บทเรียนซีจี : เหตุเกิดที่โฟล์คสวาเกน
ข่าวใหญ่การกำกับดูแลกิจการ หรือซีจี ที่ดังและสำคัญล่าสุดก็คือ กรณีบริษัทผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก โฟล์คสวาเกน
ถูกกล่าวหาจากหน่วยงานกำกับดูแลว่าโกง (Cheat)การตรวจสอบมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ทำให้รถที่ผลิตโดยบริษัทสร้างมลพิษในอากาศเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ผู้กล่าวโทษคือองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) สหรัฐ เมื่อวันที่ 18 เดือนที่แล้ว ซึ่งพอข่าวออกมาก็ช็อคทุกวงการทั่วโลก เพราะเป็นกรณีความไม่ซื่อตรงในการทำธุรกิจ ที่ไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับบริษัทใหญ่ที่สุดของเยอรมันอย่างโฟล์คสวาเกน กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก ทำให้หุ้นบริษัทลดลงทันทีกว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์ และทำลายมูลค่าตลาดของบริษัทไปกว่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในแง่การกำกับดูแลกิจการหรือธรรมาภิบาล กรณีโฟล์คสวาเกนเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งคำถามที่ตามมาก็คือ หนึ่ง เรื่องแบบนี้เกิดกับบริษัทที่ใหญ่และมีชื่อเสียงอย่างโฟล์คสวาเกนได้อย่างไร ที่น่าจะมีระบบงานและการควบคุมที่เป็นมาตรฐานและไว้ใจได้ สอง คณะกรรมการบริษัททำหน้าที่ดีแค่ไหนในการกำกับดูแลกิจการบริษัท สาม นักลงทุนควรเรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการลงทุนในกิจการที่อาจมีปัญหาด้านธรรมาภิบาล และนำมาสู่ความสูญเสียอย่างที่เกิดขึ้น นี่คือสามประเด็นที่จะเขียนวันนี้ โดยสรุปจากข่าวต่างๆ ที่ออกมา
กรณีโฟล์คสวาเกน เป็นปัญหาธรรมาภิบาลที่คณะกรรมการบริษัทไม่ได้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารอย่างเพียงพอ จนนำไปสู่การโกงอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งรุนแรงมากในแง่ธุรกิจ เพราะเป็นความไม่ซื่อตรงในการทำธุรกิจ ที่ทำลายความไว้วางใจของลูกค้า หน่วยงานกำกับดูแล และอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก ที่มีต่อโฟล์คสวาเกน เราทราบกันดีว่า ปัญหาโลกร้อนทำให้หลายประเทศออกกฎหมายดูแลสิ่งแวดล้อมโดยเข้มงวด รถยนต์ไม่ให้สร้างมลพิษในอากาศที่เกินพอดี ซึ่งในกรณีสหรัฐมีกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) ที่ผู้ผลิตรถยนต์ต้องจำกัดสารพิษ ที่ออกจากท่อไอเสียรถยนต์ ที่ผลิตให้อยู่ในระดับที่กฎหมายกำหนด บังคับใช้กับรถยนต์ทุกบริษัท
กรณีโฟล์คสวาเกน บริษัทได้ตั้งเป้าตั้งแต่ ปี 2009 ที่จะขยายการผลิตให้เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกภายในปี 2016 และตลาดสำคัญที่จะรองรับการขยายตัวก็คือสหรัฐ ที่ผู้บริโภคชอบใช้รถขนาดกลางถึงใหญ่ที่ประหยัดน้ำมัน ทำให้บริษัทโฟล์คสวาเกนมุ่งขยายตลาดรถยนต์ (ขนาดกลาง) ในสหรัฐที่ใช้เครื่องดีเซลเพราะประหยัดน้ำมัน แต่ก็มีต้นทุนสูงในแง่การดูแลมลพิษตามกฎหมาย ทำให้บริษัทต้องออกแบบเครื่องยนต์และระบบการควบคุม ไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินที่กฎหมายกำหนด ซึ่งบริษัทก็ทำให้เข้าใจว่าบริษัทมีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองดูแลปัญหานี้ นำไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดรถโฟล์คสวาเกนในสหรัฐ ที่ขายได้มากกว่า 5 แสนคัน ตั้งแต่ปี 2009 และมีจำนวนผลิตขายทั่วโลก 11 ล้านคัน
