ข่าวดีของหัวหน้า เราไม่ต้องเก่งกว่าลูกน้อง
กาลครั้งหนึ่ง ในอดีตกาล ยามที่งานยังนิ่งๆ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เป็นสิ่งที่คนทำงานสั่งสม
ทีละเล็ก ทีละน้อย อย่างค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อรู้และชำนาญได้ที่ เราก็ได้เป็นลูกพี่ มีลูกน้องให้เราคอยสอนสั่ง
น้องมีปัญหาอะไร พี่มั่นใจ ตอบได้หมดจด
ความเป็นพี่ เป็นที่พึ่ง จึงมีให้เห็นเด่นชัด เพราะพี่สามารถงัดประสบการณ์ยาวนาน มาสยบปัญหาได้เสมอ
แต่…เผลอไม่นาน
วิถีของงานแปรเปลี่ยนไป
ที่เคยเป็นของตาย กลายเป็นไม่นิ่ง
สิ่งที่เคยใช่เคยชอบ อาจไม่ตอบโจทย์ใหม่ๆ..
ผลคือ หัวหน้าที่เชื่อว่าจะเรียกความศรัทธาจากลูกน้องได้ ต้องใช้ความรู้ลึกกว่าลูกน้อง จึงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ
หากคุมเรื่องเดียวยังพอไหว ที่จะให้พี่เจาะลึกควบคู่ไปกับน้อง
แต่พี่ต้องดูทั้งเรื่องงานด้านเทคนิคที่ยากขึ้น เพราะทั้งหลากหลาย ทั้งวุ่นวาย เพราะไม่นิ่ง แถมเพิ่มเรื่องคน.. เรื่องทีม.. เรื่องกลยุทธ์.. เรื่องงบประมาณ.. เรื่องแก้ข้อขัดแย้ง.. เรื่องพัฒนาคน.. เรื่องพัฒนางาน.. เรื่องการเจรจากับทีมอื่น.. เรื่องการประสานงานให้ราบรื่นกับผู้ใหญ่.. เรื่องปกป้องปัดเป่าภัยให้ไกลน้อง.. ฯลฯ
สารพัดสิ่งที่พี่พึงทำ
ดังนั้น หากพี่ตั้งกระบวนท่าว่า ฉันจะต้องรู้ทัน รู้เท่าลูกน้อง เลยต้องใช้เวลาศึกษางานแบบลงลึกล้ำ
กรุณาทำใจได้ว่า ภาพใหญ่ หรือภารกิจใดๆ ที่เป็นหน้าที่พี่หัวหน้าโดยตรง..คงโหว่โบ๋กลวง
นอกจากนั้น อย่าแปลกใจ หากน้องแอบมองหน้า ว่าพี่มาทำอะไรเหมือนผม
ผสมสายตาผู้บังคับบัญชา ที่เหล่มาเป็นระยะๆ ออกระอาว่า
ผมให้คุณเป็นหัวหน้า เพื่อทำหน้าที่ใหม่ มิใช่งานเดิมนะครับ !
สรุปว่า ถึงจุดหนึ่ง หัวหน้างานส่วนใหญ่ จะได้รับผิดชอบงานที่หลากหลาย และกลายเป็นผู้ไม่รู้ลึกเท่าคนที่เราดูแล
หัวหน้าบ้างานบางคน จะเลือกหนทางข้างต้น คือ เร่งศึกษา เร่งหาข้อมูล เพื่อยังคงความเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ”
ส่งผลให้ทั้งเหนื่อย ทั้งหนัก ทั้งล้า ทั้งท้อ ทั้งหมดความมั่นใจ เพราะในที่สุด ก็ยากที่จะทำได้
และไม่รู้ว่าจะใช้วิธีใดสยบลูกน้อง
ดังนั้น ทักษะใหม่ที่ต้องมี จึงมิใช่ใช้สิ่งเดิมๆ แล้วเพียงเติมให้เข้มข้น
วันนี้มาหารือกัน 4 วิธี ที่พี่หัวหน้าน่าจะทำกันค่ะ
1. เน้นความสัมพันธ์ มากกว่าข้อมูล
หัวหน้าที่เป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือ “Specialist” มักเน้นทำเป็น ทำได้
ขณะที่หัวหน้าที่รู้เรื่อง “ทั่วไป” หรือ “Generalist” เน้นรู้กว้าง อาจไม่ต้องรู้ลึกเพื่อตอบได้ด้วยตัวเอง
แต่รู้ว่า สามารถหาข้อมูลได้ที่ใคร หรือต้องไปเจาะแหล่งไหน
ตลอดจนสามารถใช้ทักษะหารือกับลูกน้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของทีม
วิธีหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกทีม คือ
การดูแลเขา เสมือนเราดูแลลูกค้าคนสำคัญ
สื่อสารใส่ใจลูกค้าเช่นไร ก็ทำตัวให้เป็นเช่นนั้นกับคนในทีมเดียวกัน
เพราะพวกเขาเหล่านี้ มีความสำคัญต่อหัวหน้า ไม่แพ้ลูกค้าก็ว่าได้
2. ใช้เวลาสร้างเครือข่าย และความไว้วางใจจากผู้บริหาร โดยไม่เน้นเฉพาะสายงานตน
การแก้ปัญหาระดับหัวหน้า ต้องใช้พลังและปัญญา ที่ได้มาจากความ “กว้าง”
ลองนึกสถานการณ์ที่พี่ไม่ได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้าตน ทั้งยังเอาตัวไม่รอดในหมู่หัวหน้าด้วยกัน ไปไหนวงแตกที่นั่น..
