จับมือ 484 บริษัท สร้างพลังสู้คอร์รัปชัน

จับมือ 484 บริษัท สร้างพลังสู้คอร์รัปชัน

คอร์รัปชันและการเรียกสินบนยังเป็นปัญหาหนักอกของภาคธุรกิจ แม้รัฐบาลจะแสดงท่าทีจริงจัง

และได้ดำเนินมาตรการใหม่ๆ หลายอย่างเพื่อแก้ปัญหา ทำให้บริษัทที่ต้องการทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาประสบปัญหามาก วันนี้จึงอยากเชิญชวนบริษัทที่เจอปัญหาคอร์รัปชัน ให้รู้จักโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เพื่อรวมตัวกันสู้ปัญหา โครงการแนวร่วมปฏิบัติเป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมโดยสมัครใจ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจที่สะอาดปลอดคอร์รัปชันให้เกิดขึ้นจริง และเป็นพื้นที่ให้บริษัทเอกชนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างเปิดเผย และเป็นกิจจะลักษณะ รวมถึงร่วมผลักดันเปลี่ยนแปลงและสร้างความโปร่งใส ในระบบการทำงานภาครัฐ เพื่อลดความเสี่ยงต่อคอร์รัปชัน วันนี้จึงอยากเชิญชวนบริษัทเอกชนให้เข้าร่วมโครงการ

โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชน ในการต่อต้านการทุจริต หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการ CAC ย่อมาจาก “Collective Action Coalition of the Private Sector Against Corruption” เป็นโครงการร่วมขององค์กรธุรกิจหลักแปดองค์กร ได้แก่ สถาบันกรรมการบริษัทไทย สภาหอการค้าไทย สภาหอการค้าต่างชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียน สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีสถาบันกรรมการบริษัทไทยหรือไอโอดีเป็นเลขานุการและองค์กรขับเคลื่อน

ปัจจุบันโครงการมีความก้าวหน้าอย่างน่าพอใจ จากจุดเริ่มต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 2554 ที่มีบริษัทเอกชนสมัครใจเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ครั้งแรก 27 บริษัท ล่าสุดมีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์แล้ว 484 บริษัท และในจำนวน 484 บริษัทมีบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ที่มี ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน 109 บริษัท ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและมีแนวปฏิบัติภายใน ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันครบถ้วนตามเกณฑ์ของคณะกรรมการ CAC และที่น่ายินดีก็คือ บริษัทที่ผ่านการรับรองนับวันจะมีมากขึ้น

จำนวน 484 บริษัทนี้ บางคนอาจมองว่าน้อยเทียบกับจำนวนบริษัทที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่ถ้าดูพลังเศรษฐกิจของบริษัทเหล่านี้ บอกได้เลยว่า บริษัทที่เข้าร่วม CAC เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ บริษัทที่เข้าร่วมมีทั้งบริษัทไทยและต่างชาติ มีทั้งบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีทั้งบริษัทในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด และมีทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทนอกตลาด เฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะนี้มี 279 บริษัท เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด มูลค่าตลาดของบริษัทที่เข้าร่วมเหล่านี้รวมกันมีสัดส่วนกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าตลาดทั้งหมด

ที่สำคัญมีบริษัทจำนวนมากที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ พร้อมกันแบบยกสมาคม ตัวอย่างเช่น สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 15 แห่ง เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์และส่วนใหญ่ก็ผ่านการรับรองแล้ว สมาคมบริษัทหลักทรัพย์มีบริษัทเข้าร่วม 26 บริษัท สมาคมบริษัทจัดการลงทุน 22 บริษัท สมาคมประกันชีวิตไทย 25 บริษัท และสมาคมประกันวินาศภัยไทย 45 บริษัท          

ข้อเท็จจริงนี้ทำให้บริษัทในโครงการ CAC เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสูงในเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ในแง่จีดีพี สำหรับการจ้างงาน จำนวนพนักงานของบริษัทกลุ่มนี้รวมกันแล้วอาจมีมากกว่าหนึ่งล้านคน นี่คือพลังทางเศรษฐกิจของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ CAC ที่กำลังขับเคลื่อนการทำธุรกิจสะอาด ไม่เอาคอร์รัปชัน ที่นับวันจะมีจำนวนบริษัทมากขึ้นๆ

