บทบาทนักลงทุนกับธรรมาภิบาลที่ดี

บทบาทนักลงทุนกับธรรมาภิบาลที่ดี

อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญจากสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยให้กล่าวปาฐกถาในงานประชุมใหญ่ของสมาคม

ในหัวข้อ “บริษัทที่มีธรรมาภิบาลดี ดีต่อนักลงทุนอย่างไร” ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยให้ความสำคัญ เพราะต้องการเห็นบริษัทที่ตนเข้าไปลงทุนมีผลประกอบการดี และให้ผลตอบแทนที่เหมาะกับการลงทุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ง่ายขึ้นถ้าบริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือมี Good Corporate Governance หรือ CG ข้อสรุปนี้ทำให้การกำกับดูแลกิจการที่ดีได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุน รวมถึงบทบาทของนักลงทุนเองในการพัฒนาธรรมาภิบาลผ่านบทบาทของความเป็น “เจ้าของ” ที่พยายามผลักดันบริษัทที่ตนเองเข้าไปลงทุนให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี อันนี้เป็นประเด็นที่จะเขียนวันนี้

การลงทุนเป็นช่องทางหลักของการเพิ่มพูนรายได้เพื่อการบริโภค และการใช้จ่ายในอนาคต สำหรับบุคคลทั่วไปการลงทุนเป็นพื้นฐานของการสร้างอนาคตจากเงินออมที่มีอยู่ ทำให้การตัดสินใจลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่ผิดพลาด เสียหาย ให้การลงทุนประสบความสำเร็จและได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง

ที่ผ่านมา ในแง่ของการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น เงินสด หุ้น พันธบัตร และตราสารทางการเงินอื่นๆ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยได้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันสิทธิของผู้ถือหุ้นและให้ความรู้กับผู้ถือหุ้นผ่านหลักสูตรการอบรมต่างๆ แต่เรื่องหนึ่งที่ทางสมาคมได้ทำมากขึ้นในช่วงหลัง ก็คือ บทบาทในการพัฒนา CG ในฐานะ “เจ้าของ” ผ่านโครงการ AGM Checklist ที่กระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นที่มีคุณภาพ และการให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน เพื่อผลักดันบริษัทให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงการใช้สิทธิผู้ถือหุ้นสนทนาหารือกับฝ่ายจัดการ และกรรมการบริษัทอย่างเป็นกิจจะลักษณะ (Shareholder Engagement) ในประเด็นที่สำคัญต่อบริษัท และต่อการกำกับดูแลกิจการ บทบาทของนักลงทุนในลักษณะเช่นนี้ สอดคล้องกับแนวโน้มสากลที่ปัจจุบันนักลงทุนได้เป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญในการเปลี่ยนแปลงด้าน CG

ในกรณีของสมาคมส่งเสริมนักลงทุนไทย บทบาทด้าน CG ที่ดีอันหนึ่งที่ได้ทำไปก็คือ กิจกรรมที่ให้อาสาสมัครพิทักษ์สิทธิ์ของสมาคมไปสอบถามคณะกรรมการบริษัทในการประชุมผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับแนวนโยบายของบริษัทในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิ์ในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อยได้สอบถามคณะกรรมการบริษัทว่า บริษัทมีนโยบายและมีแนวปฏิบัติในการป้องกันการทุจริตหรือไม่ โดยได้สอบถามทั้งหมด 584 บริษัท

ในกรณีที่บริษัทตอบว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติชัดเจนโดยเฉพาะถ้าบริษัทเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) และผ่านการรับรองจากคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติ อาสาสมัครพิทักษ์สิทธิ์ก็จะเชิญชวนผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมร่วมปรบมือชมเชยคณะกรรมการบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการมีนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าว ในกรณีที่บริษัทยังไม่มีนโยบาย ยังไม่ได้เป็นแนวร่วม CAC คณะกรรมการบริษัทก็จะชี้แจงความตั้งใจต่อผู้ถือหุ้นว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร

ผลที่ออกมาจากบทบาทและการมีส่วนร่วมดังกล่าวทำให้สังคมไทยสามารถมั่นใจได้มากขึ้นว่า บริษัทจดทะเบียนเห็นความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและพร้อมที่จะมีผลักดันเรื่องนี้ในองค์กรของตน โดยร้อยละ 53 ของบริษัทที่ถูกถามให้คำตอบว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณา และอีกร้อยละ 33 แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ CAC หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินการ ขณะที่อีกร้อยละ 6 ได้เข้าร่วมโครงการ CAC แล้วและบางบริษัทก็ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC แล้ว

