากาศ Cope Tiger ที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้ ฟิลิปปินส์มีการฝึก Balikatan กับสหรัฐอเมริกาและได้รับวงเงินกู้เพิ่มขึ้นในการซื้อเรือรบและเครื่องบินรบ F-16 มือสอง เวียดนามมีข้อตกลงการช่วยเหลือทางทะเลและการฝึกร่วมและสหรัฐอเมริกาหวังจะสามารถเทียบเรือบรรทุกเครื่องบินในอนาคต อินโดนีเซียและมาเลเซียที่มีความขัดแย้งทางการเมืองกับสหรัฐอเมริกามาก่อน ต่างก็เริ่มมีกิจกรรมทางทหารกับสหรัฐอเมริกาในรูปของการช่วยเหลือทางทะเลตั้งแต่ปี 2010-2011 อย่างไรก็ตาม ไม่มีประเทศไหนที่ยอมให้สหรัฐอเมริกาใช้ที่ตั้งทางทหารเป็นการประจำเลย เนื่องจากท่าทีต่อต้านจากความชาตินิยมยังคงเป็นเหตุผลหลัก ที่สำคัญกว่านั้นคือ ประเทศต่างๆ ใน ASEAN ต่างก็ไม่มีความมั่นใจในความเสมอต้นเสมอปลายของสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนแปลงเสมอในอดีตโดยเป็นไปตามผลประโยชน์ของตนในแต่ละยุคสมัยเท่านั้น

จีน

สหรัฐอเมริกาถือว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องของจีนเป็นผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์จึงพยายามให้จีนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านความมั่นคงระหว่างประเทศและด้านเศรษฐกิจในองค์กรความร่วมมือประจำภูมิภาค เช่น APEC เป็นต้น

ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายการป้องกันประเทศและขีดความสามารถทางทหารที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและการเรียกร้องอธิปไตยเหนือดินแดนต่างๆ กลายเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรต่างๆ ในภูมิภาค ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องวางกำลังอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ความสุมดุลทางยุทธศาสตร์เสียไป

จีนเองก็ทราบดีถึงความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการขีดวงปิดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนและการดำเนินยุทธศาสตร์แทรกแซงประเทศต่างๆ ในภูมิภาค การต่อต้านการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาของจีนไม่ได้ทำ A2AD ในเชิงการทหารเท่านั้น แต่ยังทำในเชิงการทูต สารสนเทศ และข้อต่อรองทางเศรษฐกิจต่อระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ส่วนการต่อต้านการขีดวงจำกัดจีนของสหรัฐอเมริกาของจีนนั้นทำโดยการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทูตกับประเทศต่างๆ เพื่อลดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค

ในความเห็นของสหรัฐอเมริกา การพัฒนาขีดความสามารถทางทหารของจีนมาจากความตระหนักของจีนต่อกำลังทหารอันทรงพลังของสหรัฐอเมริกาใน กรณีอิรัก กรณีเผชิญหน้าช่องแคบไต้หวัน กรณียูโกสลาเวีย และ กรณีอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะการแสดงกำลังในรูปของเรือบรรทุกเครื่องบินและเครื่องมือโจมตีระยะไกลที่แม่นยำ (B2 Bomber) การสร้างขีดความสามารถทางทหารของจีนเป็นการมุ่งไปที่การสร้างภัยคุกคาม ต่อเรือบรรทุกเครื่องบินโดยใช้เรือดำน้ำและจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ ต่อเครื่องบินรบที่ทรงอานุภาพโดยใช้จรวดพื้นสู่อากาศ และ ต่อระบบสารสนเทศและจรวดนำวิถีระยะกลางโดยใช้สงครามอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวโดยสรุปแล้วการกีดกันกำลังทหารสหรัฐอเมริกาไม่ให้เข้าใกล้จีน (A2AD or Anti-access/Area Denial) ถือเป็นยุทธศาสตร์หลัก อย่างไรก็ตาม A2AD ของจีนที่จะมีประสิทธิภาพได้เต็มที่ก็ยังต้องอาศัยการสอดประสานระหว่างระบบต่างๆ ที่ดี ซึ่งก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนักสำหรับกองทัพที่ไม่เคยรบจริงมาตั้งแต่ปี 1979

กล่าวกันว่า การสร้างขีดความสามารถทางทหารของจีนจนกลายเป็นมหาอำนาจที่ชัดเจนในเอเชียอาจจะเป็นไปได้ในปี 2020 ซึ่งก็ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เศรษฐกิจจะต้องขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ 7-8% ต่อปีและเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติหรือสงครามที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาดังกล่าว

สหรัฐอเมริกาพยายามสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับกองทัพของจีนตลอดมาเพื่อสร้างความเข้าใจและป้องกันอุบัติเหตุทางทหารอันอาจเกิดขึ้นแต่ก็มักสะดุดด้วยการกระทำของสหรัฐอเมริกาเองในกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตร เช่น การขายอาวุธให้ไต้หวัน เป็นต้น

