Role Model (2)
ศุลีพรมองไปรอบๆ ห้อง รู้สึกยินดีที่เห็นแววตาเป็นมิตรมากขึ้นของสมาชิกในทีมใหม่ของเธอ
โดยเฉพาะจากรุ่นน้องๆ แต่พลันที่เธอสบตากับคุณยงยุทธ ผู้ดูแลด้านกฏหมายที่นั่งเยื้องมาด้านข้าง กลับอดรู้สึกไม่ได้ว่าแววตาคู่นั้นแสดงความอึดอัดใจบางประการ
“เอาล่ะ ใครมีอะไรอยากพูดอีกไหมคะ?” เธอถามหลังจากการประชุมเสร็จสิ้นลงตามวาะที่กำหนด ทั้งห้องเงียบ ศุลีพรกวาดสายตาอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนรับทราบโอกาสที่จะพูด ทั้งห้องก็ยังเงียบไม่มีใครแสดงความเห็นใด
“ถ้างั้นพี่ขอปิดประชุมแต่เพียงเท่านี้ ขอบคุณมากที่สละเวลามาอยู่ด้วยกันค่ะ”
ศุลีพรเคาะประตูห้องคุณวสันต์ ‘รองผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ’ ผู้เป็นหัวหน้าโดยตรงของเธอ รอเสียงอนุญาตแล้วจึงเปิดเข้าไป ภายในเย็นฉ่ำมีโต๊ะทำงานตั้งตระหง่าน เจ้าของโต๊ะกำลังก้มหน้าก้มตาเซ็นเอกสารตรงหน้า
“อ้าว...คุณศุลี เชิญนั่งก่อนนะ” เสียงกล่าวเรียบๆ โดยไม่เงยหน้า
ศุลีพรทรุดตัวลงนั่ง รับรู้ได้ถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการประดับประดาที่ไม่มากไม่น้อยเกินไปของห้องอันเรียบง่ายแต่สง่างามนี้
“ผมมีเรื่องอยากจะคุยกับคุณสองเรื่อง” ท่านรองฯปิดแฟ้มตรงหน้าและเริ่มโดยไม่อ้อมค้อม
“เรื่องแรก ผมได้ยินมาว่าคุณเรียกประชุมทีม แล้วอยากจะทำโน่นทำนี่ ซึ่งผมคิดว่าดี แต่อยากจะเตือนว่าให้ระวังหน่อย เพราะคุณเป็นคนใหม่เพิ่งมา ยังไม่รู้...” คำพูดทิ้งช่วงเหมือนพยายามเลือกคำ “...ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถ้ารุกมากไป ระวังจะไปกระทบใครเข้า”
ศุลีพรฟังจบประโยคแล้วรู้สึกโกรธจี๊ดในใจ โกรธที่ถูกตำหนิทั้งๆ ที่ตั้งใจทำดี โกรธที่คนตรงหน้า เป็นผู้ใหญ่แต่ฟังความข้างเดียว โกรธที่ลูกทีมของตนเองเอาเรื่องที่คุยกันในห้องมาพูดข้างนอก ข้ามหัวตนไปโดยไม่มาบอกกันก่อน ทั้งที่บอกกติกาแล้วและให้โอกาสแล้ว ฯลฯ
เสี้ยววินาทีก่อนจะพูดสวนอะไรออกไป ศุลีพรเตือนสติได้ทันว่าเธอนั่นแหละกำลังทำผิดกฎของตนเอง การพูดคุยได้อย่างเปิดเผยไม่ได้แปลว่าตัวเองเท่านั้นที่พูดได้อย่างจริงใจ แต่ต้องฟังผู้อื่นอย่างจริงใจและให้เกียรติผู้อื่นว่ามีสิทธิ์ที่จะพูดอย่างที่ตนเองคิดเช่นกัน ท่านรองฯ อาจบังเอิญได้ฟังเรื่องนี้มา ซึ่งคนเล่าก็อาจเล่าเพราะรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ แต่ไม่กล้าพูดในห้อง เป็นความหวังดีที่เผอิญมาในวิธีที่ทำให้เธอโกรธ
ดังนั้น ศุลีพรตัดสินใจเลือกที่จะให้อภัย ‘วิธี’ ที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น แล้วสนใจ ‘เจตนาดี’ ที่ท่านกำลังเตือน เมื่อคิดได้อย่างนี้ อารมณ์ที่กำลังคุกรุ่นก็เบาลง เปิดใจรับฟังคำแนะนำ ของผู้ที่อาวุโสกว่า
“ขอบคุณค่ะท่านรองฯ สำหรับคำเตือน ดิฉันจะระวังให้มากขึ้น ขอโทษด้วยที่อาจทำอะไร ด้วยความเร่งรีบเกินไป...” เธอกล่าวขอโทษอย่างจริงใจ เมื่อยอมรับกับตัวเองว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นขาดความรอบคอบ ใจคิดแต่อยากจะรีบลงมือทำงานให้เร็วที่สุดจนลืมนึกไปว่างานต้องทำเป็นทีม ไม่ว่าระดับแผนก ระดับฝ่าย หรือระดับองค์กร ก็ล้วนแต่เป็นทีมเดียวกันทั้งสิ้น
คุณวสันต์คงสังเกตเห็นสีหน้าที่เปลี่ยนไปของผู้ที่นั่งตรงหน้า จึงเสริมมาอย่างเห็นอกเห็นใจว่า
“ผมก็ต้องขอโทษด้วยถ้าพูดตรงไปหน่อย จริงๆ เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณอยากทำ และชื่นชมความกระตือรือร้นของคุณศุลีทั้งที่เพิ่งมาถึงได้ไม่นาน แค่อยากจะเตือนให้ระวังผลกระทบ ที่ยงยุทธมาคุยกับผม เขาก็กังวลว่าจะข้ามหัวคุณไป แต่เขาไม่กล้าพูดกับคุณไม่รู้ว่าคุณจะคิดยังไง ก็เลยมาเลียบๆ เคียงๆ กับผมที่สโมสรเมื่อวาน...” น่าแปลกที่คำอธิบายตรงกับสิ่งที่ศุลีพรคิดในใจ เมื่อสักครู่
“...เอ้า งั้นพูดเรื่องสองเลยละกันนะ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนคุณค่าขององค์กรที่คุณวันดีส่งมอบให้กับคุณ มีอย่างหนึ่งที่อยากฝากคุณศุลีช่วยไปคิดต่อคือ เรื่องของสัตยาบันระหว่างสมาชิกของเรา ผมคิดว่าการที่จะให้เรื่องวัฒนธรรมยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เราควรมีข้อตกลงร่วมกันว่าสังคมของเราที่นี่ อยู่กันอย่างไร ผมได้ไอเดียมาจาก Dr. Muhammad Yunus ของ Grameen Bank เค้าเรียกมันว่าสัตยาบัน 16 ประการ (Sixteen Decisions) ซึ่งมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของคนบังคลาเทศ ผมว่าเราน่าจะประยุกต์มาใช้กับที่นี่ได้”
คุณวสันต์จบบทสนทนาด้วยการลุกขึ้นยืน พร้อมส่งกรณีศึกษาในแฟ้มใสให้กับศุลีพร เธอกล่าวขอบคุณสั้นๆ ก่อนออกจากห้อง
(โปรดติดตามตอนต่อไป ท่านใดพลาดตอนที่ผ่านมา สามารถเข้าไปอ่านย้อนหลังได้ที่