ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องมาพร้อมความเชื่อมั่น
สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติเห็นชอบกับรายงานผลการพิจารณา ศึกษากฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศจัดทำขึ้น ด้วยคะแนน 163 ต่อ 4 งดออกเสียง 13 โดยจะนำไปปรับปรุงก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากร่างกฎหมายดังกล่าวทั้ง 10 ฉบับอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ผลการศึกษาสรุปว่าการที่รัฐบาล มีนโยบายพัฒนาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัลเป็นเรื่องดี แต่เมื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับ พบว่ามีแนวทางที่มุ่งเน้นการปกป้องความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ มากกว่าความมั่นคงปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบไซเบอร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ อันจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมมากกว่าผลดี นอกจากนี้ยังเป็นการบัญญัติกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางในขณะที่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และอาจถือเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ที่ขัดแย้งต่อหลักการของรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศได้
ขณะเดียวกัน องค์กรหรือหน่วยงานรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามร่างกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล ได้จัดตั้งคณะกรรมการ สำนักงาน และองค์กรขึ้นใหม่หลายคณะและหลายหน่วยงาน แต่ยังขาดความชัดเจนเรื่องสถานะความรับผิดชอบ และรูปแบบขององค์กรว่า มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน เพราะร่างกฎหมายบัญญัติให้ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น และไม่เป็นหน่วยรับตรวจของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่ให้ สตง. เป็นผู้สอบบัญชี และตัดอำนาจอื่นๆ อีกหลายประการที่ สตง.จะทำได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความโปร่งใสและการตรวจสอบหน่วยงานรัฐ
กรณีการยกเว้นความรับผิดทางกฎหมาย ของหน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ กรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน และที่ปรึกษาที่คณะทำงานแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน รวมถึงทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีโดยปราศจากหลักการรองรับที่สำคัญ และมีข้อกำหนดยกเว้นการใช้เงินแผ่นดินของหน่วยงานซึ่งขัดกับหลักวินัยทางการเงินการคลัง เมื่อโครงสร้าง สถานะและบทบาทอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน องค์กร หรือหน่วยงานรัฐที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลขาดความชัดเจน ย่อมไม่สามารถสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมของประเทศ
ทั้งนี้ ความชัดเจนเรื่องสถานะ บทบาทและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานและหน่วยงาน ระบบการสรรหาคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งอย่างมีธรรมาภิบาล การเคารพต่อวินัยทางการเงินและการคลัง การออกแบบกลไกและระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ หลักประกันการใช้อำนาจและความรับผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่โปร่งใสเป็นธรรม และตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นสิ่งจำเป็นต้องมี
เราเห็นว่า การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และสังคมจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ยึดความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีหลักยึดตามกฎหมาย สร้างความเชื่อมั่นแก่คนในชาติ และนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน จึงจะเป็นการเดินตามแนวทางที่ราบรื่น เปิดทางสู่ความสำเร็จ