อย่าให้คอร์รัปชัน ทำลายพลังเศรษฐกิจเออีซี

อย่าให้คอร์รัปชัน ทำลายพลังเศรษฐกิจเออีซี

ปลายเดือนที่แล้วองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ หรือ Transparency International ได้เผยแพร่เอกสารวิจัยน่าสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจเออีซี

โดยมองว่าความไม่โปร่งใสและการทุจริตคอร์รัปชัน ถ้ามีมากขึ้นในเออีซีก็อาจทำลายศักยภาพทางเศรษฐกิจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีได้ โดยสาระหลักก็คือการรวมตัวทางเศรษฐกิจภายใต้เออีซี จะทำให้ธุรกรรมด้านการค้าและการลงทุนในอาเซียนขยายตัวมากและความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันก็อาจเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นถ้ารัฐบาลของประเทศในอาเซียนไม่แก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้จากการรวมตัว ก็อาจถูกลดทอนหรือสูญเสียไป เพราะคอร์รัปชันจะลดแรงจูงใจในการทำธุรกิจ พร้อมเสนอให้มีการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจในอาเซียนมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา


แนวคิดดังกล่าว ตรงกับความคิดของแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริตที่กำลังผลักดันในเวทีภูมิภาค ให้ภาคเอกชนในกลุ่มประเทศอาเซียนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันผ่านหลายเครือข่ายที่ทางโครงการแนวร่วมปฏิบัติ และสถาบันไอโอดีได้เข้าไปมีส่วนร่วมในภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นโครงการ ASEAN CG Scorecard ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน และโครงการ ASEAN CSR วันนี้ก็เลยจะเขียนประเด็นนี้


การรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนภายใต้นโยบายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะเริ่มอย่างเป็นทางการปลายปีนี้ เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่มีพลัง จากศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนสิบประเทศที่มีอยู่ และจากกำลังซื้อของประชากรในอาเซียน ที่มีประชากรมากกว่า 500 ล้านคน ซึ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในบรรดากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รองจากจีนและอินเดีย ปลายปีนี้แม้การเปิดประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ จะไม่มีอะไรใหม่ในแง่นโยบายหรือมาตรการภาษี เพราะการรวมตัวได้มีการดำเนินการมาต่อเนื่อง แต่เดือนธันวาคมปีนี้ก็จะเป็นหลักหมุดสำคัญ ที่จากนี้ไปนักลงทุนต่างประเทศจะมองประเทศอาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจมากกว่าที่จะมองเป็นรายประเทศเหมือนแต่ก่อน ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าขนาดของเศรษฐกิจ หรือ Scale มีความสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจและการลงทุน ขนาดของเศรษฐกิจอาเซียนที่ใหญ่ จะดึงดูดให้เงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้าอาเซียน ดังนั้น เพื่อให้อาเซียนสามารถใช้โอกาสจากการลงทุนที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่อาเซียนก็ต้องสร้างความน่าสนใจ ให้กับตนเองในฐานะกลุ่มประเทศที่น่าลงทุน โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบ นโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน และธรรมาภิบาล เพื่อทำให้อาเซียนเป็นพื้นที่ที่น่าไว้วางใจของนักลงทุน


ในลักษณะนี้คอร์รัปชันจึงเป็นภัยสำคัญต่ออาเซียน ในฐานะกลุ่มประเทศที่น่าลงทุน ปัจจุบันในโลกธุรกิจแบบโลกาภิวัตน์ ความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือ ผ่านการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นปัจจัยแข่งขันทางธุรกิจที่สำคัญ ถ้าอาเซียนมีปัญหาเรื่องนี้น้อยความน่าสนใจของอาเซียน ในฐานะกลุ่มประเทศที่น่าลงทุนก็จะมีมาก ตรงกันข้าม ถ้าการทุจริตคอร์รัปชันรุนแรง ความไว้วางใจในการทำธุรกิจในอาเซียนก็จะมีน้อยกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีต้นทุนในการทำธุรกิจสูง (จากคอร์รัปชัน) บั่นทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจของอาเซียน


ปัจจุบันข้อมูลและผลสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนเกี่ยวกับคอร์รัปชันในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันชี้ว่า ยกเว้น สิงคโปร์ และบรูไน อีกแปดประเทศในอาเซียนที่เหลือ คือ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ ล้วนมีคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชันในระดับประมาณ 50 หรือต่ำกว่า (จากคะแนนเต็ม 100) ทำให้ถูกมองว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีปัญหาคอร์รัปชัน โดยเฉพาะคอร์รัปชันที่เกิดจากภาคทางการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ (Public Sector Corruption) โดยหน่วยงานภาครัฐในอาเซียน (สำรวจจากหกประเทศ) ที่ถูกมองว่าถูกกระทบจากปัญหาคอร์รัปชันห้าอันดับแรกก็คือ ตำรวจ พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ศาล และรัฐสภา นอกจากนี้ประชาชนในอาเซียนกว่าครึ่ง (ของผู้ที่ให้ความเห็น) มองว่า คอร์รัปชันในอาเซียนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และมากกว่าสองในสามของผู้ที่ให้ความเห็นมองว่าความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของภาคทางการที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ร้อยละ 78 เห็นว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากที่รัฐบาลไม่แก้ปัญหาจริงจัง


อย่างไรก็ตามร้อยละ 76 เห็นว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขหรือลดทอนได้และภาคประชาสังคมสามารถมีบทบาทสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน


เท่าที่ประเมินถ้าไม่แก้ไขปัญหาจริงจัง คอร์รัปชันที่อาจรุนแรงขึ้นก็จะส่งผลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนผ่านอย่างน้อยสามช่องทาง


หนึ่ง ต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้นจากคอร์รัปชัน ทำให้กลุ่มประชาคมอาเซียนจะเป็นพื้นที่ไม่น่าลงทุน เพราะขาดความเชื่อถือในการบริหารจัดการของรัฐบาลและภาคราชการ กระทบศักยภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน


สอง การทุจริตคอร์รัปชันจะให้ประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่รัฐ พรรคการเมือง และบริษัทธุรกิจในอาเซียนที่ร่วมทำการทุจริต ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจในอาเซียนจะมีมากขึ้น เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่อาจนำมาสู่ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่รุนแรง เพราะประชาชนไม่ชอบและต้องการการเปลี่ยนแปลง


สาม ปัญหาคอร์รัปชันที่รุนแรงขึ้นจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศอาเซียนในเวทีเศรษฐกิจโลกลดลง จากต้นทุนธุรกิจที่สูงขึ้น จากการทำงานของภาครัฐที่ขาดประสิทธิภาพ และจากคุณภาพของบริษัทเอกชนที่เก่งเฉพาะการวิ่งเต้น ไม่มีความสามารถด้านนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ทำให้แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้


ทั้งหมดจะบั่นทอนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนรวมถึงความเป็นสถาบันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในระยะยาว ดังนั้น เมื่อเป็นปัญหาร่วมกันการแก้ไขป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ควรต้องทำร่วมกัน โดยทุกประเทศต้องช่วยกันทำและร่วมกันสร้างแรงกดดันซึ่งกันและกันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความโปร่งใส การเปลี่ยนวิธีและระบบการทำงานของภาคราชการ รวมถึงพฤติกรรมการทำธุรกิจของบริษัทเอกชนให้มุ่งทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ทำธุรกิจอย่างสะอาด ปลอดคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยขณะนี้กำลังพยายามทำอยู่