การสรรหาแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหาร

การสรรหาแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหาร

ช่วงนี้มีข่าวหลายข่าวเกี่ยวกับการสรรหาแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง และกรรมการ

เช่น ตอนต้นเดือนมีข่าวตำแหน่งผู้บริหารองค์กรรัฐและรัฐวิสาหกิจว่าง 15 ตำแหน่ง และต้องแต่งตั้งโดยเร็ว

ในเรื่องนี้มีแฟนคอลัมน์เศรษฐศาสตร์บัณฑิตถามมาว่า ในแง่ธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี วิธีการที่ควรนำมาปฏิบัติใช้ในการสรรหาแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง หรือกรรมการควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมมาทำงาน และป้องกันการแทรกแซงจากบุคคลที่สามหรือฝ่ายการเมือง (กรณีแต่งตั้งบุคลากรภาครัฐที่นักการเมืองมักใช้อำนาจแต่งตั้งคนของตน) ก่อให้เกิดผลร้ายต่อองค์กรมากกว่าผลดี วันนี้ก็เลยจะตอบเรื่องนี้โดยมองในแง่ธรรมาภิบาล

ทุกองค์กรไม่ว่าบริษัทธุรกิจหรือหน่วยงานรัฐ กรรมการหรือผู้บริหารระดับสูง ถือเป็นบุคลากรสำคัญ เพราะมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องกำกับดูแล (ในกรณีกรรมการ) หรือขับเคลื่อนองค์กร (ในกรณีผู้บริหาร) ให้เติบโตตามยุทธศาสตร์หรือให้องค์กรทำหน้าที่ตามที่ได้มีการระบุไว้ ความสำคัญนี้ทำให้ผู้ที่มารับตำแหน่งต้องมีความความรู้ ประสบการณ์ และความพร้อมในการทำหน้าที่ ซึ่งความพร้อมสำคัญก็คือ ความรู้ในสาขาธุรกิจ (Industry) ของบริษัทหรือองค์กร ความสามารถในการบริหาร ประสบการณ์ที่จะช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่ดี และการยอมรับจากคนทั้งในและนอกองค์กร สิ่งเหล่านี้เป็นความพร้อมที่จำเป็นที่จะช่วยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง ให้สามารถทำงานในหน้าที่ได้ ซึ่งถ้าได้คนที่เหมาะเข้ามาทำหน้าที่ ประโยชน์ก็จะเกิดมากมายกับองค์กร

ตรงกันข้ามการแต่งตั้งคนไม่เหมาะเข้ามาทำหน้าที่ก็จะมีแต่ผลเสีย บริษัทหรือองค์กรจะเสียหาย เพราะผู้ที่มารับตำแหน่งไม่มีความพร้อมที่จะทำงานในหน้าที่ ไม่สามารถขับเคลื่อนองค์กรทำให้ธุรกิจเสียโอกาส ที่แย่ที่สุดก็คือไม่ทำงานตามหน้าที่ มุ่งแต่จะตอบสนองผู้แต่งตั้ง

กรณีเช่นนี้ถ้าเป็นหน่วยงานรัฐผลก็คือ การไม่ทำหน้าที่ขององค์กรจะสร้างปัญหาและต้นทุนมากมายให้กับส่วนงานอื่นๆ ที่สำคัญถ้าการสรรหาแต่งตั้ง (ผู้บริหารระดับสูง) ถูกมองว่าเกิดขึ้นจากการใช้เส้นสาย เกิดจากการแทรกแซงโดยบุคคลภายนอก คนในองค์กรก็เหมือนถูกสอนให้ต้องวิ่งเต้นเล่นการเมือง เพื่อหาผู้สนับสนุนหาเส้นสาย เพื่อให้ก้าวไปสู่ระดับสูงสุดขององค์กร สร้างแรงจูงใจให้คนในองค์กรไม่ทำงาน หันมาเล่นการเมืองในและนอกสำนักงาน ซึ่งจะทำลายประสิทธิภาพและความเข้มแข็งขององค์กรอย่างน่าเสียดาย