เรื่องนี้เป็นปัญหา เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐมีข้อสงสัย ในผลการตรวจสอบมลพิษจากท่อไอเสียของรถโฟล์คสวาเกน ที่ตัวเลขมลพิษจะออกมาสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อนำรถไปวิ่งทดสอบในสภาพถนนปกติ ต่างกับตัวเลขมลพิษที่ได้จากการทดสอบรถในห้องทดลอง (Treadmill) ที่ให้ค่ามลพิษต่ำตามกฎหมาย ความแตกต่างนี้นำมาสู่การสอบสวนเพิ่มเติม โดยมีผู้ตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระเข้าร่วม และในที่สุดก็พบว่า ระบบการควบคุมภายในของรถโฟล์คสวาเกน มีการซ่อนโปรแกรมย่อยที่ตั้งค่าให้ระบบควบคุมมลพิษของรถยนต์ทำงานเต็มที่ ในตอนที่รถอยู่ใน “สภาพ” ถูกทดสอบในห้องทดลอง ทำให้มลพิษที่ตรวจสอบในห้องทดลอง จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตอนที่รถถูกใช้งานปกติในท้องถนน ที่ระบบควบคุมมลพิษจะไม่ทำงาน ทำให้รถโฟล์คจะได้ทั้งการประหยัดน้ำมันและการ (ดูเหมือน) มีค่ามลพิษตามเกณฑ์ที่กำหนด ตามข่าวตัวโปรแกรมย่อยนี้ได้ถูกใส่ไว้ในรถที่ผลิตโดยบริษัททุกคัน ที่ใช้น้ำมันดีเซล ตั้งแต่ปี 2008 ถึง 2015
บริษัทได้ออกมารับผิดทันทีที่ถูกกล่าวโทษ ซึ่งเป็นความผิดที่แสดงให้เห็นถึงการไม่มีจริยธรรมอย่างรุนแรงในการทำธุรกิจ ล่าสุดกรรมการผู้จัดการบริษัทได้ลาออก และยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น ผลที่จะตามมากับบริษัทคงมีมาก ทั้งการปรับจากหน่วยงานกำกับดูแล การเอาผิดทางแพ่งโดยผู้บริโภค และการสอบสวนทางอาญาว่า บริษัทมีเจตนาที่จะโกง หรือหลอกลวงผู้ซื้อและหน่วยงานกำกับดูแลหรือไม่ ที่สำคัญความไว้วางใจหรือ Trust ที่หน่วยงานกำกับดูแล พนักงาน ลูกค้า เจ้าหนี้ และบริษัทคู่ค้า มีต่อโฟล์คสวาเกน คงใช้เวลานานที่จะเยียวยา ล่าสุดจะมีการถอนชื่อบริษัทออกจากดัชนี DJSI (Dow Jones Sustainability Index)ในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ ทำให้บริษัทจะหมดสถานะความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมรถยนต์โลก
เรื่องแบบนี้ เมื่อเกิดขึ้นก็ชี้ชัดเจนว่า การกำกับดูแลกิจการหรือ ธรรมาภิบาล ของบริษัทมีปัญหามาก จนเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งในกรณีโฟล์คสวาเกนมีอย่างน้อยสามประเด็นที่ถือเป็นบทเรียนได้
