แนวทางการนำแผนกลยุทธ์ธุรกิจไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล

แนวทางการนำแผนกลยุทธ์ธุรกิจไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล

“ไม่ว่ากลยุทธ์จะสวยหรูแค่ไหน คุณควรจะมองให้เห็นไปถึงผลลัพธ์ด้วย” Sir Winston Churchill

แนวคิดการนำแผนกลยุทธ์ธุรกิจไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล คือ กิจกรรมที่ดำเนินเพื่อทำให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ เช่น การพัฒนาและดำเนินการแผนการตลาดแผนใหม่เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท เป็นต้น แม้ว่าแนวคิดนี้จะมีมานานแล้ว แต่ก็วงการวิชาการก็ยังค้นคว้าเพื่อหาปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินกลยุทธ์ในทางปฏิบัติการมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย MIT และ London Business School ได้แก่ Donald Sull, Rebecca Homkes และ Charles Sull ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการนำแผนกลยุทธ์ธุรกิจไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลจากผู้บริหาร 8,000 คนจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกกว่า 250 บริษัท และรายงานผลไว้ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมีนาคม 2558 จากผลการสำรวจในภาพรวมพบว่าบริษัทส่วนใหญ่ในกลุ่มตัวอย่างมีแนวทางการพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์ แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีสามารถนำกลยุทธ์มาปฏิบัติให้เกิดผลจริง ดังนั้น ทีมผู้วิจัยจึงเสนอแนะปัจจัยที่ทำให้การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติใช้ให้เกิดผลสำเร็จได้ 5 หัวข้อ ดังนี้


ประการแรก การดำเนินกลยุทธ์ คือ การประสานงานภายในองค์กรที่สอดคล้องกัน
การนำกลยุทธ์มาปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลอาจเนื่องมาจากกระบวนการจัดวางกลยุทธ์ให้นำไปใช้ได้ในทุกระดับขององค์กร (Alignment) ไม่มีประสิทธิภาพ มีสาเหตุมาจากการที่ผู้จัดการหรือทีมงานที่อยู่คนละแผนกกัน มีความขัดแย้งและไม่สามารถร่วมมือกันได้ โดย 41% ของกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยชิ้นนี้ลงความเห็นว่า อุปสรรคสำคัญในการนำกลยุทธ์มาปฏิบัติคือไม่สามารถประสานงานและได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากผู้ร่วมงานที่อยู่ในแผนกอื่นๆ (เมื่อเทียบกับการประสานงานกับบุคคลที่อยู่ภายนอกองค์กร เช่น ลูกค้าหรือซัพพลายเออร์) ดังนั้น การประสานงานเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากแผนกอื่นๆ ในองค์กรเดียวกัน เป็นแนวทางที่จะทำให้การดำเนินกลยุทธ์ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายได้


ประการที่สอง การดำเนินกลยุทธ์ คือ การปฏิบัติโดยยึดตามแผนที่วางไว้ พร้อมปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม


ตามปกติแล้วการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ เป็นกระบวนการที่ผู้บริหารแปลงกลยุทธ์และนโยบาย ไปสู่แผนการดำเนินงาน กำหนดรายละเอียดด้านต่างๆ เช่น ด้านงบประมาณ วิธีการดำเนินงาน และการประเมินผล แต่เมื่อเกิดปัญหาหรือโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด (unexpected problems or opportunities) ในระหว่างที่ดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ เช่น โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หรือความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้การปฏิบัติงานไม่สามารถดำเนินได้ตามแผน จากการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างพบว่า กว่า 70% ของผู้จัดการลงความเห็นว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด บริษัทไม่มีความสามารถเคลื่อนย้ายทรัพยากรหรือเงินทุนมาแก้ไขหรือสนับสนุนเหตุการณ์นั้นได้ทันท่วงที ทำให้กลยุทธ์ที่วางแผนไว้ไม่ประสบผลสำเร็จในท้ายที่สุด ดังนั้น ผู้บริหารควรมีความสามารถในการหาแนวทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้