น้องฉันไม่น่าจะอยู่เป็นสุข
ดังนั้น นอกเหนือจากความสัมพันธ์ในทีม พี่ต้องกันเวลาเพื่อหาเครือข่าย
งานรวมขององค์กร ขาดไม่ได้ ต้องให้ความร่วมมือ แบบไม่ถือเขาถือเรา
ทีมอื่นเดือดร้อน ช่วยได้ต้องทำให้เต็มที่
เพราะวันดีคืนร้าย ทีมเราก็ต้องพึ่งเขาเช่นกัน
3. ฝึกมองภาพใหญ่ แทนการใช้เวลาเจาะหารายละเอียด
ความมีค่าของหัวหน้าที่รู้กว้าง แม้ทางลึกไม่ได้ฝึกมาเท่าลูกน้อง
คือ การมองการณ์ได้ไกล เห็นความโยงใยที่มีค่า
สามารถนำมาซึ่งมุมใหม่ๆ ที่ใครอาจมองไม่เห็น โดยเฉพาะผู้ที่ก้มหน้าจ้องมองรายละเอียดยิบจิบจิ๋ว
วิธีฝึกมองภาพใหญ่ ทำได้หลายหนทาง อาทิ วิธีคาดการณ์ในหลากหลายรูปแบบ ที่เรียกว่า Scenario Analysis
หมั่นทดลองกับสิ่งที่เห็นมากมายในชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาในที่ทำงาน หรือแม้ด้านเศรษฐกิจ หรือ สังคม ใช้เป็นกรณีศึกษา เพื่อฝึกทักษะในการคาดการณ์ว่า น่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง อาทิ
สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด Worst-case scenario อาจเกิดอะไร
ภาพดีที่สุด Best-case scenario อาจเป็นเช่นไร
แล้วสถานการณ์ที่น่าเป็นไปได้ที่สุด Most-likely scenario น่าจะออกมาอย่างไร
จากนั้นคอยติดตาม ยามเรื่องคลี่คลาย ว่าสิ่งที่เราคาดหมาย ใกล้เคียงหรือไม่
ฝึกฝนบ่อยๆ จะได้ช่ำชอง มองสถานการณ์ได้อย่างครบ และรอบด้าน
สามารถนำมาปรับใช้ในงาน สมศักดิ์ศรีคนมีตำแหน่งลูกพี่ที่ต้องคิดคม
4. ฝึกคิด “หลายชั้น” แทนการหาคำตอบที่ผิวเผิน
อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้หัวหน้ามองภาพได้ขาด
คือ การฝึกคิด “หลายชั้น” เสมือนสนุกเกอร์ชั้นเซียน
Dr. Wanda Wallace President และ CEO ของ Leadership Forum, Inc. แนะนำเทคนิคหนึ่ง คือ
เมื่อมีปัญหาต้องแก้ ทดลองอ่านผลลัพธ์ที่อาจเกิดต่อบุคคลต่างๆอย่างหลาย “ชิ่ง”
อาทิ คาดผลต่อลูกน้องลึกลงไป 2 ชั้น และ ผลต่อผู้ที่อยู่ระดับสูงกว่าเรา 2 ชั้น
ซึ่งต้องใช้ทั้งวิจารณญาน และจินตนาการ สร้างสานมุมมองอย่างไม่ธรรมดา
ตัวอย่างเช่น หากจะเลื่อนตำแหน่งหัวหน้างานหนึ่งคน ลองคิดว่า เพื่อนร่วมงานจะมีปฏิกริยาอย่างไร ลูกน้องในใส้จะน้อมรับไหม ลูกน้องของลูกน้องจะมองอย่างไร
หัวหน้าเรา เขาจะเห็นดี หรือมีข้อสงสัยหรือไม่ แล้วลูกพี่ของหัวหน้า จะมารูปแบบใด
เล็งหลายชั้นเช่นนี้ พี่จะสามารถหาทางหนีที่ไล่ได้ทั้งไกล ทั้งคม และกว้าง
ถือเป็นการสร้างคุณค่า อย่างหาตัวจับยาก
ทั้งนี้ พฤติกรรมทั้งหลายข้างต้น ล้วนเป็นผลของการฟันธงได้ว่า
ให้น้องเก่งกว่าบ้างก็ได้
ตราบใดที่เราทั้งมองลึก มองไกล มองกว้าง
ตลอดจนได้ใจคน ทั้งที่ห่าง และใกล้ตัว
ลูกน้องย่อมทั้งรัก และศรัทธา เพราะต่างตระหนักว่า
พี่เขา “เก๋า” กว่านัก