ประเด็นแรก คือ ความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะในองค์กรใหญ่ ที่ต้องเริ่มจากคณะกรรมการบริษัท ให้ความสำคัญเรื่องธรรมาภิบาล และการทำธุรกิจอย่างซื่อตรง มีจริยธรรมให้อยู่ในดีเอ็นเอของพนักงาน อันนี้เป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยลดพฤติกรรมองค์กรที่ไม่เหมาะสม กรณีโฟล์คสวาเกนประเด็นนี้คงเป็นปัญหาใหญ่ สังเกตจากข่าวไม่ดีเรื่องการกำกับดูแลกิจการของบริษัทที่มีอยู่บ่อย แสดงถึงจุดอ่อนด้านธรรมาภิบาลที่บริษัทมีอยู่และไม่ได้แก้ไข จนนำไปสู่ความผิดพลาดใหญ่ที่ไม่ควรเกิดขึ้น จุดนี้แนวป้องกันสำคัญ ที่คณะกรรมการบริษัทต้องผลักดัน คือสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งในเรื่องจริยธรรมธุรกิจ ให้ฝังอยู่ในการทำงานของผู้บริหารและพนักงาน
สอง ก็คือการทำหน้าที่คณะกรรมการบริษัท ในการกำกับดูแลที่ต้องบกพร่อง จนปัญหาที่ไม่ควรเกิดได้เกิดขึ้นและอยู่ได้นาน กรณีโฟล์คสวาเกน สิ่งแรกที่เห็นชัดก็คือ คณะกรรมการบริษัทหวังผลสูง โดยตั้งเป้าให้ธุรกิจขยายตัวเร็ว แต่ไม่กำกับดูแลอย่างที่ควรทำ ขณะที่ฝ่ายจัดการมีแรงกดดันที่ต้องเร่งขยายการผลิต จนกระทบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเพื่อให้ได้เป้าตามที่คณะกรรมการกำหนดเรื่อง Trade off หรือการได้อย่างเสียอย่างระหว่างการเติบโต และมาตรฐานสินค้า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการบริษัททุกบริษัทต้องตระหนัก เพราะเกิดขึ้นเสมอและกรณีนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
แต่คณะกรรมการบริษัทจะทำหน้าที่กำกับดูแลได้ดีแค่ไหน ส่วนสำคัญจะขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของกรรมการอิสระ ที่มีความรู้ที่จะกล้าตั้งคำถามและซักค้านความเห็นของเจ้าของ และฝ่ายบริหารในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กรณีโฟล์คสวาเกน การขาดกรรมการอิสระที่เพียงพอดูจะเป็นปัญหาชัดเจนของบริษัท เพราะกรรมการส่วนใหญ่จะเป็นกรรมการที่เป็นผู้แทนเจ้าของ (ครอบครัวเจ้าของดั้งเดิม นักลงทุนสถาบัน และรัฐบาลท้องถิ่น) และผู้แทนจากสหภาพแรงงานตามกฎหมายเยอรมัน ทำให้บริษัทขาดกรรมการอิสระ ที่ดูแลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อไม่มีใครคอยซักถาม ความเห็นของคณะกรรมการก็ถูกครอบงำโดยกรรมการผู้แทนเจ้าของ และสหภาพแรงงานที่มองคล้ายกัน คือ ต้องการขยายธุรกิจเพื่อทำกำไร เพิ่มการจ้างงาน โดยมองข้ามประเด็นธรรมาภิบาล และความเสี่ยงที่มาจากการขยายธุรกิจจนปัญหาเกิดขึ้น
สาม สำหรับนักลงทุน บทเรียนคือการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำคัญต่อการลงทุนและเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจ เห็นได้จากหุ้นบริษัท โฟล์คสวาเกนที่ลดลงมากหลังถูกกล่าวโทษ ดังนั้น ในการตัดสินใจลงทุน นักลงทุนต้องให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการในบริษัทที่เข้าไปลงทุน ไม่ใช่ดูแต่ตัวเลขผลประกอบการ แต่ต้องดูผลประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัท รวมถึงติดตามข่าวด้านธรรมาภิบาลของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าบริษัทมีข่าวบ่อยๆ ในเรื่องที่ไม่ดีหรือไม่ควร เหล่านี้มักเป็นตัวชี้บอกว่าธรรมาภิบาลของบริษัทอาจไม่ดี และมักเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่า บริษัทอาจมีปัญหาธรรมาภิบาลใหญ่รออยู่ข้างหน้า