ประโยชน์ ‘ส่วนตน ส่วนรวม’ กับการทำหน้าที่สาธารณะ

ประโยชน์ ‘ส่วนตน ส่วนรวม’ กับการทำหน้าที่สาธารณะ

อาทิตย์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการประชุมนานาชาติของสถาบันกรรมการมาเลเซีย (Malaysian Directors Academy)

ในหัวข้อ “ความหลากหลายและธรรมาภิบาลในการตัดสินใจสร้างสรรค์” ซึ่งได้ให้ความเห็นไปหลายเรื่อง แต่ที่ประทับใจก็คือ คุณภาพการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา ที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้เหตุใช้ผล และการให้ความสำคัญกับผลการกระทำของบริษัท ที่จะมีต่อประเทศ หรือส่วนรวม ขณะที่ประเทศไทย มีข่าวบุคคลในระดับนำประมาณร้อยละ 20 ของผู้ที่ทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ ถูกตั้งข้อสังเกตในประเด็นการแยกผลประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาธรรมาภิบาลที่ประเทศมีอยู่ ซึ่งปัญหาธรรมาภิบาลขณะนี้ได้เป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหาของประเทศมีอุปสรรคมาก นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้


ความหลากหลายและธรรมาภิบาลที่ไปพูดที่มาเลเซีย อยู่ในบริบทของบริษัทธุรกิจ ที่บุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ควรมีความหลากหลายในแง่ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ รวมถึง เพศ และเชื้อชาติ เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทใช้ประโยชน์ความสามารถที่หลากหลายของกรรมการ นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง และความหลากหลาย (Diversity) นี้ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคณะกรรมการมีหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการสรรหากรรมการ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาที่มีกรรมการอิสระเป็นประธาน มีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใส เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถตรงกับยุทธศาสตร์ธุรกิจของบริษัทมาร่วมเป็นกรรมการ ไม่ใช่เพื่อนฝูง ลูก หลาน หรือเครือญาติของเจ้าของหรือฝ่ายจัดการ


ความสำคัญของประเด็นความหลากหลาย มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบันโลกธุรกิจได้เปลี่ยนไปมาก เป็นโลกธุรกิจที่ไร้พรมแดน และมีการแข่งขันสูง ที่สำคัญความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้ทำให้นวัตกรรม และรูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว รวมทั้งกฎระเบียบของภาคทางการ ขณะเดียวกันการคาดหวังของผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทก็มีมากขึ้น ทั้งในความรู้ความสามารถของกรรมการที่ควรมี และการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เหล่านี้ทำให้โจทย์ธุรกิจยากและสลับซับซ้อนมากกว่าเดิม กดดันให้คณะกรรมการบริษัทต้องทำหน้าที่ในเชิงรุกแบบเป็นผู้นำมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจของบริษัทประสบความสำเร็จ


ด้วยเหตุนี้ ความหลากหลายในทักษะความรู้ และประสบการณ์ของกรรมการบริษัท จึงถูกมองว่าเป็นประโยชน์ที่จะนำไปสู่คณะกรรมการบริษัทที่มีประสิทธิภาพ และการตัดสินใจที่ดี และความหลากหลายนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ หนึ่ง เจ้าของบริษัทและคณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญและตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้ จากความหลากหลาย สอง บริษัทมีแนวปฏิบัติที่ดี ในการสรรหากรรมการ นำไปสู่การได้มาซึ่งกรรมการที่มีความรู้ความสามารถตรงกับยุทธศาสตร์ของบริษัท และ สาม ตัวประธานคณะกรรมการเองก็ต้องเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และพร้อมใช้ความเป็นผู้นำผลักดันความหลากหลายให้เกิดขึ้น


ในกรณีของไทย การสำรวจที่สถาบันกรรมการบริษัทไทยหรือ ไอโอดี จัดทำเมื่อปี 2013 ชี้ว่าร้อยละ 80 ของกรรมการบริษัทในประเทศไทย เห็นว่าความหลากหลายในความรู้และประสบการณ์ของกรรมการจะทำให้การทำงานของคณะกรรมการบริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร้อยละ 84 เห็นว่าจะนำไปสู่การประชุมคณะกรรมการที่ประสบความสำเร็จ (Constructive) และอีกร้อยละ 89 มองความหลากหลายว่าจะทำให้เกิดความคิดที่สร้างสรรค์ สำหรับประเด็นความหลากหลายเรื่องเพศ หรือกรรมการที่เป็นผู้หญิง กรณีนี้ประเทศไทย ไม่มีปัญหา เพราะสัดส่วนกรรมการผู้หญิงจะอยู่ประมาณร้อยละ 15 ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศตะวันตกและสูงกว่าระดับในภูมิภาค