ประการที่สาม การสื่อสาร คือ ความเข้าใจของคนในองค์กร


ผู้บริหารส่วนใหญ่เชื่อว่ากลยุทธ์การสื่อสาร (Communication strategy) คือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้วิจัยให้กลุ่มตัวอย่างระบุภารกิจสำคัญห้าอันดับแรกขององค์กร พบว่า 55% ของกลุ่มตัวอย่างกลับไม่สามารถระบุได้เพียง 1 - 2 ภารกิจเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าการสื่อสารกลยุทธ์ภายในองค์กรยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากเครื่องมือที่ใช้สื่อสาร เช่น email, การประชุม, โปสเตอร์ หรือการอภิปรายในที่ทำงาน ที่ไม่เพียงพอ แต่เกิดจากสาร (input) จากผู้บริหารที่มีมากเกินไปและไม่ได้คัดกรองจนได้เนื้อความที่ผู้บริหารตั้งใจจะสื่ออย่างแท้จริง จนทำให้พนักงานสับสนไม่แน่ใจว่าเรื่องไหนเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัท และปฏิบัติงานได้ไม่ตรงตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้


ประการที่สี่ วัฒนธรรมสร้างผลงานนำไปสู่การดำเนินการที่สำเร็จ


ทีมผู้วิจัยพบว่าการมุ่งเน้นไปที่ผลการดำเนินงาน (performance) นำไปสู่กิจวัตรประจำวัน (Daily routines) ขององค์กร วัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญและให้รางวัล (reward) เป็นปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนให้การดำเนินกลยุทธ์ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น หากพนักงานมีความเชื่อว่าจะต้องทำผลงานให้ได้ตามเป้าหมาย พฤติกรรมของพนักงานเหล่านั้นก็มีแนวโน้มที่จะยึดมั่นในพันธสัญญาที่มีต่อองค์กร นอกจากนี้ การประเมินผลการดำเนินงานเพื่อให้รางวัลกับผู้จัดการควรนำเรื่องความสามารถในการประสานงานกับผู้ร่วมงานในหน่วยงานอื่นๆ ไว้ด้วย เพื่อทำให้การดำเนินกลยุทธ์มีโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น


ประการสุดท้าย การดำเนินกลยุทธ์ควรขับเคลื่อนมาจากผู้บริหาร


คำแนะนำและการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงมีความสำคัญในการแปลแผนกลยุทธ์ขององค์กรให้พนักงานแต่ละทีมเข้าใจความหมายและนำไปปฏิบัติได้อย่างสอดคล้องกัน รวมไปถึงการเจรจาตกลงเรื่องการให้รางวัลตามผลงาน (Pay for performance) กับผู้จัดการในทุกระดับ พร้อมทั้งติดตามดูแลความก้าวหน้าอย่างใกล้ชิดเป็นการผลักดันให้กลยุทธ์นำไปปฏิบัติใช้ในองค์กร และที่สำคัญผู้บริหารจะต้องมีการกระจายภาวะผู้นำ (Distributed leaders) จากผู้บริหารระดับสูงเพียงคนเดียวไปยังผู้รับผิดชอบระดับรองๆ ลงมาเพื่อช่วยกำกับดูแลผู้จัดการที่รับผิดชอบฟังก์ชันต่างๆ ขององค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และวัฒนธรรมองค์กรด้วย


การนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล (Strategic implementation) จึงถือเป็นความสามารถอีกอย่างหนึ่งขององค์กร ในการประสานงานร่วมมือกับแผนกต่างๆ ขององค์กรได้อย่างสอดคล้องกันไปพร้อมกับปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอก รวมไปถึงการสื่อสารระหว่างผู้บริหารและผู้จัดการเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ปัจจัยเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้องค์กรหลีกเลี่ยงอุปสรรคในการดำเนินงานเท่านั้น ยังสามารถช่วยแปลงกลยุทธ์ขององค์กรนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มุ่งหวังได้


-------------

ดร.รพีพร รุ้งสีทอง [email protected] 
อาจารย์ประจำภาควิชาบริหารธุรกิจ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