เพื่อป้องกันปัญหานี้ การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูงจึงต้องมีกระบวนการตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีมารองรับ เพื่อรักษาประโยชน์ของส่วนรวม โดยกระบวนการจะเน้นในสามเรื่อง

หนึ่ง ขั้นตอนการสรรหาแต่งตั้งที่ชัดเจนและทราบทั่วกัน

สอง การตัดสินใจเป็นกลุ่มเป็นคณะ เพื่อร่วมกันสรรหาและแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสม

สาม ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมั่นใจว่า มีการพิจารณาแต่งตั้งตามหลักคุณธรรมไม่ใช่ระบบเส้นสาย ในลักษณะนี้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงระบุให้คณะกรรมการบริษัทต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา เข้ามาทำหน้าที่สรรหา โดยประธานและกรรมการในคณะกรรมการสรรหาต้องเป็นกรรมการอิสระ เพื่อลดอิทธิพลของเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่จะแทรกแซงกระบวนการสรรหา มีการกลั่นกรองผู้ที่เหมาะสมตามกระบวนการที่โปร่งใส และเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาแต่งตั้ง ซึ่งคณะกรรมการบริษัทจะแต่งตั้งจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอเท่านั้น นี่คือหลักปฏิบัติที่ดี

ในกรณีภาครัฐ กระบวนการดังกล่าวก็มีการนำมาปฏิบัติใช้ เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ และในบางองค์กรขั้นตอนดังกล่าวถึงกับมีการระบุไว้ในกฎหมาย เพื่อให้เกิดการปฏิบัติ คือต้องมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่กลั่นกรอง และเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง

แต่แม้กระบวนการจะมีการกำหนดไว้ชัดเจนอย่างไร ในโลกของความเป็นจริง ถ้าผู้มีอำนาจต้องการใช้อำนาจแทรกแซงการสรรหา เพื่อแต่งตั้งคนของตนก็คงทำได้ พร้อมกับปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ที่ระบุไว้ในหลักปฏิบัติที่ดี หรือในกฎหมายครบถ้วน โดยไม่เกรงใจเจตนารมณ์ของการมีธรรมาภิบาลที่ดีหรือกฎหมาย ทำให้กระบวนการสรรหาที่กำหนดไว้ กลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคนที่ตนสนับสนุน โดยไม่ต้องรับผิดชอบ

ในกรณีสุดโต่ง ถ้าเป็นกรณีบริษัทเอกชน การแทรกแซงก็คือ ใช้อิทธิพลเจ้าของแทรกแซงกดดันการตัดสินใจของกรรมการอิสระ ที่อยู่ในคณะกรรมการสรรหา ให้เสนอชื่อตามที่เจ้าของต้องการ ในกรณีองค์กรของรัฐก็ใช้อำนาจการเมืองแต่งตั้งคนที่สั่งได้เข้าเป็นกรรมการสรรหา มีกระบวนการกลั่นกรองหรือสัมภาษณ์ครบถ้วน แต่ก็เป็นเพียงพิธีกรรม ไม่มีการซักถามหรือสัมภาษณ์จริงจัง (เพราะไม่อยากให้มีใครสอบตก) กระบวนการทุกอย่างทำอย่างไม่โปร่งใส มีแต่ปล่อยข่าวให้สังคมเข้าใจไปว่า ผู้ที่ตนสนับสนุนได้คะแนนดีสุด เหมาะสมที่สุด จากนั้นก็รวบรัดเสนอชื่อโดยไม่มีการบันทึกความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร

ดังนั้น ในแง่ธรรมาภิบาลปัญหาจึงมาจากเรื่องเดียวคือ ความไม่ซื่อตรงต่อตนเองและผู้อื่นของผู้มีอำนาจที่แทรกแซงกระบวนการสรรหา นำไปสู่ความไม่น่าเชื่อถือของการแต่งตั้ง เพราะผู้ที่ได้ตำแหน่งไม่ได้มาด้วยความสามารถในการทำหน้าที่ (Earned authority) แต่ได้ด้วยการใช้อำนาจหรือเส้นสาย (Assumed authority)         