ในประเด็นความหลากหลาย ผมประทับใจผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น คือ คนมาเลเซีย ที่ถกเถียงกันมากในประโยชน์ที่จะได้จากความหลากหลาย เช่น ประเด็นกรรมการผู้หญิง ซึ่งอัตราส่วนของมาเลเซียยังต่ำ (ร้อยละ 7) และการศึกษา การถกเถียงสนุก เพราะมาเลเซียเป็นสังคมมุสลิมที่ผู้ชายจะมีบทบาทสูง แต่ก็อยู่ในการใช้เหตุใช้ผล และมักจะให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่บริษัทและประเทศจะได้ตลอด เมื่อจบงานสัมมนาผมก็ประทับใจในคำกล่าวสรุปของประธานจัดงาน ที่พูดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเราได้ประชุมหารือและถกเถียงกันในการสัมมนา ก็เพื่อประเทศที่เป็นที่รักยิ่งของเรา ฟังแล้วก็ประทับใจ


แต่ในบ้านเรา ข่าวใหญ่ที่ออกมา กรณีสมาชิกสภาปฏิรูปเอาบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาตามสิทธิ์ที่สามารถจ้างที่ปรึกษาและผู้ช่วยได้ ก็แสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจให้ความสำคัญกับประโยชน์ต่อครอบครัว มากกว่าที่จะใช้สิทธิดังกล่าวเพื่อให้ได้ผู้ช่วย หรือที่ปรึกษาที่มีความรู้ที่สามารถช่วยงานปฏิรูปได้อย่างจริงจัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงระดับธรรมาภิบาลที่ประเทศเรามี ซึ่งปัญหาธรรมาภิบาลขณะนี้ได้เป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ประเทศมีอยู่ เพราะคนที่ทำหน้าที่สาธารณะที่มองว่าประโยชน์ส่วนรวมต้องมาก่อนนั้นยิ่งวันยิ่งมีน้อยลง


ในต่างประเทศ ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เราคงจะเห็นสมาชิกสภาปฏิรูปอาจพิจารณาลาออก แต่ของเราคงไม่เกิดขึ้น เพราะสังคมเรายังไม่มีมาตรฐานแบบนั้น แต่เพื่อไม่ให้บทเรียนนี้สูญเปล่า ผมคิดว่าคงมีสองเรื่องที่ทางการอาจพิจารณาดำเนินการ


หนึ่ง สภาปฏิรูปอาจพิจารณาออกกฎหมาย “พ.ร.บ. แนวปฏิบัติที่ดีของบุคคลที่ทำหน้าที่สาธารณะตามหลักธรรมาภิบาล” ที่จะวางกรอบจริยธรรม ให้บุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่สาธารณะ มี Code of conduct หรือแนวปฏิบัติตนที่ชัดเจนในเรื่องจริยธรรม และการขัดแย้งทางผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการเมือง หรือที่ปรึกษาต่างๆ เพื่อไม่ให้มีข้อแก้ต่างว่า “กฎหมายไม่ได้ห้าม”


สอง รัฐต้องมีกระบวนการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่สาธารณะที่ให้ความสำคัญกับประเด็นจริยธรรมและพฤติกรรมของบุคคลที่จะรับผิดชอบประโยชน์ต่อส่วนรวม ในเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าในบ้านเรา การคัดเลือกบุคคลโดยใช้ระบบคุณธรรม (Merit System) มีน้อยลง แต่จะใช้ระบบอุปถัมภ์ที่เลือกคนรู้จักมากกว่า ทำให้เราจึงเห็นคนที่เข้ามารับตำแหน่งสำคัญ บ่อยครั้งไม่มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่ นำไปสู่การไม่ยอมตัดสินใจหรือไม่แก้ไขปัญหา เมื่อมีปัญหาต้องแก้ไข


ในกรณีนี้ ประเทศจีน จึงเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเป็นประเทศที่คนในระดับผู้นำจะถูกทดสอบและกลั่นกรองมากตั้งแต่ตำแหน่งเล็กไปตำแหน่งใหญ่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าได้คนที่เหมาะสมที่สุดเข้ามารับตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบ คุณลักษณะสำคัญของผู้ที่จะทำหน้าที่สาธารณะในระดับนำของจีน เท่าที่ประมวลจากข้อเขียนของผู้นำประเทศจีน นาย Xi Jinping ในหนังสือ “ธรรมาภิบาลของประเทศจีน (The Governance of China)” ก็คือ หนึ่ง ต้องมีจิตใจและอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม และสอง มีความพร้อมและความกล้าที่จะรับผิดชอบ


ด้วยหลักการนี้คนที่ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสูงของจีนจึงต้องมีความพร้อมทั้งความรู้ความสามารถอย่างมืออาชีพ (Professional Competency) และมีจริยธรรม และความซื่อตรง (Moral Integrity) ซึ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ในสายตาของจีน กุญแจสำคัญของธรรมาภิบาล ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ก็คือ การได้คนที่มีความพร้อมในทั้งสองคุณลักษณะนี้เข้ามาทำหน้าที่