สร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม
การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่ทุกสังคมให้ความสนใจมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการเติบโตตามแนวคิดของนีโอคลาสสิก
ที่มุ่งเน้นการยกระดับปริมาณและคุณภาพของทุนและแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การยกระดับเทคโนโลยี การพัฒนาการศึกษา การเปิดประเทศเพื่อให้มีการแข่งขัน หรือการวางโครงสร้างพื้นฐาน
องค์ความรู้ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก จึงทำให้แนวทางการพัฒนาของแต่ละประเทศไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ที่น่าสนใจก็คือ บางประเทศประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่บางประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรทั้งๆ ที่ใช้แนวทางเกือบจะเหมือนกัน
ที่มาของความแตกต่างของระดับการเติบโตชี้ให้เห็นว่าต้องมีปัจจัยอย่างอื่นที่มากไปกว่าทุน แรงงานและส่วนขยายของปัจจัยทั้งสองเป็นตัวกำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งจึงได้พยายามขยายองค์ความรู้ออกไปนอกสาขาวิชาของตนเองเพื่อที่จะตอบคำถามนี้
ในช่วงก่อนทศวรรษที่ 2000 นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากมุ่งไปที่ประเด็นเรื่องการกระจายรายได้ ว่าหากประเทศมีความเหลื่อมล้ำสูง การเติบโตจะติดกับข้อจำกัดบางอย่าง เช่น คนรวยจะได้ประโยชน์มากกว่าคนจน ทำให้เกิดการลงทุนครั้งต่อๆ ไปก็เพื่อประโยชน์ของคนรวยเป็นหลัก ความเหลื่อมล้ำจึงยิ่งสูงขึ้น พร้อมๆ กับความขัดแย้งในสังคมก็สูงขึ้นด้วย เพราะคนจนต้องการการสนับสนุนจากรัฐที่มาก ขณะที่คนรวยผู้ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ภาษีที่สำคัญของรัฐกลับไม่ต้องการจ่ายภาษี
ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 2010 เริ่มมีการศึกษาในประเด็นบทบาทของประชาธิปไตยที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้นเป็นช่วงที่ประชาชนในแต่ละประเทศให้ความสนใจกับประชาธิปไตยมากขึ้น รายละเอียดส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่สามเรื่อง หนึ่งคือ ความเป็นเสรีภาพ การปฏิบัติตามระเบียบ และการแข่งขันในการเลือกตั้ง สองคือเสรีภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของพลเมือง และสามคือความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง
แม้ว่าทั้งความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้และการพัฒนาประชาธิปไตยจะมีบทบาทอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่เพียงพอที่จะอธิบายกลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้อย่างสมบูรณ์ ในช่วงปัจจุบันทศวรรษที่ 2020 นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งจึงให้ความสนใจกับ “การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม”(Inclusive Growth) ซึ่งหมายถึงแนวคิดของการเติบโตที่เกิดจากการกระจายของผลประโยชน์อย่างทั่วถึงและการให้โอกาสกับคนในสังคมอย่างเท่าเทียม
จากนิยามที่ว่ามา หัวใจของการเติบโตอย่างเท่าเทียมจึงมีองค์ประกอบสำคัญสองประการ
หนึ่ง คือ มีการกระจายของผลประโยชน์อย่างทั่วถึง และ
สอง คือ มีการให้โอกาสกับคนในสังคมอย่างเท่าเทียม เพื่อให้เกิดการกระจายแรงจูงใจให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ อันจะนำไปสู่การปลดปล่อยศักยภาพของปัจเจกและสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการสร้างการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ติดกับข้อจำกัดของการกดขี่และเอาเปรียบในการพัฒนาระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ
หากทำการพิจารณาข้อมูลการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมจากสองมิติคือการเปลี่ยนแปลงการกระจายรายได้เปรียบเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในงานของ Anand, Mishra and Peiris (2013) จะพบว่า ในภาพรวมของนานาประเทศแล้ว ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวก พร้อมๆ กับมีการกระจายรายได้ที่ดีขึ้นกว่าในอดีตนั่นคืออยู่ในเกณฑ์ที่เรียกได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลในรายจังหวัดของประเทศไทยในช่วงปี 2002-2009 เนื่องจากประเทศไทยมีการเติบโตเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง พบว่า จังหวัดจำนวนกว่าร้อยละ 60 มีการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้จังหวัดนั้นๆ มีการเติบโตแบบมีส่วนร่วมในระดับที่สูงขึ้นประกอบด้วย
หนึ่ง การนำแรงงานเข้ามาทำงานในระบบ เพราะการทำงานนอกระบบของแรงงานนั้นขาดหลักประกัน มีความเสี่ยง และสามารถถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย ทำให้แรงจูงใจในการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาลดลง
สอง ความสมดุลของการพัฒนาเมืองและชนบท เพราะความสมดุลจะช่วยให้แรงงานทำงานในถิ่นฐานหรือภูมิลำเนาของตนเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ ขณะที่ความไม่สมดุลจะก่อให้เกิดการทะลักของแรงงานชนบทเข้ามาทำงานในเมือง ส่งผลต่อปัญหาสังคมตามมา และ
สาม การขยายสินเชื่ออย่างทั่วถึง โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่ยังเป็นช่องว่างของประเทศไทยอยู่พอสมควรเพราะสินเชื่อจะช่วยลดข้อจำกัดสภาพคล่องและสร้างโอกาสในการหารายได้ของประชาชน
กล่าวโดยสรุปก็คือ การเติบโตอย่างมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยสร้างความร่วมมือของคนในสังคมและลดข้อจำกัดในการเติบโตระยะยาว โดยแนวทางที่ภาครัฐควรสนับสนุนเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมดังกล่าวคือ การลดจำนวนแรงงานนอกระบบ การลดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท และการลดข้อจำกัดทางการเงิน ซึ่งล้วนแต่ต้องการความตั้งใจของภาครัฐอย่างแท้จริง
------------------
ธานี ชัยวัฒน์ และ ก้องภพ วงศ์แก้ว