บาป 7 ประการที่ทำให้ลูกน้องไม่ชอบหัวหน้า
ใครๆที่ทำหน้าที่หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาทีมงานย่อมอยากเป็นที่เคารพรักของลูกน้องกันแทบทั้งนั้น
แม้ว่าบางคนอาจจะปากแข็งบอกว่า “ฉันไม่แคร์หรอกว่าลูกน้องจะรักฉันหรือไม่ ขอให้ทำงานตามที่ฉันต้องการได้ครบถ้วนไม่ผิดพลาดก็พอแล้ว ไม่ต้องมารักฉันหรอก” นั่นมันก็จริงอยู่ แต่ต้องไม่ลืมว่าคนเราโดยมากมักจะเต็มใจทำอะไรให้ใครอย่างเต็มที่ หรือทำเกินหน้าที่ก็เพราะต้องมีความชอบเป็นทุนอยู่บ้าง ถ้าหากลูกน้องมีความเคารพชอบพอ (โดยไม่ถึงกับต้องรักก็ได้)ในตัวหัวหน้าอยู่บ้าง งานย่อมเดินไปได้ด้วยดี ลูกน้องจะเต็มใจทำงานให้ ช่วยเป็นหูเป็นตาให้เวลาหัวหน้าหลงลืมสะเพร่าในบางครั้ง เวลาที่หัวหน้าพลาดก็จะมีคนคอยช่วยคอยเตือน แต่ถ้าลูกน้องไม่ชอบหัวหน้าเขาก็จะไม่เตือน เผลอๆยังอาจแกล้งท่านก็ได้เวลาเผลอ ทางที่ดีคนที่เป็นหัวหน้าจึงควรศึกษาหลักการบริหารและหลักจิตวิทยาที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับลูกน้องไว้ให้แน่นแฟ้นจะดีกว่า ได้ประโยชน์กับตนเอง กับลูกน้อง และความเจริญก้าวหน้าโดยรวมขององค์กรด้วย
ทีนี้เรามาดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่หัวหน้าอาจทำให้ลูกน้องไม่พอใจกันค่ะ
ประการแรก หัวหน้าสนใจแต่งาน งาน งานจนละเลยที่จะทำความรู้จักกับลูกน้องเป็นการส่วนตัว หัวหน้าบางคนสนใจแต่งานจริงๆ ในสายตาของเขาลูกน้องคือเครื่องมือในการทำงานที่ช่วยให้งานเสร็จ เขาไม่สนใจแม้แต่จะจำว่าลูกน้องแต่ละคนชื่ออะไร มีครอบครัวรึยัง ลูกหลานเรียนอยู่หรือจบการศึกษาแล้ว ถามว่าหัวหน้าเป็นคนไม่ดีหรือทำผิดหรือเปล่า ก็ไม่ผิดหรอกนะคะ แต่เข้าเรียกว่าเป็นคนที่ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ ลำพังคุยแต่เรื่องงานกับลูกน้องเหมือนเขาเป็นเพียงเครื่องจักรที่จะทำงานให้ท่านแบบนี้มันก็แห้งแล้ง ขาดมิตรจิตมิตรใจ พนักงานไม่ใช่หุ่นยนต์ เขามาทำงานก็จริง แต่ชีวิตในที่ทำงานก็เป็นสังคมๆหนึ่งที่เขาใช้เวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของเวลาที่มีในแต่ละวัน เวลาในองค์กรจึงเป็นเวลาที่มีอิทธิพลต่อจิตใจและชีวิตของพนักงานแต่ละคนอย่างมีนัยสำคัญ หากองค์กรมีหัวหน้างานที่มีมิตรจิตมิตรใจ ดูแลสารทุกข์สุกดิบของพนักงานดี โดยที่ไม่จำเป็นว่าหัวหน้าจะต้องสามารถช่วยเขาได้ในทุกเรื่อง แค่ขอให้เป็นคนที่เขาปรึกษาหารือได้ ขอคำแนะนำได้ มีความเข้าใจและเห็นใจในตัวเขา เขาก็รู้สึกดีๆแล้วละค่ะจากการสำรวจเรื่องความพึงพอใจในงานของพนักงานจากหลายสถาบันต่างก็ค้นพบว่า การมีสัมพันธภาพที่ดีกับหัวหน้างานเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จูงใจให้พนักงานมีความผูกพันกับองค์กร (Employee engagement) และทำให้พนักงานมีผลงานที่ดีขึ้น
