ต้านโกงภาคปฏิบัติ
เมื่อวันจันทร์ (8 มิ.ย.) ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานประกาศเจตนารมณ์ "ต่อต้านการทุจริต สร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง"
เมื่อวันจันทร์ (8 มิ.ย.) ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประกาศเจตนารมณ์ “ต่อต้านการทุจริต สร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง” ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในตอนหนึ่งว่า “วันนี้เป็นวันสำคัญ ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเรามีความจำเป็นต้องพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ มีทั้งเหตุการณ์ที่ดีและไม่ดี อยากให้ทุกคนศึกษาปัญหาและร่วมกันหาทางออกตามหลักพระพุทธศาสนาอริยสัจสี่ รู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไรและแก้ที่ตรงไหน อย่างเช่นข้าราชการก็ต้องมีคำว่า “How to do” ไม่ใช่ประกาศเจตนารมณ์วันนี้แล้วก็จบ”
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption - UNCAC) ค.ศ.2003 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตที่เป็นสากลและมีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้านของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ได้รับการรับรองโดยที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ ปัจจุบัน มีภาคีสมาชิกที่ร่วมลงนาม 140 ประเทศ
ในส่วนของภาคธุรกิจ สามารถพัฒนาแนวดำเนินการตามความตกลงดังกล่าวในการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของกิจการต่อการต่อต้านการทุจริตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและการยกระดับการดำเนินการต่อต้านการทุจริตในสาขาอุตสาหกรรมที่ประกอบการอยู่ให้มีความทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยเริ่มจากการดำเนินการต้านทุจริตในภาคปฏิบัติ (Anti-corruption in Practice) กับองค์กรของตน และเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ลงมือปฏิบัติตาม จนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นบริษัทต้นแบบที่มีแนวปฏิบัติอย่างจริงจังและสร้างวัฒนธรรมการไม่ทุจริตในภาคธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับแนวทางการต้านทุจริตสำหรับองค์กรธุรกิจ สามารถจัดแบ่งกระบวนงานออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
Commit:
- สิ่งที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การเปิดเผยคำมั่นที่จะดำเนินการต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ การจัดทำแนวนโยบายให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารและการดำเนินการให้เป็นแบบอย่างโดยผู้นำองค์กร
Establish:
- สิ่งที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การกำหนดนโยบายการต่อต้านทุจริตที่ระบุระดับการดำเนินการของบริษัท การประเมินความเสี่ยงของธุรกิจ เพื่อระบุการดำเนินงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยที่มีความเสี่ยงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การจัดทำนโยบายละเอียดสำหรับส่วนงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทุจริต การกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อควบคุมป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการเกิดทุจริต การสื่อสารและฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตแก่พนักงานในทุกระดับ การสร้างช่องทางในการแจ้งเบาะแส และกลไกการติดตามสำหรับการรายงานข้อกังวลหรือขอรับคำแนะนำ การวางกระบวนการดูแลติดตามและประเมินผลการต่อต้านการทุจริต การทบทวนผลการดำเนินการและการปรับปรุงนโยบายให้มีความเหมาะสมตามสถานการณ์
Extend:
- สิ่งที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การจัดทำนโยบายที่ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ การผลักดันให้คู่ค้าดำเนินการตามคำมั่น การเข้าเป็นแนวร่วมต้านทุจริตในสาขาอุตสาหกรรมที่ธุรกิจสังกัดอยู่หรือเรื่องที่ธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้อง การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตรวจสอบเพื่อให้ความเชื่อมั่นอย่างเป็นอิสระจากหน่วยงานภายนอก
ประโยชน์ที่องค์กรธุรกิจจะได้รับจากการดำเนินแนวทางการต้านทุจริตดังกล่าว ประการแรกเป็นการเพิ่มความถูกต้องชอบธรรม (Integrity) จากการที่องค์กรสามารถยกระดับการรับรู้เรื่องการต้านทุจริตในหมู่พนักงาน และฝ่ายบริหารมีเครื่องมือและกติกาในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน ประการที่สองเป็นการเพิ่มความสำนึกรับผิดชอบ (Accountability) จากการดำเนินบทบาทการต้านทุจริตขององค์กรซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงธุรกิจและในวงสังคม และประการที่สามเป็นการเพิ่มความโปร่งใส (Transparency) จากการที่องค์กรมีบรรทัดฐานในการติดตามและรายงานการปฏิบัติงานและการดำเนินการต้านทุจริตในภาษาเดียวกัน
อนึ่ง แนวทางการต้านทุจริตที่กล่าวมาข้างต้น อ้างอิงจากหลักการและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตที่พัฒนาขึ้นโดยข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)
องค์กรธุรกิจที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจเข้าร่วมขับเคลื่อนการต่อต้านทุจริตในภาคปฏิบัติ สามารถศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์เครือข่ายหุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย หรือ Partnership Against Corruption for Thailand (PACT) ได้ที่ http://www.pact.network ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป