ผูกขาดจริง กับ ผูกขาดเทียม

ผูกขาดจริง กับ ผูกขาดเทียม

ก่อนผมเริ่มสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในหัวข้อการแข่งขันทุกครั้ง ผมจะตั้งคำถามนักศึกษาสาขาวิชาบริหารธุรกิจว่า คุณคิดว่าธุรกิจใดในประเทศไทยผูกขาด

หรือเป็นเจ้าตลาดแต่เพียงรายเดียว โดยให้นักศึกษาแต่ละคนเขียนสิ่งที่เขาคิดลงในกระดาษ ผลที่ได้คือ นักศึกษาส่วนใหญ่ตอบว่า ซีพี รองลงมาคือ ปตท. มีบางคนตอบว่าคิงพาวเวอร์ ไฟฟ้า ประปา ทางด่วน แต่ก็เป็นส่วนน้อย คำตอบดังกล่าวทำให้ผมต้องตั้งคำถามนักศึกษาเพิ่มเติมเช่น ซีพี เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจมากมายทั้ง ไก่ หมู อาหารสัตว์ ค้าปลีก โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า ซีพี ผูกขาด ก็ต้องระบุให้ชัดว่าผูกขาดในธุรกิจใด และผูกขาดในตลาดใดด้วยเช่น ผูกขาดในประเทศไทยแต่เป็นเพียงผู้เล่นรายเล็กๆ ในตลาดโลก เป็นต้น แต่พอหาข้อมูลเพิ่มเติมก็จะพบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ของซีพีในประเทศไทย ล้วนแต่มีคู่แข่งด้วยกันทั้งสิ้น ในส่วนของปตท. นั้น นักศึกษาส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าฟังมาอีกทีจากสื่อต่างๆ ซึ่งก็ต้องชี้ให้นักศึกษาคิดอีกครั้งเกี่ยวกับธุรกิจของปตท.ว่า ต้องแยกการวิเคราะห์ออกเป็น การสำรวจ การผลิต การขนส่งผ่านท่อ โรงกลั่น ปั๊มน้ำมัน และอาจรวมถึงร้านกาแฟ ด้วย


เวลาเราพูดถึงการผูกขาด หรือ Monopoly นั้น เรามักจะนึกถึงการผูกขาดตามโครงสร้างอุตสาหกรรมคือ มีผู้ขายสินค้าเพียงรายเดียวในตลาดที่ไม่ต้องแข่งขันกับใคร ดังนั้น ผู้ที่ผูกขาดก็สามารถกำหนดราคาและปริมาณเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด ผลเสียก็จะตกกับผู้บริโภคเพราะต้องแย่งสินค้าที่มีปริมาณน้อยและยังต้องจ่ายแพงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากในตลาดมีผู้เล่นมากกว่า 1 ราย แต่ผู้บริโภคกลับคิดว่า ตลาดนี้ถูกครอบงำโดยผู้ขายเพียงรายเดียว ลักษณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยพูดถึง แต่นักการตลาดเรียกว่า การผูกขาดเทียม หรือ Psychological Monopoly (เวลาผมสอนนักศึกษาก็จะเรียกตามภาษาวัยรุ่นว่า ผูกขาดแบบมโนไปเอง)


การผูกขาดเทียม อาจเกิดจากการผู้บริโภคยึดติดกับยี่ห้อหรือตราสินค้าหนึ่งจนรู้สึกว่าไม่มีอะไรมาทดแทนได้ ผู้บริโภคก็จะลืมนึกถึงคู่แข่งหรือทางเลือกอื่น ตัวอย่างหนึ่งคือ Google ในธุรกิจโปรแกรมค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต หรือ Search Engine ผมเคยทำวิจัยเรื่องดังกล่าวพบว่า นักศึกษาไทยยึดติดกับ Google มากจนไม่ได้ใส่ใจว่ายังมี Search Engine อีกมากมายให้เลือก หลายคนคิดว่า Google เป็นผู้ผูกขาดธุรกิจนี้แต่เพียงผู้เดียวในโลก (ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยนะครับ) แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าส่วนแบ่งการตลาดของ Google ในประเทศไทยอาจจะมากกว่า 90% แต่ก็ยังไม่ใช่ 100% ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของ Google ในบางประเทศนั้นน้อยกว่า 50% ด้วยซ้ำไป บางคนก็อาจนึกถึง Line หรือ Facebook ว่าเป็นผู้ผูกขาด ในขณะที่สาวก Apple หลายคนอาจมีความรู้สึกนี้เช่นกัน โดยมองว่า Android นั้นไม่ใช่คู่แข่ง เนื่องจากไม่มีอะไรมาทดแทน Apple ได้ เป็นต้น


