ธรรมาภิบาล กับการเติบโตของเศรษฐกิจ
เดือนมิถุนายนเป็นเวลาที่สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี จัดงานสัมมนาใหญ่ประจำปีเพื่อกรรมการบริษัทและสมาชิก
ซึ่งทุกปีงานจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากกรรมการบริษัท ภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐ และสื่อมวลชน ส่วนหนึ่งก็เพราะได้ฟังความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อการทำหน้าที่กรรมการบริษัท และการทำธุรกิจ และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นโอกาสให้กรรมการบริษัทและสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่กรรมการ จากที่ลักษณะของงานที่จัดเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้จากกันระหว่างผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งเป็นจุดเด่นของงานไอโอดี
ปีนี้หัวข้อการสัมมนาก็คือ “Re-energizing Growth through Better Governance” หรือ “การเพิ่มพลังเติบโตของเศรษฐกิจด้วยธรรมาภิบาล” ที่เลือกหัวข้อนี้ก็เพราะการที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำหรือไม่ยอมฟื้นตัวดูจะเป็นปัญหาทั่วโลก เห็นได้จากประมาณการเศรษฐกิจโลกและระดับประเทศที่มีแต่ปรับลดลง ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจเองก็ได้พยายามเต็มที่ที่จะฟื้นเศรษฐกิจ มีการอัดฉีดสภาพคล่อง โดยธนาคารกลางในปริมาณที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น เมื่อนโยบายเศรษฐกิจไม่สามารถแก้เศรษฐกิจให้โตได้อย่างที่เคยเป็น คำถามก็คือ
ในเรื่องนี้คำตอบส่วนหนึ่งก็คือ นโยบายเศรษฐกิจที่ทำกันคงยังไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เป็นต้นตอ ในเรื่องนี้ต้องยอมรับว่า หลายปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2009 ยังแก้ไขไม่ได้ ตัวอย่างเช่น กรณีของกรีซ ส่วนหนึ่งเพราะการแก้ไขยังไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหา และถ้าจำได้สาเหตุหนึ่งที่ทำให้วิกฤติเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้น ก็คือ การขาดธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีในภาคเอกชนที่นำไปสู่การทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง และการก่อหนี้ที่เกินตัวจนเกิดปัญหา แต่หกปีที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ยังมุ่งไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงพฤติกรรมด้านธรรมาภิบาล ผลก็คือพฤติกรรมของภาคเอกชนบางส่วนยังไม่เปลี่ยน ต้นตอของปัญหาจึงยังมีอยู่
ความบกพร่องด้านธรรมาภิบาลจึงได้เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังวิกฤติปี 2009 ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่โปร่งใส การตกแต่งบัญชี การฉ้อโกง การปั่นหุ้น การทุจริตคอร์รัปชัน การไม่ดูแลผลประโยชน์ของลูกค้าและสังคม และความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ล่าสุดที่เพิ่งถูกลงโทษไปก็คือ ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของโลกหกแห่งที่ถูกปรับในวงเงินกว่าห้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในข้อหาร่วมกันบิดเบือน (Manipulate) ราคาในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อพฤติกรรมไม่เปลี่ยน การกำกับดูแลกิจการที่ดีจึงมีข้อจำกัด ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะยาวยังไม่ดีขึ้น นำไปสู่การลดทอนการลงทุนและการถดถอยทางเศรษฐกิจ ด้วยข้อสังเกตนี้หัวใจของปัญหา จึงอยู่ที่การสร้างธรรมาภิบาลในภาคเอกชนให้ดีขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเมื่อถึงจุดนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจก็ควรจะกลับมา
กรณีบริษัทเอกชนก็เช่นกัน ธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีผลในทางบวกต่อการเติบโตและความยั่งยืนของธุรกิจ เพราะการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคณะกรรมการบริษัทจะนำมาสู่ความโปร่งใสในการบริหารจัดการ การบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง และการให้ความสำคัญกับภาพระยะยาวของธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดหมายถึงการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีขึ้นรอบคอบขึ้น เมื่อบริษัทโดยคณะกรรมการบริษัทสามารถตัดสินใจได้ดี โอกาสที่ธุรกิจจะพลาดหรือเสียหายก็มีน้อย การกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงหมายถึงการตัดสินใจที่ดีและความยั่งยืนของธุรกิจ
