จะปฏิรูปจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างไรเพื่อลดโกง

จะปฏิรูปจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างไรเพื่อลดโกง

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นกิจกรรมที่อ่อนไหวมากต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ล่าสุดผลการสำรวจความเห็นนักธุรกิจไทยโดยสถาบันไอโอดีก็ยืนยันประเด็นนี้

แต่ละปีรัฐบาลไทยจะใช้จ่ายเพื่อการจัดซื้อจัดจ้าง กว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณแผ่นดิน เป็นวงเงินประมาณ 10 - 20 ของรายได้ประชาชาติ เงินเหล่านี้รัฐบาลต้องจัดซื้อจัดจ้างผ่านบริษัทเอกชน การทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อเกิดขึ้นจึงเป็นพฤติกรรมร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทเอกชน โดยแต่เดิมการโกงมักมีเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตเป็นผู้เรียก และบริษัทเอกชนที่อยากได้งานเป็นผู้ให้ แต่ปัจจุบันการทุจริตได้พัฒนาขึ้นมาเป็นระบบ โดยข้าราชการที่พร้อมทุจริตและบริษัทเอกชนที่พร้อมทำผิดกฎหมาย ร่วมมือกันโกงอย่างเป็นขบวนการ ทำให้ หนึ่ง รัฐต้องซื้อของแพงในราคาที่เกินความเป็นจริงมาก สอง รัฐซื้อของ แต่ไม่ได้ของตรงตามคุณภาพที่ต้องการ เช่น ได้ของที่ไม่สามารถใช้งานได้ สาม รัฐหาของที่ซื้อไม่เจอเพราะไม่ได้มีการซื้อจริง มีแต่เอกสารจัดซื้อจัดจ้างที่แสดงขั้นตอนทุกอย่างครบถ้วนตามระเบียบ แต่ไม่มีของ ทั้งหมดคือการโกงที่เกิดจากการมองว่าเงินหลวงไม่มีเจ้าของ และการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ


ในลักษณะนี้การทุจริตจึงเปรียบเสมือนอาชญากรรมจัดตั้ง โดยบุคคลในฝ่ายการเมือง บริษัทเอกชน และข้าราชการร่วมกันโกง โดยต่างคนต่างมีหน้าที่ในกระบวนการโกง หน้าที่คนจากฝ่ายการเมืองที่ร่วมโกงก็คือ ผลักดันให้เกิดงบประมาณ ทำการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดขึ้น และปกป้องดูแลระบบโกงทั้งดูแลข้าราชการที่เป็นพวกให้อยู่ในตำแหน่งที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและช่วยเหลือกรณีที่ถูกจับได้ ฝ่ายข้าราชการประจำที่โกงก็มีหน้าที่ดูแลให้การจัดซื้อจัดจ้างเกิดขึ้น ในรูปแบบที่จะเป็นประโยชน์ต่อการโกง ต่อสู้ทุกรูปแบบเพื่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบที่ตนเองต้องการ และดูแลให้การโกงเป็นไปตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ดูแล้วครบถ้วนตามขั้นตอนของระเบียบราชการ รวมถึงเตรียมเครือข่ายข้าราชการด้วยกันที่จะร่วมโกง เพื่อเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ต้องมีตามระเบียบ ทำให้ตามเอกสารทุกอย่างจะดูครบถ้วนตามขั้นตอน มีลายเซ็นครบถ้วน และมีตัวมีตน สำหรับบริษัทเอกชนที่ร่วมมือ หน้าที่หลักก็คือ ชงเรื่อง ช่วยคิด ออกทุนและจัดหาสินค้าที่ตรงกับสเปก (โกง) ที่ได้ตกลงกัน พร้อมหาบริษัทเครือข่ายมาร่วมการประมูลให้ครบถ้วนตามข้อบังคับ โดยในทุกประเภทของการใช้จ่ายที่โกง จะมี "เจ้าของพื้นที่" เป็นผู้จัดสรรประโยชน์ว่างานไหนใครจะได้ และจะแบ่งกันอย่างไร


นี้คือการโกงเป็นระบบ ที่ประเทศเรากำลังประสบอยู่ เป็นอาชญากรรมจัดตั้ง ที่มีการดำเนินการเป็นขบวนการ แม้ไม่มีใครบอกได้ว่าจำนวนคนในกลุ่มโกงเหล่านี้ ทั้งประเทศในภาครัฐและเอกชนมีเท่าไร แต่ก็ชัดเจนว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างให้สำเร็จ การแก้ไขต้องทำให้คนเหล่านี้หลุดออกจากระบบการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศอย่างถาวร โดยจับกุมจริงและลงโทษจริง และวางระบบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ เพื่อไม่ให้พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้อีก


มีหลายประเทศที่เคยมีปัญหาแบบเรา แต่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำก็คือ เรียนจากความสำเร็จเหล่านี้ และนำสิ่งที่เขาทำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น


หนึ่ง ประเทศต้องมีกรอบกฎหมายชัดเจน ที่จะกำหนดวิธีการและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรฐานสากล ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งประเทศ พร้อมกับมีบทลงโทษของการไม่ทำตามกฎหมาย ปัจจุบันระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของเราค่อนข้างกระจัดกระจาย ไม่เป็นมาตรฐาน คือหน่วยงานราชการภาครัฐก็มีระเบียบสำนักนายกฯดูแลการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่องค์กรท้องถิ่นก็มีระเบียบอีกอย่าง เพราะรัฐวิสาหกิจก็มีระเบียบของรัฐวิสาหกิจเอง ทั้งที่ทั้งหมดเป็นการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ควรอยู่ในระบบและมาตรฐานเดียวกัน และเมื่อมีหลายมาตรฐาน ก็เปิดโอกาสให้การทุจริตเกิดขึ้น รวมถึงการเอาผิดลงโทษ ก็จะแตกต่าง ดังนั้น สิ่งที่ควรพิจารณาสำหรับประเทศที่มีจัดซื้อจัดจ้างในขนาดที่มากอย่างประเทศไทย ก็คือ มีกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างที่จะวางมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างให้ได้ตามมาตรฐานสากล ที่ใช้เป็นการทั่วไปเหมือนกันหมดในทุกหน่วยงานภาครัฐ และมีระบบติดตามประเมินผลและลงโทษเท่าเทียมกันทุกกรณี ในแง่นี้ร่าง พรบ. การจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่กำลังดำเนินการอยู่จึงมีความจำเป็น


สอง มีองค์กรกลางทำหน้าที่ติดตาม และดูแลการจัดซื้อจัดจ้างทั่วประเทศให้เป็นไปตามกฎหมายหรือ พรบ. จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ โดยองค์กรนี้จะเป็นผู้กำหนดนโยบายและตรวจสอบติดตามการจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับกฎหมาย รวมถึงพัฒนากลไกด้านธรรมาภิบาลที่จะกำกับดูแลและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ เช่น การเปิดเผยข้อมูล และการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของผู้ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในส่วนของภาครัฐ ที่สำคัญองค์กรนี้จะดึงอำนาจการตรวจสอบและสอบสวน การกระทำผิดที่เกิดขึ้นในการจัดซื้อจัดจ้าง ออกจากหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้างเช่นในปัจจุบัน เพื่อให้การสอบสวนและลงโทษกรณีทุจริต ไม่ถูกแทรกแซงและอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน


สาม พัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้ใช้ระบบ E - Procurement หรือ ระบบ Online ให้มากที่สุด ลดการติดต่อตรงหรือพบกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจที่อาจลำเอียง ไม่เที่ยงตรง ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดจากการติดต่อราชการและการจัดซื้อจัดจ้าง โดยหันมาใช้ระบบ Online หมด เพื่อลดช่องทางการทุจริตคอร์รัปชัน


สี่ การเอาผิดลงโทษผู้ที่โกง ต้องมีกลไกที่สามารถทำได้เร็วและเห็นผลทันที ซึ่งในรูปแบบที่กำลังพูดถึงนี้ องค์กรกลางจะทำหน้าที่ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างทั้งประเทศ รวมถึงสอบสวนและชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ส่งต่อให้กับกระบวนการยุติธรรม แต่เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม ควรต้องมีกระบวนการพิเศษที่สามารถฟ้องร้องได้เร็ว ตัดสิน และลงโทษจำคุกได้เร็ว เช่น กรณีประเทศอินโดนีเซีย ที่มีศาลและระบบยุติธรรมเพื่อปราบปรามคอร์รัปชันเป็นการเฉพาะ


ห้า ภาคประชาชนต้องมีบทบาทและมีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกันการทุจริตทั้งในแง่การให้ข้อมูล และแจ้งเบาะแส ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ในการทำหน้าที่ดังกล่าวในฐานะพลเมือง และข้าราชการที่ดี เช่น ประเทศเกาหลีใต้ที่มีกฎหมายคุ้มครองชัดเจน นอกจากนี้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก็ควรเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนสามารถเข้าร่วมรับรู้ และร่วมตรวจสอบได้ เช่น เป็นผู้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการในสัญญาคุณธรรม รวมถึง มีระบบเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถทราบถึงการจัดซื้อจัดจ้างที่จะเกิดขึ้นในท้องถิ่นตน เพื่อให้สามารถให้ข้อมูลกับภาครัฐว่าการจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นตนนั้น มีความผิดปรกติหรือไม่ คือมีประชาชนเป็นหูเป็นตาให้กับทางการ สอดส่องดูแลการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น การก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามสเปก


หก มีหลักเกณฑ์กำหนดให้บริษัทที่จะเข้ามาเป็นผู้ค้าขายกับหน่วยงานราชการต้องเป็นบริษัทที่มีนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่ชัดเจน พร้อมมีระบบภายในสนับสนุนพฤติกรรมไม่คอร์รัปชันในการทำธุรกิจที่มีการปฏิบัติจริง นอกจากนี้ บริษัทต้องไม่มีประวัติเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน และมีประวัติการทำธุรกิจที่นานพอ เพื่อลดการจัดตั้งบริษัทใหม่ให้เข้ามาร่วมประมูลเพื่อการโกง


เจ็ด บุคลากรที่จะเข้ามาร่วมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งในภาครัฐและเอกชน ต้องเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการจัดซื้อจัดจ้าง แบบเป็นวิชาชีพเหมือนต่างประเทศ เพื่อให้มีเกณฑ์ทำงานตามมาตรฐานสากล มีประกาศนียบัตรวิชาชีพรับรอง ซึ่งถ้าบุคลากรประเภทนี้สามารถเข้ามาอยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มาก โอกาสการเกิดคอร์รัปชันก็จะลดลง


เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องทำ และเป็นสิ่งที่ขณะนี้เราไม่มี เราก็ต้องพร้อมที่จะปฏิรูปกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เหมือนที่ต่างประเทศทำ เพื่อหยุดความเสียหาย