สรุปและวิจารณ์

แม้ว่าการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในเอเชียแปซิฟิกของ Center for Strategic and International Studies (CSIS) จะได้ย้ำถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกต่อสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก ในความเป็นจริงแล้ว ความสำคัญทางเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกต่อประเทศสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ก็มีไม่น้อยเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่มีประเทศใดที่จะต้องวางกำลังไกลบ้านอย่างสหรัฐอเมริกา ยุทธศาสตร์ทั้งหมดที่สหรัฐอเมริกาใช้อยู่เป็นการวางกำลังที่ไม่ให้ประเทศหนึ่งประเทศใดทั่วโลกมีกำลังเหนือกว่าสหรัฐอเมริกาทุกๆ แห่งในโลกหรืออย่างมากที่สุดเพียงเท่าเทียมกันเท่านั้น พฤติกรรมดังกล่าวเปรียบเสมือนการคุกคามต่อความสงบสุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลกทุกหนทุกแห่ง นี่คือหัวใจของยุทธศาสตร์ทั่วโลกของสหรัฐอเมริกา

พันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ อาจจะเป็นผลประโยชน์แห่งความมั่นคงร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีออกค่าใช้จ่ายแก่กองกำลังสหรัฐอเมริกาที่ตั้งในประเทศของตนเป็นจำนวนมหาศาลจนกระทั่ง CSIS กล่าวว่า การวางกำลังของสหรัฐอเมริกาในประเทศทั้งสองเพื่อคานอำนาจฝ่ายตรงข้ามจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าปราศจากค่าใช้จ่ายที่ประเทศเจ้าภาพออกให้ อย่างไรก็ตาม ประเทศเจ้าภาพเองก็ได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน เท่าที่ผ่านมายังไม่มีการวิเคราะห์ว่าความสัมพันธ์ในเชิงทวิภาคีนั้น ฝ่ายใดจะได้ประโยชน์สุทธิมากกว่ากัน โดยจะต้องพิจารณาความสัมพันธ์ทวิภาคีทุกคู่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศแต่ละประเทศ แต่ถ้าพิจารณาผลประโยชน์ในภาพรวมทั่วโลกแล้ว สหรัฐอเมริกาน่าจะได้รับผลประโยชน์ต่อความมั่นคงมากที่สุดในรูปของเครือข่ายการวางกำลังเมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่นๆ ทุกๆ ประเทศในโลก

แนวโน้มถัดมาของพันธมิตรทางทหารเริ่มให้ความสำคัญกับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันได้และความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันได้ ในเรื่องยุทโธปกรณ์ร่วมกันนั้น สหรัฐอเมริกาจะได้ประโยชน์เนื่องจากประเทศคู่ทวิภาคีจะต้องถูกบังคับให้ซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกาไปกลายๆ แทนที่จะมีทางเลือกในการซื้อจากที่อื่น ข้อเสียของประเทศในเอเชียแปซิฟิกคือ มักจะมีความขัดแย้งหรือไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันแม้แต่ ASEAN ทำให้ไม่สามารถสร้างกลุ่มพันธมิตรทางทหารร่วมกันได้เองอย่างประเทศในยุโรปที่มี Euro fighter ของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งสหรัฐอเมริกา พันธมิตรทางทหารระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกันน่าจะเป็นทางเลือกของความร่วมมือที่จะไม่ต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลและการเอาเปรียบของสหรัฐอเมริกา

นอกจากสหรัฐอเมริกาพยายามสร้างพันธมิตรทางทหารแล้ว ยังพยายามสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจร่วมกับประเทศในเอเชียแปซิฟิก เพื่อกีดกันจีน ที่จริงแล้ว จุดเริ่มต้นของ APEC เป็นองค์กรที่ญี่ปุ่นริเริ่มขึ้นมาโดยไม่รวมจีน ซึ่งได้เป็นสมาชิกในภายหลัง แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังพยายามสร้าง TPP (Trans-Pacific-Partnership) ที่กีดกันจีนอีก

วิวัฒนาการทางทหารของจีนอาจจะกลายเป็นความกังวลของประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่จินตนาการว่าจีนอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศต่างๆ แต่แท้ที่จริงแล้วกำลังทหารของจีนในอดีตน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นสำหรับการรักษาอธิปไตยของตนและน่าจะอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงกับภัยคุกคามจากภายนอก การพัฒนาขีดความสามารถของจีนจึงควรจะได้รับการมองว่าเป็นสิทธิโดยชอบธรรมในการป้องกันประเทศ การเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนในยุคนี้ก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมเช่นเดียวกันเนื่องจากจีนยังไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะเรียกร้องในอดีต ซึ่งก็เป็นสิทธิที่ประเทศอื่นๆ ที่จะเรียกร้องเช่นเดียวกัน เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม หรือแม้แต่บรูไน เป็นต้น ข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏก็ยังไม่อาจบอกได้ว่าประเทศใดมีสิทธิอย่างชัดเจน ถ้าหากประเทศต่างๆ มีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ประเทศต่างๆ ที่ตำหนิจีนควรจะใช้การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีมากกว่าการเสริมสร้างกำลังและพันธมิตรทางทหาร

จีนเองควรจะเน้นหนักการแสดงท่าทีและบทบาททางการทูตระหว่างประเทศให้มีปริมาณมากขึ้นให้เป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ และหมดความคลางแคลงใจ

-----------------------

ที่มา: “U.S. Force Posture Strategy in The Asia Pacific Region : An Independent Assessment,” Center for Strategic & International Studies, August 2012.