เอกชนมองคอร์รัปชันไม่ทุเลา เพราะปัญหาอยู่ที่ภาครัฐ

เอกชนมองคอร์รัปชันไม่ทุเลา เพราะปัญหาอยู่ที่ภาครัฐ

เดือนม.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC ได้เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชน

เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งทางโครงการ CAC ได้ทำการสำรวจในช่วงเดือนต.ค.ถึงพ.ย.ปีที่แล้ว ในรูปการสำรวจย่อย หรือ Tracking Survey โดยมีผู้บริหารและกรรมการบริษัทที่เป็นสมาชิกโครงการ CAC และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 425 คนร่วมให้ความเห็น ผลที่ออกมาชี้ว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ในความเห็นของผู้บริหารส่วนใหญ่ยังไม่ดีขึ้นชัดเจน แม้ปีที่แล้วจะเป็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และสามารถบรรเทาความรุนแรงของปัญหาได้บางจุด แต่ภาคธุรกิจก็ยังหวังที่จะเห็นโมเมนตั้มการแก้ไขปัญหาเดินหน้าต่ออย่างเข้มแข็ง และมองไปที่บริษัทเอกชนว่าควรมีบทบาทมากขึ้นกว่าปัจจุบันในการร่วมผลักดันการแก้ปัญหา นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ประเทศไทยมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงมากขึ้นตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเทียบกับประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน และเทียบกับภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ล่าสุดองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศในรายงานประจำปี 2014 ที่เผยแพร่ปลายปีที่แล้ว ให้อันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยในอันดับที่ 85 จาก 175 ประเทศทั่วโลก แม้อันดับ 85 จะดีกว่าอันดับ 102 ที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับปี 2013 แต่โดยเปรียบเทียบ ในสายตานักลงทุน ปัญหาคอร์รัปชันของไทยยังดูแย่กว่าหลายประเทศในเอเชียด้วยกัน เช่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา มองโกเลีย มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ไม่นับประเทศก็ถูกจัดให้อยู่ในระดับหัวแถวของประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันน้อย เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ภูฏาน และไต้หวัน

การสำรวจของโครงการ CAC ทำในช่วงไตรมาสสี่ปีที่แล้ว คือประมาณห้าเดือนหลังการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งให้ข้อสรุปที่สอดคล้องว่า แม้เอกชนจะมองว่าปัญหาคอร์รัปชันในบางจุด มีพัฒนาการดีขึ้นจากที่รัฐบาลได้เจาะแก้ไขปัญหาทันที เช่น กรณีใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม แต่พัฒนาการที่ดีขึ้นไม่ได้สะท้อนเป็นภาพรวมของประเทศอย่างชัดเจน โดยร้อยละ 39.7 ของนักธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามเห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาแย่ลง ร้อยละ 25.1 มองว่าปัญหาคอร์รัปชันคงที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 31 มองว่าปัญหาดีขึ้นเล็กน้อยและร้อยละ 2.5 มองว่าปัญหาดีขึ้นมาก ความเห็นที่แตกต่างนี้ โดยตัวเองเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี เทียบกับอดีตที่ทุกคนมองปัญหาแย่ลงหมด แต่ในภาพรวม ผู้บริหารธุรกิจส่วนใหญ่ยังมองว่าปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้ดีขึ้นหรือทุเลาลง

ผู้บริหารที่มองว่าปัญหาเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นจะให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา (ร้อยละ 44.9) อีกร้อยละ 44.7 ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายว่าเป็นตัวขับเคลื่อนแนวโน้มที่ดีขึ้น ขณะที่ผู้ที่มองว่า ปัญหาคอร์รัปชันแย่ลงเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหา (ร้อยละ 48.9) และอีกร้อยละ 40.9 ชี้ไปที่กระบวนการให้บริการของภาครัฐที่ขาดประสิทธิภาพ ขาดความโปร่งใส และเปิดช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ง่าย ความเห็นที่แตกต่างนี้ชี้ว่า ในจุดที่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมผลักดันให้มีการแก้ไข และรัฐบาลตอบสนองทันที ปัญหาก็จะทุเลาลง แต่ในจุดที่ไม่มีการผลักดัน หรือรัฐไม่ตอบสนอง ปัญหาก็จะเหมือนเดิมหรือแย่ลง

ในการแก้ไขปัญหา นักธุรกิจมองว่าภาคเอกชนควรมีบทบาทสูงขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้าในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (ร้อยละ 78) และนักธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 75 ก็มีความพร้อมมากถึงมากที่สุดที่จะผลักดันให้เกิดการต่อต้านการทุจริตที่เป็นระบบภายในบริษัทหรือองค์กรของตน ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่บริษัทเอกชนตื่นตัวและมีความพร้อมที่จะร่วมแก้ไขปัญหา ทั้งการร่วมตรวจสอบในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ร่วมมือแจ้งเบาะแสพฤติกรรมคอร์รัปชันโดยอยากให้มีช่องทางรับเรื่องเพื่อเป็นข้อมูลชี้วัดจุดในระบบราชการที่มีการทุจริตมากเพื่อแก้ปัญหา นอกจากนี้ก็อยากให้มีการให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทที่มีนโยบายต่อต้านการทุจริตชัดเจนและไม่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน เพื่อสนับสนุนบริษัทที่มุ่งมั่นและทำได้ดีในเรื่องการต่อต้านการทุจริต