การผูกขาดโดยเฉพาะการผูกขาดเทียมอาจไม่ใช่ข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการเสมอไป หากการผูกขาดนั้นส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึก “กลัว” ว่าผู้ผลิตหรือผู้ขายสินค้าจะใช้กลยุทธ์บางอย่างที่ส่งผลให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์เมื่อกระแสไม่พอใจหรือต่อต้านมีมาก การทำธุรกิจก็จะยากขึ้น ในกรณีของ ปตท. นั้น มีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่เป็นรัฐวิสาหกิจจนกระทั่งแปรรูปไปเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รายได้และกำไรนั้นมหาศาลติดอันดับโลก (ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น) แม้ว่า ปตท. จะพยายามกระจายธุรกิจให้มีความหลากหลายแต่ธุรกิจหลักก็ยังเกี่ยวข้องกับพลังงานซึ่งคนไทยมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นค่าใช้จ่ายลำดับต้นๆ ข่าวคราวเรื่องกิจกรรมเพื่อสังคมก็มีมากแต่ก็ถูกเบียดบังไปเมื่อมีเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และไหนจะยังมีเรื่องท่อก๊าซอีก ในส่วนของราคาน้ำมันนั้น แม้ว่าทุกคนจะทราบดีว่าปตท.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันแต่รัฐก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของปตท.อยู่ดีจึงไม่น่าแปลกใจหากคนจำนวนมากจะ “กลัว” ปตท.


สำหรับกรณีของซีพีนั้น มีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แต่ธุรกิจที่นักศึกษาคิดว่าผูกขาดคือ ไก่ ไข่ กุ้ง และอาหารแช่แข็ง บางคนกลัวว่าเซเว่น-อีเลฟเว่น (7-11) และแม็คโคร (Macro) จะผูกขาดค้าปลีกของประเทศไทย ซึ่งก็น่าเห็นใจซีพี ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและค้าปลีก (จริงๆ แล้วมีธุรกิจอื่นๆ อีกมาก) ซึ่งใกล้ตัวผู้บริโภคมาก บางคนกลัวไปถึงว่าในอนาคต 7-11 จะขายแต่ของของซีพี แล้วผู้บริโภคคนไทยก็จะถูกบังคับให้กินเฉพาะของของซีพีแบบไม่มีทางเลือกอื่น บางคนกลัวในประเด็นของเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming ว่าเกษตรกรจะถูกเอาเปรียบเพราะซีพีมีอำนาจการต่อรองสูงกว่า แท้จริงแล้ว เราไม่ควรกลัวทั้งผู้ผูกขาดจริงและผู้ผูกขาดเทียม หากพฤติกรรมของผู้ผูกขาดไม่ได้ใช้ “อำนาจเหนือตลาด” เอาเปรียบผู้อื่น เช่น ผู้บริโภคไม่ควรกลัวที่ 7-11 จะขายของซีพี (ถ้าของเขาดีจริง) แต่ควรกลัวถ้า 7-11 มีพฤติกรรมกีดกันไม่ให้ผู้ผลิตรายอื่นขายของใน 7-11 หรือปฏิบัติกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ซีพีอย่างไม่เป็นธรรม ในกรณีของเกษตรพันธสัญญาก็เช่นกัน เราไม่ควรกลัวเกษตรพันธสัญญาที่เป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้เกษตรกร แต่ควรกลัวกรณีที่มีการหลอกลวงหรือบังคับให้เกษตรกรเข้าทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น


หลังจากการสอนเรื่องผูกขาด ผมถามนักศึกษาเป็นคำถามสุดท้ายว่า ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าในทางทฤษฎีนั้น การผูกขาดส่งผลเสียต่อสังคม แต่ถ้านักศึกษาจบการศึกษาและออกไปเป็นเจ้าของธุรกิจ นักศึกษาอยากเป็นผู้ผูกขาดหรือไม่ ผมว่าท่านผู้อ่านคงเดาได้ว่านักศึกษาทุกคนตอบผมว่าอย่างไร