ประการที่สอง หัวหน้าที่ไม่สามารถกำหนดทิศทางในการทำงานที่ชัดเจน (Clear goals) ให้แก่ลูกน้องได้ จะว่าไปเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตัดสินความสามารถในการเป็นหัวหน้างานได้อย่างชัดเจน ใครสอบตกข้อนี้เห็นทีจะไปไม่รอดแน่ ถ้าลูกน้องไม่รู้ว่างานที่เขาต้องทำนี้ ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด ก็เหมือนเดินเรือล่องไปเรื่อยๆอย่างไม่มีจุดหมาย ไม่มีลูกน้องคนไหนที่หวังความก้าวหน้าในชีวิตอยากทำงานกับหัวหน้าที่ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหนแน่นอน เชิญหัวหน้าล่องลอยไร้จุดหมายไปคนเดียวละกันและสำหรับหัวหน้าที่สามารถกำหนดเป้าหมายในการทำงานได้ชัดเจน ก็มีข้อควรระวังว่าอย่าเข้มเคร่งครัดในเรื่องเป้าประสงค์จนกระดุกกระดิกออกนอกเสันทางไม่ได้ ให้รู้จักทางสายกลาง กล่าวคือบางครั้งก็ต้องเข้มต้องตึงกันบ้าง และบางครั้งก็ต้องรู้จักผ่อนปรนบ้าง ทั้งนี้หัวหน้างานที่ฉลาดต้องรู้จักสังเกตสถานการณ์และทีท่าของลูกน้องว่าเมื่อไรควรตึง เมื่อไรควรหย่อน
ประการที่สาม หัวหน้าที่ไม่เคยไว้ใจลูกน้อง หัวหน้าหลายคนไม่เชื่อ ไม่วางใจในความสามารถของลูกน้อง ไม่ไว้ใจในการตัดสินใจของลูกน้องมากเกินไปจนถึงระดับที่ไม่ยอมมอบหมายกระจายอำนาจให้ลูกน้องตัดสินใจทำอะไรได้เลย ทุกเรื่องจิ๊บจ้อยต้องผ่านการตรวจตราของหัวหน้าก่อน แบบนี้ลูกน้องก็อาจรู้สึกว่าพวกเขาเป็นบุคคลที่ไร้ความสามารถ ไร้วิจารณญาณ เป็นเด็กที่ไม่รู้จักโตหรืออย่างไร หัวหน้าจึงไม่ไว้ใจเขาเลย แล้วเมื่อไรเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่หัวหน้าสามารถไว้ใจได้สักที งานนี้หัวหน้าเองก็เหนื่อยเพราะต้องทำทุกอย่างด้วยตนเอง ลูกน้องก็เบื่อเพราะไม่ได้รับความเคารพไว้ใจให้เกียรติจากหัวหน้า องค์กรเองก็ย่ำแย่เพราะงานทั้งหลายต้องรอหัวหน้าตัดสินใจ หัวหน้าที่ไม่ไว้ใจใครเลยต้องหันมาพิจารณาปรับปรุงตัวเองและเรียนรู้หลักการมอบหมายงานและการควบคุมงานแล้วละค่ะ จะได้กระจายงานและกระจายอำนาจเป็นเสียที
ประการที่สี่ ไม่รับฟังความเห็นของลูกน้อง และทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าความเห็นของเขาไม่มีคุณค่า ต้องเขียนให้ชัดอย่างนี้เลยค่ะ เพราะหัวหน้าบางคนที่แม้ว่าจะ (ทำเป็น) รับฟังความเห็นของลูกน้อง แต่ถึงเวลาลงมือปฏิบัติก็ทำตามความเห็นของตนแต่ผู้เดียวทุกครั้ง จนลูกน้อง (ที่ไม่โง่อย่างที่หัวหน้าคิด) ตระหนักว่าจริงๆแล้วหัวหน้าไม่สนใจรับฟังความเห็นของพวกเขาหรอก ยิ่งลูกน้องสมัยนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ต้องการสื่อสารแบบสองทางกับหัวหน้า และไม่ยอมรับการตัดสินใจแบบบนสู่ล่าง (Top-down decision making) เสมอไป และพวกเขาจะโกรธมากเลยหากหัวหน้าใช้วิธี “หักคอ” กล่าวคือ ตัดสินใจไปก่อน แล้วค่อยมาบอกให้ลูกน้องทำตามนั้นโดยไม่มีการปรึกษาหารือกันก่อน หัวหน้าอาจใช้วิธีนี้ได้แค่ครั้งสองครั้ง แต่ถ้าเป็นเช่นนี้บ่อยๆเตรียมตัวได้เลยว่าลูกน้องเก่งๆจะหนีหายลาออกไปทำงานกับแผนกอื่นหรือองค์กรอื่นเหลือแต่ลูกน้องที่คิดไม่เป็นหรือไม่มีความคิดเท่านั้นที่จะอยู่กับท่าน แต่ถ้าชอบแบบนั้นก็ตามใจ
