บริษัทเอกชนผลักดันธุรกิจสะอาด ต้านคอร์รัปชัน
ถ้าผู้ให้เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นไม่ให้ คอร์รัปชันก็ควรลดลงแต่บริษัทเดียวทำไม่ได้ บริษัทจำนวนมากๆ จะต้องพร้อมใจกัน
วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคมนี้ โครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือโครงการ CAC (ย่อมาจาก Collective Action Coalition of the Private Sector Against Corruption) จะจัดงานสัมมนาใหญ่ประจำปีสำหรับบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC ในการต่อต้านการทุจริต และบริษัทเอกชนทั่วไปที่สนใจ โดยปีนี้การสัมมนาจัดเป็นปีที่ห้า ในหัวข้อ บทบาทความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการต่อต้านการทุจริต หรือ Tackling Corruption through Public-Private Collaboration ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ อะ รอยัล เมอริเดียน ตั้งแต่เวลา 8.30 น. เป็นต้นไป
คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เพราะคนในสังคมมีพฤติกรรมไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งบุคลากรในภาคราชการและบริษัทเอกชน นำไปสู่การจ่ายสินบน วิ่งเต้น การฮั้วการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อฉ้อโกงงบประมาณแผ่นดินโดยให้หน่วยราชการซื้อของหรือลงทุนในราคาที่แพงเกินความเป็นจริงเพื่อหาประโยชน์ สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ และทำลายแรงจูงใจในการแข่งขันทำธุรกิจ เมื่อคอร์รัปชันเป็นพฤติกรรมสังคม การแก้ปัญหาจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งผู้ให้และผู้รับ บังคับโดยการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการทำงานและการตัดสินใจของภาครัฐ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ของเจ้าหน้าที่รัฐ บริษัทเอกชน และประชาชนร่วมกันแก้ไขปัญหา
สำหรับบริษัทเอกชน บทบาทในการแก้การทุจริตคอร์รัปชันมีมากเป็นพิเศษ เพราะบริษัทเอกชนอยู่ในสมการคอร์รัปชันโดยตรงในฐานะผู้ให้ ถ้าผู้ให้เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นไม่ให้ไม่จ่าย คอร์รัปชันก็ควรลดลง แต่บริษัทเดียวทำไม่ได้ บริษัทจำนวนมากๆ จะต้องพร้อมใจกันทำ ร่วมกันเป็นแนวร่วมทำธุรกิจที่ไม่จ่ายไม่ให้ เปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การทำธุรกิจสะอาด โปร่งใส ปลอดคอร์รัปชัน และถ้าแนวร่วมนี้มีจำนวนมากๆ ภาคเอกชนก็สามารถใช้พลังความร่วมมือผลักดันให้ภาคราชการเปลี่ยนวิธี หรือกระบวนการในการทำหน้าที่หรือให้บริการประชาชน นำไปสู่ระบบการทำงานของภาครัฐที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ที่ลดความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน อันนี้คือ แนวคิดที่ได้นำไปสู่การจัดตั้งแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย เพื่อสร้างพื้นที่ให้บริษัทเอกชนสามารถผลักดันการทำธุรกิจสะอาด โดยการร่วมมือกันของหลายๆ บริษัทอย่างสมัครใจ
สี่ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่โครงการ CAC เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2553 โดยคุณชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการสถาบัน IOD และคุณดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวได้ว่าเป็นสี่ปีที่โครงการมีความก้าวหน้ามาตลอด และสามารถพัฒนาเป็นโครงการหลักของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งจากบริษัทเอกชน หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศ และสถาบันกรรมการและองค์กรต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ เริ่มจากแนวคิดที่จะให้มีการรวมตัวกันของบริษัทเอกชนประกาศเจตนารมณ์ทำธุรกิจสะอาด โดยบริษัทจะประเมินตนเองในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ดังกล่าวทั้งในแง่การมีนโยบาย และแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งในวันแรกที่มีการประกาศเจตนารมณ์วันที่ 9 พฤศจิกายน ปี 2553 มีบริษัทเข้าร่วมโครงการ 27 บริษัท ถือเป็นการเปิดตัวที่น่าชื่นชมในภาวะช่วงนั้นที่ประเทศเริ่มมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง
