คลอดยุทธศาสตร์ CSR ชาติ
มีการก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
เมื่อวันอังคาร (28 เม.ย.) ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2558 – 2560) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติในการดำเนินมาตรการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) ภายใต้แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ของหน่วยราชการที่ดูแลด้านสังคมและวัฒนธรรม (ตามมติ ครม. 12 ต.ค. 53)
ยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจฉบับนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นผู้ดำเนินการศึกษาตามกรอบนโยบายการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลภาคธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการพัฒนาสังคมให้มีความสมดุล เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้ ด้านการสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการส่งเสริมบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในเวทีภูมิภาค
ในการศึกษาเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ตามกรอบนโยบาย 4 ด้านนี้ คณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลจากภาคสนามทั้งกลุ่มย่อยและในภาพรวมของประเทศ จัดระดมความคิดเห็นต่อประเด็นยุทธศาสตร์ ผ่านเวทีการประชุมสนทนากลุ่ม (Focus group) ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากเครือข่ายภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน พร้อมทั้งสำรวจความคิดเห็นจากคณะกรรมการหอการค้าจังหวัด และสมาชิกหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ
สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ฉบับนี้ มีการกำหนดวิสัยทัศน์ที่มุ่งส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยการรวมพลังของทุกภาคส่วน มียุทธศาสตร์ 5 ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ยุทธศาสตร์การสร้างเอกภาพในการบริหารยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ ยุทธศาสตร์การรวมพลังเพื่อพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมและสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจระหว่างประเทศ
หนึ่งในชุดกลยุทธ์ที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ ได้แก่ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในทุกสาขาและทุกขนาด เกิดกระบวนการพัฒนาและยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งในกระบวนการ (CSR-in-process) และนอกกระบวนการของการดำเนินงาน (CSR-after-process) รวมทั้งสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน (ภาคบังคับ) และส่งเสริมให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมีการประเมินตนเอง (ภาคสมัครใจ) โดยใช้คู่มือตรวจสุขภาพธุรกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Check list)
ความริเริ่มสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในแผนงาน คือ การก่อตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ” ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ โดยความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วน ทั้งภาคการเมือง ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน
ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะเป็นผู้พิจารณารูปแบบการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจก่อนดำเนินการจัดตั้งต่อไป
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติในส่วนของภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ฯลฯ จะมีบทบาทในการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่สมาชิกทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งการพัฒนา SMEs ที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการดำเนินงาน (CSR-in-process) เพื่อนำไปสู่การเป็นห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตลอดจนส่งเสริมให้มีการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตอบสนองต่อประเด็นปัญหาของชาติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ ทุกมิติ และให้ความสำคัญกับการป้องกันแก้ไขผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกระบวนการดำเนินงานของกิจการ เพื่อให้นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และความเติบโตของกิจการอย่างยั่งยืน ควบคู่กับความเจริญเติบโตของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม
ขณะที่ไทยได้คลอดยุทธศาสตร์ CSR ชาติ ฉบับที่ 1 เป็นที่เรียบร้อย สหภาพยุโรปกำลังทบทวนผลการดำเนินยุทธศาสตร์ CSR ของ EU ฉบับที่ 3 (ค.ศ.2011-2014) ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดลง และอยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดทำฉบับที่ 4 (ค.ศ.2015-2020) กันแล้ว
สำหรับท่านที่สนใจศึกษาผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อการดำเนินยุทธศาสตร์ CSR ของ EU ในฉบับที่3 ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นมา สามารถดูได้ที่http://ec.europa.eu/DocsRoom/documents/8021