ซีจีประเทศไทยน่าพอใจแต่ต้องปรับปรุง
ปัญหาคอร์รัปชันของไทยรุนแรง ดูแล้วน่าหดหู่ใจ และจำเป็นต้องแก้ไข
เดือนที่ผ่านมามีการแถลงผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการภาคเอกชนไทย โดยสองหน่วยงาน คือ สมาคมบรรษัทภิบาลเอเชีย หรือ Asian Corporate Governance Association ที่ฮ่องกงที่แถลงผลประเมินของโครงการ CG Watch ปี 2014 ซึ่งเปรียบเทียบการกำกับดูแลกิจการของ 11 ประเทศในเอเชีย โดยเน้นการกำกับดูแลกิจการในตลาดทุน หน่วยงานที่สองคือ สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี (IOD) ที่แถลงผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนปี 2557 ซึ่งเป็นการสำรวจประจำปี ผลประเมินทั้งสองสถาบันแสดงการกำกับดูแลกิจการในภาคเอกชนไทยที่น่าพอใจ แต่แม้ผลประเมินปีนี้จะน่าพอใจ ก็มีประเด็นที่ยังต้องปรับปรุงอีกมาก นี่คือเรื่องที่จะเขียนวันนี้ โดยจะเขียนเฉพาะผลประเมินของ CG Watch เพราะผลสำรวจของ IOD ได้มีการแถลงข่าวไปแล้ว
รายงาน CG Watch เป็นการประเมินการกำกับดูแลกิจการในตลาดทุนของประเทศในเอเชีย ที่เจาะลึกในสี่ประเด็น คือ กฎระเบียบการกำกับดูแลและการปฏิบัติ การบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) การเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลการเงิน และวัฒนธรรมซีจี การประเมิน CG Watch จะทำทุกสองปี ประเมินทั้งหมด 11 ประเทศคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไทย มาเลเซีย ไต้หวัน อินเดีย เกาหลีใต้ จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นการประเมินของภาคเอกชน ที่ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2001 เฉพาะในประเด็นด้านการกำกับดูแลกิจการหรือธรรมาภิบาล ผลประเมินของ CG Watch จึงเป็นที่ติดตามของตลาดและนักลงทุน
ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ CG Watch ประเมินมาตั้งแต่ปี 2001 และคะแนนก็ปรับดีขึ้นมาตลอด โดยปี 2007 คะแนนของไทยอยู่ที่ 47 จากเต็มร้อย และอยู่อันดับแปดจากสิบเอ็ดประเทศ จากนั้นคะแนนก็ดีขึ้นเป็น 55 ปี 2010 และ 58 ในปี 2012 โดยเพิ่มเป็นอันดับสี่ปี 2010 และอันดับสามในปี 2012 ปัจจัยที่ทำให้คะแนนของไทยดีขึ้นตลอดก็คือ หมวดการเปิดเผยข้อมูล และหมวดกฎระเบียบและการปฏิบัติ เพราะบริษัทไทยได้เริ่มการพัฒนาด้านซีจีมาพอสมควร กระตุ้นโดยการสำรวจของ IOD ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2001 และในปี 2012 CG Watch ได้แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันของไทยที่รุนแรงขึ้น ที่อาจกระทบคุณภาพการกำกับดูแลในภาคเอกชน
ปีนี้คะแนนของประเทศไทยยังอยู่ที่ 58 เหมือนปี 2010 ชี้ว่ามาตรฐานการกำกับดูแลกิจการไม่ได้หย่อนลง แต่อันดับของไทยได้ลดลงเป็นที่สี่ โดยญี่ปุ่นปรับขึ้นเป็นอันดับสามเพราะคะแนนประเมินเพิ่มเป็น 60 ปีนี้ ในภาพรวมคะแนนประเมินของประเทศในเอเชียทั้งกลุ่มปีนี้ลดลง คะแนนของฮ่องกง สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ลดลง เทียบกับญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ที่คะแนนดีขึ้น ส่วนไทย เกาหลีใต้ และจีน คงที่ ดังนั้น คะแนนของไทยที่ไม่ได้ลดลงต้องถือว่าน่าพอใจ ในกระแสที่ความสนใจเรื่องธรรมาภิบาลมีมากขึ้นในเอเชีย
ในรายละเอียด คะแนนของไทยในหมวดการบังคับใช้กฎหมาย หรือ Enforcement ดีขึ้นจากสองปีก่อน สะท้อนบทบาทที่สูงขึ้นของหน่วยงานกำกับดูแล โดยเฉพาะ ก.ล.ต.ในการดำเนินการกับผู้กระทำผิด และมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ร่วมตลาด ทั้งจำนวนและประเภทความผิดต่างๆ ทำให้การเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานกำกับดูแลไทยในเรื่องนี้อยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชีย หมวดนี้คะแนนของไทยดีขึ้นจาก 44 เป็น 51 ปีนี้