จากนั้นโครงการ CAC ก็มีความก้าวหน้ามาตลอด ถึงสิ้นเดือนกันยายนมีบริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการแล้ว 362 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 179 บริษัท และใน 362 บริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์มี 54 บริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ที่มี ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการต่อต้านการทุจริต ความก้าวหน้านี้สะท้อนความต้องการของบริษัทในประเทศไทยจำนวนมากที่ไม่ชอบคอร์รัปชัน และอยากเห็นวัฒนธรรมการทำธุรกิจที่สะอาดโปร่งใสเกิดขึ้นในประเทศ เพื่ออนาคตของเศรษฐกิจ และเพื่อความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจในประเทศไทย
ปีนี้การตอบรับต่อการสัมมนาในวันพฤหัสที่จะถึงนี้ดีมาก ทั้งวิทยากรที่โครงการ CAC ได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงสุดของหน่วยงานที่รับผิดชอบการต่อต้านการทุจริตในทั้งสามภาคของประเทศที่จะกล่าวปาฐกถาพิเศษ คือ ภาครัฐโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณสมหมาย ภาษี ภาคราชการโดยคุณปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และภาคเอกชนและประชาสังคม โดยคุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) วิทยากรจากต่างประเทศที่จะมาร่วมงานก็มาก ซึ่งไฮไลต์ ก็คือ ปาฐกถาพิเศษของ Dr. Samual Paul จากเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ผู้ที่มีบทบาทสูงในการสร้างระบบประเมินการให้บริการของหน่วยงานรัฐโดยภาคประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งประสบความสำเร็จมาก และเป็นต้นแบบให้หลายประเทศนำไปใช้
สำหรับการสัมมนา ปีนี้จะมีสามหัวข้อ คือ ประสบการณ์และแนวคิดใหม่ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในภาคเช้า โดยวิทยากรจากไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงบ่ายก็จะมีการเสวนาในสองเรื่อง คือ บทบาทบริษัทเอกชนในการต่อต้านการทุจริต และบทบาทประชาชนในการต่อต้านการทุจริต จบด้วยปาฐกถาพิเศษในช่วงเย็นจากผู้บริหารจากองค์กร CIPE สหรัฐอเมริกาที่ให้การสนับสนุนโครงการ CAC มาตลอดตั้งแต่เริ่มต้น ปีนี้การจัดงานได้รับการสนับสนุนอย่างอบอุ่นจากภาคเอกชน โดยมีผู้สนับสนุน 31 บริษัท
สถาบัน IOD ได้ทำหน้าที่เลขานุการขับเคลื่อนโครงการ CAC มาตั้งแต่ต้นโดย IOD มองว่าพันธกิจของโครงการ CAC ที่ IOD ทำขณะนี้ก็คือการผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้เกิดขึ้นจริงในภาคปฏิบัติ เพราะคอร์รัปชันก็คือความบกพร่องในการกำกับดูแลกิจการ และคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายสูงสุดของบริษัทมีหน้าที่โดยตรงที่จะกำหนดนโยบายให้บริษัททำธุรกิจสะอาด ไม่มีคอร์รัปชัน โดยมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้บริษัทจะทำธุรกิจโดยไม่มีพฤติกรรมคอร์รัปชัน อันนี้เป็นนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทเลือกได้และควรต้องทำ เพราะถ้าบริษัทเอกชนเลือกที่จะทำแบบนี้กันมากๆ โอกาสที่เราจะเห็นการเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำธุรกิจของบริษัทเอกชนไม่เอาด้วยกับคอร์รัปชันก็จะมีมาก ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของประเทศโดยปริยาย
การต่อสู้คอร์รัปชันเป็นการเดินทางไกล ที่ต้องเดินทางเพื่อความอยู่รอดของประเทศ ขณะนี้จากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เราเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ก็อยากเชิญชวนให้บริษัทเอกชนมาร่วมงาน มาหาความรู้ รับทราบในความก้าวหน้าและบทบาทที่บริษัทเอกชนสามารถทำได้ในการต่อต้านการทุจริต พร้อมร่วมผลักดันโครงการ CAC และให้แสงสว่างปลายอุโมงค์ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้น จนเกิดเป็นกำลังใจและความหวังที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศ
พบกันวันพฤหัสนี้ครับ