ประการที่ห้า นั่งทับปัญหา ทำตัวเหนือความขัดแย้ง หัวหน้าบางคนไม่กล้าฟันธงว่าอะไรถูก อะไรผิด ใครถูก ใครผิดเพราะกลัวว่าจะไม่เป็นที่รัก หรือจะทำให้พนักงานบางคนไม่พอใจ แบบนี้เหมือนกับส่งเสริมคนผิดให้ทำผิดต่อไป โทษร้ายแรงเท่ากับทำความผิดนั้นเสียเอง สังคมไทยมีหัวหน้าแบบนี้มาก ทำให้คนดีหมดกำลังใจ คนไม่ดีได้ใจเพราะผู้มีอำนาจตัดสินผิดชอบชั่วดีละเลยการควบคุมกำกับ ลูกน้องก็จะคิดว่าแบบนี้จะมีหัวหน้าไว้ทำไม เขาก็จะเลิกเคารพ เลิกทำตาม เผลอๆอาจงัดหัวหน้าออกจากเก้าอี้เข้าสักวัน
ประการที่หก หัวหน้าที่ไม่มีความยุติธรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องเกี่ยวโยงกับประเด็นที่แล้ว แต่หนักกว่า เพราะในประเด็นที่แล้วหัวหน้าอาจยังมีสำนึกเรื่องผิดชอบชั่วดี แต่ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าแสดงจุดยืนเรื่องความถูกต้อง แต่ในกรณีนี้คือหัวหน้าเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ยืนข้างความถูกต้อง เช่น ไม่ประเมินผลงานหรือให้รางวัลแก่ผู้ที่มีผลงาน แต่ไปให้รางวัลกับคนที่ไม่มีผลงานแต่ตัวเองชอบ ทั้งนี้หัวหน้าบางคนก็พยายามรักษาน้ำใจทุกคนด้วยการให้รางวัลทุกคนเท่าๆกันทั้งคนที่มีผลงานและไม่มีผลงาน แบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม เพราะความยุติธรรมในกรณีนี้ไม่ได้แปลว่าให้เท่าๆกัน ความยุติธรรมคือการให้ตามผลงาน ทำมาก ได้มาก ทำน้อย ได้น้อย ทำชอบได้รางวัล ทำชั่วต้องไม่ได้รางวัลและอาจยังต้องได้รับโทษ สังคมไทยเราต้องสอนเรื่องนี้ให้ดีๆ ให้คนเรารู้จักแยกแยะว่าความยุติธรรมคืออะไร
ประการที่เจ็ด เอาตัวรอด เอาความดีเข้าตัวเอง เอาความชั่วโยนใส่ผู้อื่น ใครที่เคยดูภาพยนต์เกี่ยวกับการเดินเรือ จะเห็นว่าเวลามีสถานการณ์คับขัน กัปตันเรือจะให้ลูกเรือช่วยผู้โดยสารก่อน ส่วนตัวเองจะเป็นคนสุดท้ายที่สละเรือ บางคนก็ยอมจมไปกับเรือแต่หัวหน้าที่เอาตัวรอด สัญชาตญาณเห็นแก่ตัวจะปรากฏให้เห็นชัดเมื่อภัยมาถึง หัวหน้าจะรีบปฏิเสธไม่ร่วมรู้เห็นกับความผิดพลาดทั้งหลายที่ตัวเองควรต้องรับผิดชอบ โทษแต่ลูกน้อง แต่ถ้าเรื่องได้หน้าได้ตาได้ผลประโยชน์ละก็ หัวหน้าแบบนี้จะเป็นคนแรกที่วิ่งแจ้นนำหน้าไปรับความชอบก่อนคนอื่นเลยทีเดียว
ไม่เป็นเรื่องน่าแปลกที่องค์กรทั่วโลกมีหัวหน้าทั้งเจ็ดประเภทนี้อยู่ และหลายอยู่ได้อย่างดีเสียด้วย เพราะอะไรนะหรือ? เพราะว่ามีหัวหน้าที่อยู่เหนือไปจากเขาและมีลูกน้องหลายคนที่ไม่กล้าแสดงออกซึ่งการไม่ยอมรับคนเหล่านี้ คนดีส่วนมากมักรักสงบและไม่ค่อยอยากมีเรื่องราว คนที่ทำไม่ถูกจึงได้ใจ จะว่าไปก็ต้องหันมาพิจารณาตัวเองเหมือนกันทั้งหัวหน้าและลูกน้องว่าเรามีส่วนส่งเสริมให้หัวหน้าที่ด้อยคุณสมบัติเหล่านี้อยู่ได้อย่างยั่งยืนหรือเปล่า?