ภาคเอกชนเข้มแข็ง ภาคราชการโปร่งใส

ภาคเอกชนเข้มแข็ง ภาคราชการโปร่งใส

ปลายเดือนที่แล้ว สถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) จัดงานเลี้ยงรับรองกรรมการบริษัทที่มาร่วมหลักสูตร

พัฒนากรรมการ (DCP) ของสถาบัน รุ่น 204-209 ทั้งหมด 178 ท่าน โดยช่วงเปิดงาน ประธานสถาบันไอโอดี คุณเกริกไกร จีระแพทย์ ได้กล่าวต้อนรับและให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ในบรรดาข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ได้เสนอต่อคณะ คสช.เรื่องการปฏิรูปประเทศ (ซึ่งคุณเกริกไกรเป็นสมาชิก และเป็นประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายเศรษฐกิจ) ข้อเสนอหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เรื่องธรรมาภิบาลที่เป็นหัวใจของปัญหาของประเทศ และที่อยากเห็นเกิดขึ้นก็คือ ภาคเอกชนเข้มแข็งและภาคราชการโปร่งใส ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะถ้าสองสิ่งนี้เกิดขึ้นได้พร้อมกัน ก็จะนำพาประเทศไทยให้เติบโตก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่มาก นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

คำว่า “ภาคเอกชนเข้มแข็ง และภาคราชการโปร่งใส” สะท้อนความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับปัญหาที่ประเทศไทยมีอยู่ขณะนี้ เพราะในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ภาคเอกชนต้องเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ถ้าภาคเอกชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศก็จะได้ประโยชน์ ทั้งจากการสร้างรายได้ การลงทุน การจ้างงาน การพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี ทรัพยากรบุคคล นำมาสู่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่สำคัญการเติบโตของภาคเอกชน จะเป็นฐานภาษีสำคัญให้ภาครัฐนำมาใช้จ่ายลงทุนสร้างสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศ ดังนั้น ประเทศใดที่ภาคเอกชนเข้มแข็ง การพัฒนาประเทศก็จะได้ประโยชน์ ตรงกันข้ามประเทศที่ภาคธุรกิจอ่อนแอ ไม่มีการพัฒนา เศรษฐกิจก็จะไม่เติบโตอย่างที่ควร ทำให้ประเทศและคนในประเทศเสียโอกาส

ในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นที่ทราบดีว่าภาคเอกชนจะเข้มแข็งหรือไม่ ส่วนหนึ่งมาจากบทบาทภาครัฐ ที่จะสร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ และการเติบโตของเอกชนผ่านนโยบาย มาตรการ การให้บริการของหน่วยงานรัฐที่ให้แรงจูงใจที่ถูกต้องต่อธุรกิจ นำมาสู่การลงทุน การเติบโต และความเข้มแข็งของภาคเอกชน ตรงกันข้ามถ้าบทบาทหน้าที่ของภาครัฐทำไม่ได้ดี ขาดประสิทธิภาพ สร้างแรงจูงใจที่ผิดพลาด การเติบโต และความเข้มแข็งของภาคธุรกิจ ก็จะมีข้อจำกัด ไม่เกิดขึ้น

ตัวอย่างความผิดพลาดของภาครัฐที่เห็นบ่อยก็คือ หนึ่ง นโยบายไม่ส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจ การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจไม่ให้ความสำคัญกับกลไกตลาด แต่เน้นการแทรกแซงและการอุ้มชู อุดหนุน ช่วยเหลือบริษัทที่แข่งขันไม่ได้ให้ทำธุรกิจได้ ผลก็คือการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศถูกบิดเบือน ทำให้บริษัทไม่เข้มแข็ง เพราะไม่เคยต้องต่อสู้ ปรับตัว ตามความเป็นจริงของภาวะตลาด

สอง ตัวนโยบายเองให้ทิศทางและแรงจูงใจที่ผิดพลาด รวมถึงเปลี่ยนแปลงบ่อยจนสร้างความไม่แน่นอนมาก ทำให้ภาคธุรกิจไม่กล้าตัดสินใจ ไม่อยากลงทุน เพราะกลัวความไม่แน่นอนของนโยบาย ทิศทางที่ผิดพลาดนี้มักมาจากนโยบายที่มีวาระซ่อนเร้น มุ่งให้ประโยชน์กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มเป็นพิเศษมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม นำมาสู่นโยบายที่บิดเบือน และแรงจูงใจทางธุรกิจที่ไม่ถูกต้อง

สาม การให้บริการของภาครัฐในการติดต่อราชการ และหน่วยงานรัฐมีปัญหาจากที่การให้บริการของระบบราชการขาดประสิทธิภาพ ไม่มีความโปร่งใส มีการทุจริตคอร์รัปชันกว้างขวาง มีความไม่แน่นอน ทั้งหมดสร้างต้นทุนมากให้กับภาคธุรกิจ และทำลายแรงจูงใจที่จะทำธุรกิจ ผลก็คือ ธุรกิจไม่อยากลงทุน ไม่มีนวัตกรรม ไม่พัฒนา ไม่เข้มแข็ง