ขณะที่ผลสำรวจชี้ว่า ภาคเอกชน มีความพร้อมที่จะมีร่วมแก้ไขปัญหา แต่ข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ออกมาใกล้เคียงกัน ก็ชี้เสริมว่าปัญหาใหญ่ของประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่การทำงานของภาครัฐ ที่ระบบราชการไทยดูจะไม่กระตือรือร้นในความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อร่วมสนองนโยบายรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหา ทั้งในแง่การทุจริตคอร์รัปชัน การบริหารจัดการของระบบราชการเอง ด้านธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในการทำหน้าที่ และการสร้างเสถียรภาพให้กับบรรยากาศการทำธุรกิจในประเทศ ข้อจำกัดเหล่านี้สรุปชัดเจนในรายงานล่าสุดขององค์กร World Economic Forum ที่เผยแพร่ปลายปีที่แล้ว ในเอกสารรายงานความสามารถในการแข่งขันโลก หรือ The Global Competitiveness Report 2014-15 ที่นักธุรกิจต่างประเทศมองคอร์รัปชันว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจในประเทศ (Most Problematic) โดยร้อยละ 21.4 ของนักธุรกิจที่ให้ความเห็นมองคอร์รัปชันว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดอันดับหนึ่งของการทำธุรกิจในประเทศไทย และชี้ไปที่บทบาทการทำหน้าที่และธรรมาภิบาลของภาครัฐไทยว่าเป็นปัญหา

โดยสรุปปัญหาที่เป็นข้อจำกัดต่อการทำธุรกิจในประเทศไทย ในสายตานักธุรกิจต่างประเทศ คือ หนึ่ง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน (ร้อยละ 21.4) สอง ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลและการปฏิวัติรัฐประหาร (ร้อยละ 21) สาม ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ (ร้อยละ 12.7) สี่ ความไม่เสถียรของนโยบายภาครัฐ (ร้อยละ 6.3) และห้า ประเด็นด้านภาษีอากรทั้งอัตราและกฎระเบียบ (ร้อยละ 5) ทั้งห้าปัญหานี้รวมกันแล้วมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 98 ของปัญหาทั้งหมดของการทำธุรกิจในประเทศไทยที่นักธุรกิจพูดถึง ซึ่งทั้งห้าปัญหานี้ทั้งหมดชี้ไปที่บทบาทการทำหน้าที่ และประสิทธิภาพของระบบราชการ

ทำไมในสายตานักธุรกิจต่างประเทศ ภาครัฐของไทยได้ถูกมองเป็นปัญหาต่อการทำธุรกิจในประเทศมากกว่าที่จะเป็นตัวแก้ปัญหา หรือเป็นกลไกสนับสนุนการทำธุรกิจหรือเศรษฐกิจ อย่างที่เราเข้าใจหรืออยากเห็น คำตอบง่ายๆ ก็คือ ถึงแม้ข้าราชการส่วนมากจะเป็นคนที่มีความสามารถ และตั้งใจดี แต่วิธีการทำงานของภาครัฐไทยปัจจุบัน ทั้งเรื่องระบบงาน ประสิทธิภาพการทำหน้าที่ และคุณภาพการทำนโยบาย (ซึ่งรวมถึงฝ่ายการเมือง) ต้องพูดตามข้อเท็จจริงขณะนี้ว่าล้าสมัย ดูไม่จริงจัง และตามไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจการค้าโลก ขณะที่ระบบราชการเองก็ได้เติบโตจนกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ ที่ยากจะเปลี่ยนแปลง ทั้งในมติความคิด (Mindset) วิธีการทำงาน รวมถึงความจริงจังในการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม สะท้อนได้ชัดเจนจากปัญหาต่างๆ ที่ประเทศมีมาก และการทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการที่เป็นปัญหารุนแรง ที่ต้องตระหนักก็คือ การทำหน้าที่แบบเดิมๆ ของราชการไทย ในสไตล์คิดเร็ว พิธีกรรมมาก แต่ทำจริงน้อย ได้กลายเป็นต้นทุนและค่าเสียโอกาสที่สำคัญต่อประเทศ ทำให้ภาคเอกชนเท่าที่สัมผัสขณะนี้ ไม่ได้หวังอะไรมากจากการปฏิรูปที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังพยายามผลักดัน เพราะกลัวว่าไม่ว่าเอกสารปฏิรูปจะออกมาดีอย่างไร ภาคราชการไทยคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปที่ควรเกิดขึ้น

ในลักษณะนี้ จึงไม่แปลกใจที่ผลการสำรวจชี้ว่าปัญหาคอร์รัปชันของประเทศยังไม่ทุเลา เพราะกลไกสำคัญที่ควรร่วมแก้ไขปัญหายังไม่ทำงาน ดังนั้น โจทย์ใหญ่ที่สุดและสำคัญจริงๆ ของการปฏิรูปประเทศคราวนี้อาจมีเพียงโจทย์เดียว คือปฏิรูป และรื้อระบบราชการ เพื่อให้ประเทศมีกลไกภาครัฐที่เล็กลง เข้มแข็ง ทันสมัยและมีประสิทธิภาพที่จะปลดล็อกการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศให้เกิดขึ้นจริงจัง เพื่ออนาคตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็อยากให้รัฐบาลคิดในเรื่องนี้ให้มาก