ข้อเท็จจริงนี้ทำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทมาก มองว่าบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ไม่ดีเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุน ขณะที่บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี จะเป็นบริษัทที่น่าลงทุน เพราะกระบวนการทำงานสามารถนำไปสู่การตัดสินใจที่ดี ลดความเสี่ยงต่อธุรกิจและสร้างโอกาสให้ธุรกิจเติบโตได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้การกำกับดูแลกิจการที่ดีจึงเป็นปัจจัยแข่งขันทางธุรกิจที่สำคัญ ที่ดึงดูดความสนใจและแรงสนับสนุนจากนักลงทุน ลูกค้า เจ้าหนี้ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ในระดับประเทศก็ไม่ต่างกัน ทุกประเทศแข่งขันที่จะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนเพื่อสร้างรายได้และการเติบโตของเศรษฐกิจ ในแง่นี้ธรรมาภิบาลของประเทศคือธรรมาภิบาลภาครัฐและภาคเอกชนจึงได้กลายเป็นปัจจัยแข่งขันสำคัญ ประเทศที่ขาดธรรมาภิบาลจะเห็นได้ชัดจากอาการต่างๆ เช่น ความไม่โปร่งใสในการทำนโยบายและข้อมูล กฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีเหตุผล ความขัดแข้งทางผลประโยชน์ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง การขาดความรับผิดชอบของผู้ทำงานในหน้าที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบงานราชการ การทุจริตคอร์รัปชัน และการใช้เส้นสายในการติดต่อทำธุรกิจนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของความบกพร่องด้านธรรมภิบาล ที่สร้างแรงจูงใจทางลบต่อการทำธุรกิจ ทำให้นักธุรกิจไม่อยากค้าขายและลงทุนในประเทศที่มีปัญหาธรรมาภิบาล และถ้ามีปัญหาธรรมาภิบาลรุนแรงและไม่แก้ไข การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะมากแค่ไหนก็จะมีข้อจำกัด เพราะการขาดธรรมาภิบาลเหมือนรูรั่ว ที่ทำให้การดำเนินนโยบายของเศรษฐกิจขาดประสิทธิภาพ
ประเทศไทยขณะนี้ก็มีสองปัญหา คือ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ และปัญหาธรรมาภิบาล สะท้อนจากปัญหาคอร์รัปชันที่รุนแรง ทำให้ธรรมาภิบาลเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขและต้องทำทั้งในภาคธุรกิจและภาคราชการ
นี่คือประเด็นที่งานสัมมนาของสถาบันไอโอดีปีนี้จะพูดถึง งานจะจัดในวันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายนนี้ ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น.งานสัมมนาจะเริ่มโดยปาฐกถาพิเศษโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่จะครอบคลุมประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ จากนั้นจะมีการเสวนาตลอดภาคเช้าและบ่าย ในเรื่องธรรมาภิบาลกับเศรษฐกิจในหลายแง่มุม โดยภาคเช้าจะประเมินแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค รวมถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยพิจารณาประเด็นสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งในยุโรปและเอเชีย โดยวิทยากรรับเชิญจากต่างประเทศ
จากนั้นจะเป็นการเสวนาความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี กับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยนักธุรกิจภาคเอกชนไทยที่มีชื่อเสียง ต่อด้วยภาคบ่ายจะเป็นการแบ่งกลุ่มเจาะประเด็นลงลึกในรายละเอียด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสามหัวข้อ คือ หนึ่ง การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลที่ดีในภาครัฐ สอง บทบาทของกรรมการอิสระในการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลที่ดีในภาคเอกชน สาม ความสำคัญของ CG หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีกับโอกาสทางธุรกิจในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปิดท้ายด้วยการสรุปประเด็นต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถนำกลับไปคิดต่อหรือปฏิบัติใช้ได้จริง โดยปีนี้จะมีผู้ทรงคุณวุฒิกว่ายี่สิบท่านที่เป็นนักธุรกิจและนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ทั้งในและต่างประเทศมาร่วมเป็นวิทยากร
ก็อยากให้ไปร่วมงานกันมากๆ รายละเอียดติดต่อได้ที่สถาบันไอโอดี หมายเลขโทรศัพท์ 0-2955-1155 ต่อ 402 หรือ 404 หรือลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ที่