ในประเทศที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ภาคเอกชนของประเทศจะต้องปรับตัวมาก ทำให้บริษัทเอกชนในประเทศถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก คือ บริษัทที่พยายามปรับตัว ทำได้ดี รักษาความมีจริยธรรมทางธุรกิจ และพยายามใช้ทรัพยากรที่มีผลักดันช่วยเหลือให้ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่ปรับตัวไม่ได้ จึงใช้ประโยชน์จากระบบราชการที่ไม่โปร่งใส หาประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนเองเพื่อความอยู่รอด ซึ่งมีตั้งแต่ร่วมเออออทำผิด ทุจริตคอร์รัปชัน ให้สินบน เพื่อซื้อความได้เปรียบหรือความสะดวกทางธุรกิจ พวกนี้คือ พวกคนเคยดี หรือ Good guys gone wrong เพราะสถานการณ์บังคับ ไปถึงพวกไม่ดีหรือเลวที่ไม่ได้เป็นนักธุรกิจจริงจัง แต่ใช้ธุรกิจเป็นเครื่องมือตั้งบริษัท วิ่งหาศูนย์อำนาจ เพื่อใช้อำนาจและเครือข่ายโกงเงินทองของรัฐเพื่อความร่ำรวยของตนเอง

ในประเทศที่มีปัญหา มีการทุจริตคอร์รัปชันรุนแรง จะมีบริษัทประเภทกลุ่มที่สองมาก แต่ก็ไม่ใช่ส่วนใหญ่ ของเราก็เช่นกัน ดังนั้น ในการสร้างภาคเอกชนที่เข้มแข็ง เราต้องทำสามอย่าง อย่างแรก คือ ทำให้การทำนโยบายของภาครัฐมีความถูกต้อง เพื่อลดวาระซ่อนเร้น และการบิดเบือนต่างๆ ที่มักจะเป็นต้นเหตุของปัญหา สอง ส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทที่ดี คือ กลุ่มแรกให้มีความเข้มแข็งต่อไป พร้อมดึงบริษัทกลุ่มที่สองประเภท Good guys gone wrong ให้กลับมาสู่ความถูกต้อง เปลี่ยนพฤติกรรมธุรกิจ เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างที่เคยเป็น และมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศ

โดยความเข้มแข็งนี้ต้องสร้างจาก 1.การทำธุรกิจที่มีจริยธรรม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นบริษัทที่มีความเข้มแข็งด้านธรรมาภิบาล ให้ความสำคัญกับสิทธิและประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 2.ใช้ทรัพยากรบริษัท มุ่งพัฒนาคน นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง และภาพระยะยาวของธุรกิจ 3.ให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ เหนือผลประโยชน์ของบริษัท

สามเรื่องนี้ ถ้าบริษัททำได้ความเข้มแข็ง และความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ก็จะเกิดขึ้นโดยปริยาย เพราะบริษัทจะสามารถรักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ให้ทำงานกับบริษัทต่อไป ขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น พนักงาน ลูกค้า เจ้าหนี้ บริษัทคู่ค้า หน่วยงานกำกับดูแล และนักลงทุน ก็จะสนับสนุนธุรกิจของบริษัท ทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและยั่งยืน

สาม สำหรับบริษัทประเภทที่ถูกตั้งขึ้น โดยมีการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นบิสสิเนสโมเดล ไม่มีจริยธรรมในการทำธุรกิจ สังคมต้องช่วยกันลดบทบาท และกำจัดบริษัทหรือนักธุรกิจจอมปลอมเหล่านี้ให้หมดไป เพราะเป็นตัวทำลายความน่าเชื่อถือของภาคธุรกิจของประเทศ การลดบทบาทนี้ทำได้โดยความเข้มงวดของสมาคมธุรกิจ ที่ต้องเอาจริงกับบริษัทในสมาคมที่มีพฤติกรรมไม่ถูกต้อง เสริมโดยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง นโยบายเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการแข่งขัน ระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และความร่วมมือของภาคเอกชนและประชาสังคมที่ช่วยกันชี้เบาะแส เปิดไฟสว่างไม่ให้คอร์รัปชันเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเทศสามารถทำได้ แต่ในความเป็นจริงมักติดขัดเพราะระบบราชการ ชอบที่จะไม่เอาด้วย ไม่ยอมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุนี้ความโปร่งใสของภาครัฐ จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นจริงจังในประเทศ เรื่องนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ในการแก้ธรรมาภิบาลภาคราชการ แต่ปัญหาอยู่ที่การไม่ยอมทำ หรือไม่พร้อมแก้ไขอะไรจริงจัง ส่วนหนึ่งมาจากระบบราชการเอง ที่ไม่อยากปฏิรูป เพราะไม่อยากสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีอยู่ อีกส่วนหนึ่งมาจากผู้มีอำนาจเองที่ไม่กล้าใช้อำนาจปรับปรุงระบบราชการจริงจัง เพราะอาจติดระบบอุปถัมภ์ที่มีอิทธิพลมาก หรือติดผลประโยชน์ที่ได้จากระบบปัจจุบันในการครองอำนาจ ด้วยเหตุผลง่ายๆ นี้ ธรรมาภิบาลในระบบราชการ จึงเป็นปัญหาเรื้อรังไม่มีการแก้ไขมาตลอด

ภาคเอกชนเข้มแข็งและภาคราชการโปร่งใส จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ถ้าจะให้อนาคตของประเทศดีขึ้น