แล้วเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ในกรณีบริษัทเอกชนการแก้ไขคงต้องพึ่งกลไกตลาด ยอมให้ความเสียหายเกิดขึ้นกับบริษัทและตัวเจ้าของ จากที่ไปแทรกแซงให้ผู้ที่ไม่เหมาะสมเข้ามารับตำแหน่ง คนจะขายหุ้นทิ้งและบริษัทก็จะล้มหายตายจากไปเอง

แต่ในกรณีองค์กรรัฐ หน่วยงานรัฐไม่สามารถล้มหายตายจากได้ ดังนั้น จำเป็นที่ประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเจ้าของตัวจริง ต้องช่วยปกป้องให้การสรรหาแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะในตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อประเทศ ให้สามารถเกิดขึ้นได้จริงตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทำได้สองทาง

ทางแรกคือ พยายามสร้างกฎเกณฑ์เพิ่มเติม ให้กระบวนการสรรหาที่มีอยู่ในกฎหมายทำงานให้เกิดผลได้อย่างจริงจัง  ซึ่งที่ทำได้คือ

หนึ่ง แยกการสรรหาและการแต่งตั้งออกจากกันเด็ดขาด ให้การสรรหามีการดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่อย่างอิสระ และคณะกรรมการดังกล่าวต้องไม่ถูกแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง ขณะที่ผู้ที่มีอำนาจแต่งตั้งตามกฎหมาย ก็จะแต่งตั้งจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอเท่านั้น

สอง กรรมการในคณะกรรมการสรรหาทุกคน ต้องเสนอความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้ที่สมควรได้รับตำแหน่ง เป็นลายลักษณ์อักษร เหมือนที่ผู้พิพากษาต้องมีความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรในการพิจารณาคดี และให้สามารถเปิดเผยข้อมูลนี้ได้เมื่อศาลมีคำสั่ง

สาม กำหนดเป็นโทษทางอาญา กับผู้ที่ใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการสรรหาเพราะบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งสามเรื่องนี้ถ้าทำได้จะช่วยลดแรงจูงใจที่จะใช้อำนาจชี้นำกระบวนการสรรหา

อีกทางคือปฏิรูประบบราชการเพื่อลดการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง และอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ ซึ่งสามารถทำได้โดย

หนึ่ง เขียนรัฐธรรมนูญให้แยกอำนาจปกครองออกเป็นสี่อำนาจที่เป็นอิสระจากกัน (Separation of powers) คือ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจฝ่ายข้าราชการประจำ (Bureaucracy) แทนที่จะเป็นสามอำนาจ คือ ตุลาการ บริหาร และนิติบัญญัติอย่างที่ทำกัน การให้ฝ่ายข้าราชการประจำเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร จะปลดการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองในการแต่งตั้งข้าราชการประจำ

สอง เมื่อข้าราชการเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง ก็ควรกำหนดให้ตำแหน่งข้าราชการระดับสูง เช่น ระดับ ซี 10-11 สามารถหมุนเวียนข้ามกรมข้ามกระทรวงได้เพื่อยกระดับความสามารถในการบริหารของระบบราชการทั้งระบบให้สูงขึ้น

สาม ในแต่ละตำแหน่งที่สำคัญต้องให้มีการทำแผนสืบทอดตำแหน่งหรือ Succession planning โดยพิจารณาทั้งจากบุคลากรในหน่วยงานและนอกหน่วยงาน เพื่อเตรียมคนที่เหมาะสมไว้ล่วงหน้า และนำแผนดังกล่าวมาปฏิบัติใช้จริง

ก็หวังว่าวันนี้คงได้ตอบคำถามผู้ที่ถามเรื่องนี้แล้ว