ทำไมบริษัทเหล่านี้เข้าร่วมโครงการ CAC คำตอบคือ

หนึ่ง  ไม่มีบริษัทเอกชนไหนชอบการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะเป็นต้นทุนต่อการทำธุรกิจ ที่สำคัญการทุจริตคอร์รัปชันทำลายนวัตกรรม แรงจูงใจ และการแข่งขันที่เป็นธรรม และถ้าไม่แก้ปัญหา ประเทศไทยก็อาจเป็นประเทศที่ไม่น่าเชื่อถือในการทำธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ นักธุรกิจหลายกลุ่มจึงมองว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ และการแก้ไขจะพึ่งหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบริษัทเอกชนต้องมีบทบาท ต้องร่วมกันปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ ร่วมกันทำธุรกิจอย่างสะอาดปลอดคอร์รัปชัน และเรื่องนี้จะทำเพียงสองสามบริษัทไม่ได้ ต้องรวมกันเป็นพลัง เป็นแนวร่วมที่มีบริษัทเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่น เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้การทำธุรกิจในประเทศปลอดคอร์รัปชัน ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่เห็นด้วยจึงเข้าร่วม

สอง คือความน่าเชื่อถือของโครงการ CAC ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาค เอกชน ภาครัฐ และหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันของประเทศ เช่น ปปช. ปปท. รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแล เช่น ธปท. กลต. ตลท. และ คปภ. แต่ความน่าเชื่อถือสำคัญมาจากกระบวนการรับรองบริษัท (Certification process) ว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติชัดเจนในการต่อต้านการทุจริต ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด รับรองโดยคณะกรรมการ CAC ทำให้บริษัทที่เข้ามาร่วมต้องมีการวางนโยบาย และแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการต่อต้านการทุจริต มีการสอบทานความถูกต้องโดยผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกว่า มีนโยบายจริง มีแนวปฏิบัติจริง และนำมาปฏิบัติใช้จริง เพื่อให้ได้การรับรอง กระบวนการรับรองที่เป็นระบบนี้ ทำให้โครงการ CAC เป็นโครงการที่ต้องทำจริงจัง น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ บริษัทชั้นนำของประเทศจึงให้ความไว้วางใจและเข้าร่วมโครงการ และเมื่อบริษัทใหญ่เข้าร่วมบริษัทอื่นๆ ก็เข้าร่วมตาม

สาม ก็คือประโยชน์ที่บริษัทได้จากการเข้าร่วมโครงการ CAC ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็คือ บริษัทได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทที่มีจริยธรรม และธรรมาภิบาล หรือระบบการกำกับกิจการที่ดีในทำธุรกิจ เป็นบริษัทที่จริงจังกับเรื่องที่ถูกต้องและเป็นพลเมืองดีจริงๆ ของประเทศ ในทางอ้อม บริษัทก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพลัง ที่จะช่วยกันผลักดันเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน และความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ ที่มักเป็นสาเหตุของการทุจริตคอร์รัปชัน

ที่ผ่านมาบริษัทในโครงการ CAC ได้ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐผลักดันการออกกฎหมายและมาตรการใหม่ๆ หลายอย่าง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดคอร์รัปชันในการติดต่อราชการ เช่น ร่วมผลักดัน พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการ การใช้สัญญาคุณธรรมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการยกร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ของประเทศ เป็นต้น

และที่กำลังเป็นงานใหญ่ที่จะตามมาเร็วๆ นี้ก็คือ ระบบการแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการโดยภาคเอกชน ผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่บริษัทเมื่อติดต่อหน่วยราชการแล้วถูกกลั่นแกล้งหรือเรียกสินบน ก็จะมีช่องทางที่สามารถแจ้งข้อมูลให้กับโครงการ CAC ซึ่งเป็นภาคเอกชนได้โดยตรง ข้อมูลนี้จะถูกวิเคราะห์และส่งผ่านไปให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และจะมีการเปิดเผยข้อมูลนี้ต่อสาธารณะ ในรูปการจัดอันดับหน่วยราชการที่ถูกแจ้งเบาะแสพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดในแต่ละรอบเดือน รวมถึงชมเชยหน่วยราชการที่ภาคธุรกิจแจ้งข้อมูลชมเชยการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ ก็คือช่วยกันสร้างความโปร่งใสเปิดไฟส่องการทำงานของหน่วยราชการให้สว่างเพื่อลดคอร์รัปชัน

ก็อยากให้ภาคธุรกิจมาร่วมโครงการ CAC มากๆ ช่วยกันสร้างประเทศให้ปลอดคอร์รัปชัน เพราะปัญหาคอร์รัปชันแก้ไขได้ เพียงแต่ภาคธุรกิจต้องร่วมกันจริงจัง

ติดต่อโครงการ CAC ได้ที่  www.thai-cac.com คุณกิตติเดช ฉันทังกูล สถาบันกรรมการบริษัทไทย โทรศัพท์ 0 2955 1155 ต่อ 400