แต่หมวดที่คะแนนลดลงก็คือ ภาวะแวดล้อมในการออกกฎหมาย และด้านการเมืองที่คะแนนลดลงจาก 54 เป็น 48 ปีนี้ สวนทางกับหมวดการบังคับใช้กฎหมาย การลดลงสะท้อนการขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล ในการผลักดันการออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการภาคเอกชนสามารถทำได้มากขึ้น เช่น แก้ไข กฎหมาย ก.ล.ต. และกฎหมายมหาชน ที่มีประเด็นที่ต้องแก้ไขค้างอยู่มาก เช่น การคุ้มครองนักลงทุน ในส่วนกฎหมายมหาชน ประเด็นที่รอแก้ไขก็คือ การคุ้มครองสิทธิผู้ถือหุ้น ในกรณีที่บริษัทมีการตัดสินใจทางธุรกิจที่สำคัญ การแก้ไขวิธีการออกเสียงในการประชุมสามัญของผู้ถือหุ้น สิ่งเหล่านี้ส่วนราชการที่รับผิดชอบ ได้เริ่มกระบวนการแก้ไขกฎหมาย และรับฟังคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าการแก้ไขกฎหมายจะเกิดขึ้นได้จริงเมื่อไร
ประเด็นเรื่องคอร์รัปชันและการเมืองในประเทศยังเป็นจุดห่วงของนักลงทุน การจัดอันดับประเทศไทยที่แย่ลงมากด้านภาพลักษณ์คอร์รัปชันจากอันดับ 88 ปี 2012 เป็นอันดับ 102 ปี 2013 ชี้ว่าปัญหาคอร์รัปชันของไทยรุนแรง ดูแล้วน่าหดหู่ใจ และจำเป็นต้องแก้ไข “This is deeply depressing and unsustainable.” แต่ความพยายามต่างๆ ดูไม่เกิดผล นอกจากนี้บทบาทของรัฐบาลที่จะเร่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันก็ไม่ชัดเจนจากท่าทีต่างๆ ที่ออกมา เช่น ไม่เพิ่มงบประมาณให้กับคณะกรรมการ ปชป. ในการทำหน้าที่ (ทีม CG Watch เข้ามาประเมินในช่วงรัฐบาลที่แล้วก่อนจะมีการปฏิวัติ)
ในประเด็นกฎระเบียบด้านซีจี ความโปร่งใส และวัฒนธรรมซีจี คะแนนของไทยไม่ได้เปลี่ยนจากคราวก่อน เฉพาะหมวดวัฒนธรรมซีจีแม้คะแนนยังคงเดิมที่ 50 แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีหลายด้าน เช่น รายงานของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น มีการประเมินการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ขณะที่กรรมการของบริษัทจดทะเบียนก็พร้อมที่จะพบปะ และตอบคำถามกับนักลงทุนสถาบันมากขึ้น นอกจากนี้ความพร้อมของบริษัทจดทะเบียนที่จะเปิดเผยข้อมูลค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารก็เป็นแนวโน้มที่ดี
อีกประเด็นที่เด่นก็คือความร่วมมือที่จะสนับสนุนการพัฒนาซีจีโดยภาคเอกชน เช่น กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่ให้ความสำคัญเรื่องการออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้น (Proxy voting guidelines) นอกจากนี้ก็มีแนวโน้มที่ดีในประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท และการต่อต้านการทุจริต อีกประเด็นที่ CG Watch พูดถึงก็คือ การทำงานร่วมกันใกล้ชิดของหน่วยงานกำกับดูแล คือ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ ในการพัฒนาธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่หายากเมื่อเทียบกับหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศอื่น
แต่ภายใต้ผลประเมินที่น่าพอใจ CG Watch ก็มองว่าการกำกับดูแลกิจการในประเทศไทยยังมีประเด็นที่ต้องพัฒนาอีก ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD ที่ได้แถลงข่าวไป ในการแถลงผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนปี 2014 เดือนที่แล้ว โดยประเด็นที่ต้องปรับปรุงต่อก็เช่น
หนึ่ง ลดความแตกต่างในการกำกับดูแลกิจการระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ความท้าทายของเราคือ การผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและขนาดเล็ก เห็นประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส เช่น เรื่องโครงสร้างกรรมการ มูลค่าบริษัท ข้อมูลการเงิน และไม่ใช่การเงิน มีการรายงานข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นระบบ สิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงมาตรฐานการกำกับดูแลของบริษัทจดทะเบียนไทยทั้งระบบให้สูงขึ้น
สอง การนำนโยบายและแนวปฏิบัติที่บริษัทมีไปปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดผลด้านธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเด็นการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย อันนี้คือเรื่องการทำจริงไม่ใช่ฟอร์ม
สาม ธรรมาภิบาลภาคเอกชนจะดีขึ้นต่อเนื่องไม่ได้ ถ้าภาครัฐไม่ผลักดันแก้ไขธรรมาภิบาลภาครัฐให้ดีขึ้น ประเด็นนี้สะท้อนจากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันที่แย่ลงต่อเนื่อง ขณะที่ซีจีของภาคเอกชนดีขึ้นและน่าพอใจ ซึ่งหมายถึงธรรมาภิบาลในภาครัฐที่เสื่อมลง ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่ต้องปฏิรูปเรื่องนี้อย่างจริงจัง