ทฤษฎี ‘ม้า..กินน้ำ’ กับนโยบายการเงิน!
ช่วงนี้กระแสเรียกร้องให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” ปรับ “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายลงมีมากเหลือเกิน
แต่ละท่านที่ออกมาเรียกร้องล้วนเป็น “ผู้อาวุโส” ในวงการเศรษฐกิจทั้งสิ้น
ข้อเรียกร้องที่ให้ “ลดดอกเบี้ย” สรุปได้ 3 ประเด็น คือ 1.เพื่อลดแรงจูงใจของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อการส่งออกที่หดตัว 2.ลดความเสี่ยงภาวะเงินฝืด หลังจากที่เงินเฟ้อทั่วไปเริ่มติดลบ และ 3.เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมา “แบงก์ชาติ” ตอบคำถามที่มีต่อข้อเรียกร้องเหล่านี้ไว้ค่อนข้างชัด โดยเฉพาะประเด็นที่หนึ่งและที่สอง
กล่าวคือข้อเรียกร้องที่ให้ “ลดดอกเบี้ย” เพื่อ “ลดแรงจูงใจ” ของ “เงินทุนเคลื่อนย้าย” ..เรื่องนี้แบงก์ชาติยืนยันมาตลอดว่า “ดอกเบี้ย” เป็นแค่ “ส่วนประกอบรอง” เพราะ “องค์ประกอบหลัก” ที่ดึงดูดเงินทุนเคลื่อนย้าย คือ “พื้นฐานเศรษฐกิจ” โดยเฉพาะเวลานี้ประเทศไทยมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมากด้วย
ส่วนข้อเรียกร้องการลดดอกเบี้ยเพื่อลดความเสี่ยงภาวะ “เงินฝืด” นั้น ..แบงก์ชาติอธิบายถึงสาเหตุที่เงินเฟ้อทั่วไปติดลบอยู่บ่อยครั้งว่า เป็นผลจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลง โดยราคาน้ำมันโลกที่ปรับลงมาเกิดจากการค้นพบเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันแบบใหม่ ทำให้สามารถดึงน้ำมันที่อยู่ภายใต้ชั้นหินดินดานที่เรียกว่า “เชลล์ออยล์” ขึ้นมาได้ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาในเชิงของ “อุปทาน” ซึ่งนโยบายการเงินไม่สามารถควบคุมได้
แต่ประเด็นที่น่าติดตาม คือ ข้อเสนอที่ให้ “ลดดอกเบี้ย” เพื่อ “กระตุ้น” การเติบโตของ “เศรษฐกิจ” ที่มากขึ้น ซึ่งข้อเสนอนี้แบงก์ชาติตอบรับ โดยยื่นเงื่อนไขว่า พร้อมจะผ่อนปรนนโยบายการเงินเพิ่มเติม ถ้าเห็นว่าเศรษฐกิจ “อ่อนแรง” กว่าที่ประเมินไว้
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส” ผู้อำนวยการอาวุโส สายเศรษฐกิจการเงิน ของแบงก์ชาติ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนแรกของปี 2558 ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างช้าๆ แม้ตัวเลขโดยรวมจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่มีตัวที่ “เซอร์ไพร์ส” เพราะต่ำกว่าคาดการณ์อยู่บ้าง คือ “การบริโภคภาคเอกชน” ซึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่ตกต่ำ
นอกจากนี้ “การลงทุนภาคเอกชน” ก็ยังทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งการลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์ และการก่อสร้าง สอดคล้องกับ “การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม” ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
ด้วยปัจจัยเหล่านี้เอง ทำให้ตลาดเงินเริ่มตีความว่า การประชุม “กนง.” ครั้งถัดไปในวันที่ 11 มี.ค.นี้ มีโอกาสที่ กนง. อาจตัดสินใจ “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายลงมาได้ ...แต่ในเวลาเดียวกันก็มี “คำถาม” ตามมาเช่นกันว่า “การลดดอกเบี้ย” ในระดับที่ “ต่ำอยู่แล้ว” (ปัจจุบัน 2%) ประสิทธิผลมีมากน้อยแค่ไหน
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เคยบอกว่า ถ้าดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูง แล้วปรับลดลงมา ประสิทธิผลของการปรับลดจะส่งผ่านค่อนข้างง่าย แต่ถ้าดอกเบี้ยอยู่ระดับที่ต่ำอยู่แล้ว และไปปรับลดลงอีก ประสิทธิผลที่ได้อาจไม่เท่ากัน ซึ่งเวลานี้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 2% ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำ
ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยังให้ความเห็นว่า ประสิทธิผลของ “นโยบายการเงิน” ในการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” มีน้อยกว่า “นโยบายการคลัง” เพราะนโยบายการเงินทำได้เพียงการ “สร้างบรรยากาศ” ที่เอื้ออำนวยต่อการบริโภคและการลงทุนเท่านั้น ส่วนคนจะบริโภคและลงทุนหรือไม่ นโยบายการเงินบังคับไม่ได้
หากเปรียบกับการ “เลี้ยงม้า” นโยบายการเงินก็เหมือนกับการ “จูงม้า” ไปที่ “บ่อน้ำ” ช่วยสร้างบรรยากาศให้ม้ารู้สึกว่า “อยากกินน้ำ” แต่นโยบายการเงินไม่สามารถไปบังคับให้ม้ากินน้ำได้
การประชุม กนง. วันที่ 11 มี.ค.นี้ คงต้องติดตามดูว่า ด้วย “บรรยากาศ” เศรษฐกิจที่เป็นแบบนี้ กนง. ทั้ง 7 ท่าน มีความเห็นอย่างไร จะสร้างบรรยากาศให้ “ม้า” รู้สึก “อยากกินน้ำ” เพิ่มหรือไม่? ..จับตาดูกันครับ!