อนาคตของ'อีบุ๊ค'
หลายวันก่อน อ่านเจอข่าวที่สุดแสนน่าใจหาย สำหรับวัยรุ่นอย่างผม
“วิบูลย์กิจ”สำนักพิมพ์การ์ตูนขนาดใหญ่ของประเทศไทย กำลังจะยุติการพิมพ์นิตยสารการ์ตูนทั้งหมดเร็วๆนี้ สาวก Dragon Ball เซนต์เซย่า หมัดดาวเหนือ ขุนพลประจัญบาน ฯลฯ อย่าง "โซวบักท้ง" น้ำตาเกือบจะไหลริน!
อ่านข่าวลงในรายละเอียดพบว่า เพราะพฤติกรรมโหลดการ์ตูนฟรีทางอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น ทำให้คนซื้อหนังสือการ์ตูนน้อยลง ยอดขายจึงลดต่อเนื่อง จนเริ่มแบกรับต้นทุนการพิมพ์และค่าลิขสิทธิ์ไม่ไหว แต่วิบูลย์กิจ ไม่ถึงกับเลิกกิจการเลยซะทีเดียว แต่ปรับช่องทางในการจัดจำหน่าย เป็นจำหน่ายแบบระบบ e-book แทน! ซึ่งระบบนี้ทำให้สำนักพิมพ์ตัดภาระเรื่องค่าพิมพ์และจัดส่งได้ทั้งหมด และน่าจะทำให้บริษัทอยู่รอดได้
ผมเองไม่รอช้า ลองคว้ามือถือ โหลดแอพของวิบูลย์กิจ มาซื้อการ์ตูนอ่านดู จัดเรื่อง "ผ่าพิภพไททัน" มาทีเดียว 10 เล่มรวด ปรากฏว่า ไม่ค่อยฟิน เท่ากับการอ่านเป็นเล่มๆ
จริงๆ ผมเองเซอร์ไพรส์กับข่าวนี้พอสมควร ตัวผมเองอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสาวกอีบุ๊ค คนหนึ่งเลยก็ว่าได้ ซื้ออีบุ๊คมาอ่านเป็น สิบๆ ปีแล้ว ตั้งแต่ยุคที่ขายกันแบบเป็น PDF จนกระทั่งมีเครื่องอ่านอีบุ๊ค อย่าง Kindle หรือ Nook แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว หนังสือที่ผมซื้ออ่าน จะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ส่วนหนังสือภาษาไทยจะบอกว่าซื้อน้อยเล่มมากๆ
เหตุผลหลักๆว่าทำไมไม่ค่อยซื้อหนังสือภาษาไทย คงจะต้องบอกว่ามันคือเรื่องของ "ราคา" เพราะแอบงงอยู่พักใหญ่ เหตุไฉนหนังสือไทยบ้านเรา ราคาอีบุ๊คและหนังสือเล่มมันถึงเท่ากัน ทั้งๆที่ต้นทุนในการผลิตและการจัดส่งหนังสือทั้งสองอย่างนั้น ต่างกัน
แต่พอมีโอกาสได้คุยกับเจ้าของสำนักพิมพ์ รวมถึงเจ้าของร้านหนังสือ ที่ทำอีบุ๊คจัดจำหน่าย ก็พอจะเห็นภาพในธุรกิจนี้มากขึ้น สาเหตุหลักที่ราคาอีบุ๊คบ้านเรา ถึงราคาเท่ากับหนังสือเล่มแบบเป๊ะๆ ก็เพราะว่าเจ้าของสำนักพิมพ์หรือเจ้าของร้านหนังสือ ไม่กล้าที่จะ"ฆ่าธุรกิจ"ตัวเอง
จริงๆก็น่าเห็นใจไม่น้อย ลองสมมุติว่าคุณผู้อ่าน เป็นเจ้าของร้านหนังสือที่มีสาขา 100 สาขาทั่วไทย ผู้อ่านจะกล้าขายอีบุ๊คในราคาถูกกว่าหนังสือเล่มสัก 50% หรือไม่ หากขายถูกกว่าขนาดนั้นแล้วคนเกิดหันไปซื้ออีบุ๊คกันหมด แล้วร้านค้าที่มีอยู่กว่า 100 สาขาจะทำอย่างไร ทั้งพนักงาน สต๊อกสินค้า ค่าใช้จ่ายจิปาถะ แค่คิดก็หน้าซีด หน้าเซียว
หรือถ้าเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ อันนี้ยิ่งแล้วใหญ่เลย คนหันไปอ่านอีบุ๊คกันหมด แล้วจะพิมพ์หนังสือให้ใครอ่านกัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าของร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ก็ไม่ได้ว่าจะไม่รู้ทันตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค สถิติของเมืองนอกฟ้องกันเห็นๆอยู่ พฤติกรรมคนอ่านอีบุ๊คเพิ่มขึ้นทุกปีๆ ล่าสุดตัวเลขของเว็บไซต์ Amazon.com แถลงออกมาว่าจำนวนคนที่ซื้ออีบุ๊ค ขึ้นไปแตะ 30% ของคนซื้อหนังสือทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
งานนี้เจ้าของร้านหนังสือหรือสำนักพิมพ์ต่างๆ ก็เลยพยายามเข็นแอพหรือทำอีบุ๊คของหนังสือในเครือตัวเองออกมากันยกใหญ่ แต่ทว่ายังออก "ลูกกั๊ก" กันเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือถึงต้นทุนการผลิตและการจัดจำหน่ายของอีบุ๊คจะต่ำกว่าหนังสือธรรมดามาก แต่จะขายมันเท่ากันนี่แหละ มีอะไรไหม
หนำซ้ำหนังสือขายดี หนังสือใหม่ หนังสือของคนเขียนที่มีชื่อเสียง บางครั้งไม่ออกอีบุ๊คเสียดื้อๆ ผลักให้ผู้บริโภคตาดำๆ ซื้อหนังสือเล่มธรรมดาแบบไม่มีทางเลือก
งานนี้ผมกล้าจะฟันธงได้เลย ถ้าบรรดาร้านหนังสือหรือสำนักพิมพ์ต่างๆ ยังออก"ลูกกั๊ก" กันแบบนี้กั๊กกันไป กั๊กกันมา ท้ายสุดเชื่อขนมกินเลยครับ จะมี"ผู้ที่มาเขย่าตลาด" ทำให้ราคาของหนังสืออีบุ๊คตกอยู่ในสภาพของความเป็นจริง และผู้ที่จะเขย่าตลาดนั้น น่าจะไม่ใช่คนที่อยู่ในธุรกิจ ร้านหนังสือหรือสำนักพิมพ์ เพราะคนในวงการมัวแต่กั๊กกันเองนี่แหละ
ตอนนี้เหมือนจะเริ่มเห็นสัญญาณกันแล้วว่าผู้ที่จะมาเขย่าตลาดคือใคร เห็นว่าล่าสุดบริษัทนี้เพิ่งจะได้รับเงินทุนจากต่างประเทศมาเป็นจำนวนไม่น้อย จนได้ชื่อว่าเป็นบริษัท Start Up ที่ร้อนแรงที่สุดในประเทศไทย
เชื่อว่าผู้บริโภค เป็นใหญ่ที่สุดในวงการธุรกิจ
สัญญาณการหยุดพิมพ์ของวิบูลย์กิจ น่าจะส่งสัญญาณอะไรบางอย่างกับร้านหนังสือและสำนักพิมพ์อื่นๆบ้าง ที่วิบูลย์กิจหยุดพิมพ์การ์ตูนเล่มคนอื่นอาจจะเป็นเพราะว่ากลุ่มผู้อ่านการ์ตูนเป็นเด็กและวัยรุ่นกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนในยุคดิจิทัลอย่างไม่ต้องสงสัย ลองจินตนาการดูว่าอีกเพียงไม่กี่ปี คนกลุ่มนี้จะเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน วัยที่เริ่มมีกำลังซื้อ และต้องการอะไรที่เข้ากับพฤติกรรม หรือไลฟ์สไตล์ของตัวเอง
ไม่รีบปรับตัวเสียแต่วันนี้ รู้ตัวอีกที อาจมีน้ำตาตกได้