นี้คือตัวอย่างที่ดีของการทำหน้าที่ของนักลงทุนในฐานะ “เจ้าของ” ที่แสดงบทบาทร่วมพัฒนา CG ของบริษัทเอกชน โดยร่วมผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนมีนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตที่ชัดเจน นี้คือตัวอย่างที่นักลงทุนกำลังขับเคลื่อนการพัฒนา CG หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีในเชิงปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง

ในแง่นักลงทุนความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ CG ต่อการลงทุน เป็นเรื่องที่ยอมรับกันกว้างขวาง เพราะในสายตานักลงทุนการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำคัญมากๆ ในการช่วยปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย สำหรับบริษัทที่ขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดี นักลงทุนจะมองว่าการลงทุนในบริษัทดังกล่าวเป็นความเสี่ยง เพราะพฤติกรรมของเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ถือหุ้นที่สามารถมีอิทธิพลครอบงำกิจการ อาจเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุน ไม่ว่าผู้ถือหุ้นที่มีบทบาทครอบงำนั้นจะเป็นธุรกิจครอบครัว หรือรัฐบาล หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีอิทธิพล เช่น สหภาพแรงงานหรือผู้บริหารที่มีอำนาจมาก ตรงกันข้ามบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี นักลงทุนจะมองการกำกับดูแลกิจการว่าเป็นพื้นฐานของผลประกอบการที่ดีของบริษัทในระยะยาว เพราะบริษัทที่มีการจัดการบริหารดีมักเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมกัน

ในกรณีของประเทศไทยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD ได้ทำการประเมินการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2005 โดยประเมินบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยเป็นการทั่วไป เพื่อให้ทราบถึงมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการของแต่ละบริษัท โดย IOD ประเมินตามหลักของการกำกับดูแลกิจการในห้าหมวดคือ สิทธิผู้ถือหุ้น การดูแลผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การดูแลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ ปีที่แล้ว 2556 IOD ได้ประเมินทั้งหมด 526 บริษัท โดยใช้เกณฑ์การประเมินห้าหมวดดังกล่าวทั้งหมด 148 ข้อ

ปัจจุบันผลการประเมินหรือที่เรียกว่า คะแนน CGR ได้กลายเป็นข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนนำไปใช้ประโยชน์ในอย่างน้อยในสามทาง

ทางแรก ผลคะแนนรวมเฉลี่ยของทุกบริษัทที่ออกมาซึ่งปี 2556 เท่ากับ 78 จากคะแนนเต็มหนึ่งร้อย เป็นเครื่องชี้สำคัญของความก้าวหน้าและแนวโน้มของธรรมาภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการของภาคเอกชนไทย และเป็นข้อมูลที่ได้ถูกนำไปใช้เปรียบเทียบระดับธรรมาภิบาลของภาคเอกชนไทยกับประเทศอื่นๆ

สอง คะแนนของแต่บริษัทมีการจัดกลุ่มบริษัทที่ได้คะแนนดีเลิศหรือห้าดาว กลุ่มบริษัทที่ได้คะแนนระดับดีมากหรือสี่ดาว และกลุ่มที่ได้คะแนนดีหรือสามดาว ในปี 2556 มีบริษัทที่ได้คะแนนห้าดาว 87 บริษัท สี่ดาว 166 บริษัท และสามดาว 152 บริษัท ซึ่งนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันใช้คะแนนการประเมินนี้เป็นข้อมูลวัดคุณภาพการกำกับดูแลกิจการของบริษัทเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

สาม ตลาดการเงินเองก็ใช้ประโยชน์คะแนนประเมินดังกล่าวในการพัฒนาเครื่องมือการลงทุน โดยบริษัทจัดการกองทุนได้ใช้ผลการประเมินแยกแยะการจัดพอร์ตการลงทุนให้กับนักลงทุนที่สนใจที่จะลงทุน ในบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตัวอย่างเช่น รวบรวมบริษัทที่มีคะแนนการกำกับดูแลกิจการดีเลิศให้เป็นทางเลือกในการลงทุน ในลักษณะกองทุนรวม ทางเลือกดังกล่าวจะทำให้บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้ประโยชน์จากความสนใจของนักลงทุน ขณะที่นักลงทุนก็จะมีเครื่องมือการลงทุนหรือทางเลือกใหม่ที่จะสามารถลงทุนได้ เพื่อตอบสนองเป้าหมายของการหาบริษัทที่ให้ผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว

จากความสำคัญของธรรมาภิบาลในการลงทุนดังกล่าว เราจึงเห็นทั้งหน่วยงานการกำกับดูแล นักลงทุน และบริษัทจดทะเบียนได้เข้ามามีบทบาทผลักดันให้มีการนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาปฏิบัติใช้อย่างกว้างขวาง โดยบทบาทของนักลงทุนรายย่อยก็เช่น กรณีของสมาคมส่งเสริมนักลงทุนไทย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในบริษัทเอกชนไทย เพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจและประเทศ