ประชารัฐ vs ประชานิยม : พิสูจน์กันที่ผลงาน มิใช่วาทกรรม
“ประชารัฐ” จะดีกว่า “ประชานิยม” หรือไม่นั้นพิสูจน์กันตรงที่ จะสามารถสร้างความแข็งแกร่ง
ให้กับประชาชนใน “ฐานราก” มากกว่าเป็นเพียง “รากหญ้า” หรือไม่
“ประชารัฐ” จะเหมือน “ประชานิยม” หรือไม่ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลที่ทำนโยบายนี้มีเจตนาที่จะ “ซื้อความนิยม” ด้วยงบประมาณแผ่นดินเพื่อตนเองหรือพรรคพวกตนเองหรือไม่
ความเหมือนความต่างของ “ประชารัฐ” กับ “ประชานิยม” จึงไม่ได้อยู่ที่วาทกรรม หากแต่อยู่ที่ “กระบวนการ” และ “ผลที่วัดได้”
ความจริง “ประชานิยม” โดยตัวมันเองที่มาจากคำว่า populist policy นั้นไม่ได้เสียหายอะไรหากมุ่งจะทำในสิ่งที่ “ประชาชนนิยม” จริง ๆ
แต่หลายประเทศที่ผู้นำใช้นโยบาย “ลดแลกแจกแถม” เพื่อทำให้ประชาชนเสพติด ของแจกจากนักการเมืองจนงอมแงม และต้องเลือกกลับมาปกครองบ้านเมืองอีก เป็นต้นแบบของการใช้เงินเพื่อการครอบงำอำนาจ
พอยุคนักธุรกิจหมื่นล้านมาเล่นการเมือง และเห็นว่าจะใช้วิธีการเช่นนี้เพื่อสร้างความนิยมชมชอบได้ ก็หาทางใช้งบประมาณเพื่อการนี้ กลายเป็น populism ที่แปลเป็นไทยว่า “ประชานิยม” ในความหมายทางลบที่น่ารังเกียจไป
ทั้ง ๆ ที่การช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้นั้นเป็นหน้าที่ของรัฐ และการเพิ่มสวัสดิการสังคมในกับชนชั้นกลางนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างไร
การที่นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศแนวทาง “ประชารัฐ” โดยมีรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ระดมพลังจากฝ่ายประชาสังคม ที่นำโดยคุณหมอประเวศ วะสี เป็นความพยายามที่จะทำให้แตกต่างไปจาก “ประชาชนิยม” ด้วยการยืนยันว่าที่ทำนี้ไม่ได้ต้องการสร้างความนิยมชมชอบให้กับตนเองหรือกลุ่มตน เพราะไม่ว่าจะเป็นนายกฯ หรือคุณสมคิด หรือคุณหมอประเวศประกาศจะไม่เล่นการเมืองอยู่แล้ว
นโยบาย “ประชารัฐ” เน้นความร่วมมือระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชา” ที่ประสานพลังกันสร้างความแข็งแกร่งลงไปถึง “ฐานราก” ขณะเดียวกันก็สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในเวทีระหว่างประเทศพร้อม ๆ กันไป
จะทำสำเร็จหรือไม่ไม่ได้อยู่ที่ว่างานเปิดตัวอลังการเพียงใด หรือมีคนมีชื่อเสียงมาร่วมในการแถลงเจตนารมณ์มากน้อยเพียงใด
หากแต่อยู่ที่การลงมือทำงานอย่างจริงจัง ระดมความคิดของคนทุกฝ่าย กระจายความรับผิดชอบไปสู่ท้องถิ่น ฟังเสียงคน “ฐานราก” อย่างกว้างขวาง และประเมินผลกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความแข็งแกร่ง อำนาจต่อรอง และภูมิต้านทานให้กับคนชนบทห่างไกล ที่ยังมีช่องว่างกับชนชั้นกลางและผู้มีอันจะกินในเมืองอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
จะว่าไปแล้วการจะเรียกนโยบายกระจายรายได้ สร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาชนระดับฐานราก (หรือจะเรียก “รากหญ้า” ก็ไม่ได้ผิดกติกาแต่อย่างใด) และลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างเอาจริงเอาจังนั้น จะใช้ชื่ออย่างไรก็คงไม่สำคัญเท่ากับว่าคนทำจริงหรือไม่ และทำแล้วประเทศชาติได้ประโยชน์จริงหรือไม่
แต่ไหน ๆ รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ต้องการจะได้ชื่อว่า “ลอกการบ้าน” ของรัฐบาลคุณทักษิณ และเชื่อว่าตนมีความสุจริตใจกว่า, การแข่งขันเพื่อทำความถูกต้องให้กับคนไทยในทุกระดับด้วย brand ใหม่ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ก่อประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองได้
ทุกฝ่ายในบ้านเมืองกำลังจับตา และประเมินผลงานกันอย่างขะมักเขม้นแน่นอน