ต้องร่วมกันสร้างจุดสว่าง แก้คอร์รัปชัน
ผมเป็นคนชอบดูหนัง และเรื่องหนึ่งที่ชอบมากคือ Enemy at the Gates หรือ ศัตรูอยู่หน้าประตูบ้าน
เป็นหนังสงครามสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่กองทัพเยอรมันกำลังบุกเข้ายึดนครสตาลินการ์ดของรัสเซีย ความพร้อมและความดุดันของกองทัพเยอรมัน ทำให้ทหารรัสเซียขวัญเสียไม่ยอมรบ และถอยร่นจนเดือดร้อนถึงผู้นำครุสชอฟ (Khrushchv)ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมือง ต้องมาที่สตาลินการ์ดด้วยตนเอง
ฉากสำคัญของหนังคือ ฉากครุสชอฟประชุมและสั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของพรรค หาวิธีที่จะทำให้ทหารรัสเซียกล้า มีขวัญและกำลังใจที่จะรบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง) ได้เสนอให้สร้างความกล้าและสร้างกำลังใจให้ทหารรัสเซีย โดยยกย่องเยินยอและสรรเสริญความสำเร็จของทหารที่กล้าหาญ ที่รบเก่ง ที่ต่อสู้และไม่ยอมแพ้ให้เป็นตัวอย่าง ให้เป็นที่ทราบทั่วกัน เพื่อให้ทหารคนอื่นมีกำลังใจ มีความกล้า และฮึกเหิมที่จะรบตาม ซึ่งก็สำเร็จเพราะกองทัพเยอรมันไม่สามารถยึดกรุงสตาลินการ์ดได้ และความพ่ายแพ้นี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามโลกครั้งที่สอง
ที่ผมเขียนเรื่องนี้ ก็เพราะการยกย่องความสำเร็จที่เกิดขึ้นในจุดเล็กๆ หรือ Bright spotและนำความสำเร็จดังกล่าวมาทำซ้ำ และขยายผลจนเป็นความสำเร็จใหญ่ คือ วิธีที่ศาสตราจารย์คลิทการ์ด (Prof.Klittgard)แห่งมหาวิทยาลัย Claremont ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือกูรูระดับโลก ในเรื่องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ได้พูดถึงในงานสัมมนาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันประจำปี ของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริต เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ คลิทการ์ด ให้ความเห็นว่า ปัญหาคอร์รัปชันที่รุนแรง จะเป็นปัญหาเชิงระบบ เป็นปัญหาของระบบแรงจูงใจที่ผิดพลาด ที่ทำให้คนมีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้น การแก้ไขต้องแก้ที่ระบบ โดยผู้ที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาปัญหาที่มีอยู่ในระบบ และร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบและแรงจูงใจ เพื่อนำไปสู่พฤติกรรมที่ถูกต้อง
แนวทางนี้ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ ที่การแก้ไขได้นำไปสู่ระบบการให้บริการของภาคราชการที่ดีขึ้น โปร่งใสขึ้น และลดการทุจริตคอร์รัปชัน แต่จากที่คอร์รัปชันมักเกิดขึ้นกว้างขวางจนเป็นพฤติกรรมร่วมของสังคม คนส่วนใหญ่ในสังคมจึงท้อใจไม่ร่วมแก้ไขปัญหา เพราะมองว่าเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ตัวอย่างของความสำเร็จจาก Bright spotหรือจุดสว่างเล็กๆ จึงสำคัญมาก เพราะจะทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่า ปัญหาคอร์รัปชันสามารถแก้ได้จริง
เพราะได้เห็นความสำเร็จในจุดเล็กๆ ที่สำคัญ ความสำเร็จเล็กๆ นี้ จะเปลี่ยนทัศนคติทางลบของคนที่เชื่อว่า คอร์รัปชันแก้ไม่ได้ นำไปสู่การเกิดความรู้สึกร่วม และพลังการแก้ปัญหาที่จะเติบโตขึ้น จนจุดสว่างเล็กๆ แผ่ขยายเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่มองเห็นชัดเจน ในลักษณะนี้ปัญหาคอร์รัปชันจึงสามารถแก้ไขได้ ลดทอนได้ ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ แต่การแก้ไขต้องเริ่มโดยทำให้คนเห็นเป็นข้อเท็จจริงว่า มีจุดสว่างในการแก้ปัญหากำลังเกิดขึ้น และทุกคนต้องนำจุดสว่างเหล่านี้มาขยายต่อเพื่อให้เกิดโมเมนตั้ม ซึ่งหลายประเทศในโลกได้ทำสำเร็จมาแล้ว
ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง คอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงระบบ ที่ฝังอยู่ในพฤติกรรมการทำงานของภาครัฐ และในพฤติกรรมการทำธุรกิจของภาคเอกชน เป็นเหมือนระบบอาชญากรรมจัดตั้ง ที่อยู่ขนานไปกับระบบราชการปกติ ที่ดูเหมือนเป็นดุลยภาพที่ผู้ให้และผู้รับดู พอใจบนต้นทุนความเสียหายที่ร้ายแรงต่อประเทศชาติ
ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องอุดรูรั่ว ลดแรงจูงใจไม่ให้ระบบอาชญากรรมจัดตั้งเกิดขึ้น ซึ่งแก้ไขได้ เพราะส่วนหนึ่งเป็นการแก้ไขวิธีการทำงานของระบบราชการที่มีอยู่ และอีกส่วนเป็นพฤติกรรมภาคเอกชน ที่พร้อมร่วมทุจริต เพราะมีแรงจูงใจให้ทุจริต ทั้งตัวระบบและแรงจูงใจดังกล่าวเป็นสิ่งสามารถแก้ไข รื้อทิ้ง และสร้างใหม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดขึ้นมาและสร้างขึ้นมา ขณะที่พฤติกรรมภาคเอกชนที่ทุจริต ก็จะเปลี่ยนตามแรงจูงใจที่ถูกเปลี่ยน เมื่อมีการแก้ปัญหา เช่น ระบบมีความโปร่งใสมาก จนจับกุมผู้ทุจริตได้ง่าย หรือผู้ถูกจับกุมถูกลงโทษจริงจัง
แต่ที่การแก้ไขดูยาก ก็เพราะคนส่วนใหญ่ยังท้อใจไม่ร่วมแก้ไข มองว่าปัญหามีทั่วไปหมด เป็นพฤติกรรมที่แพร่หลายจนไม่รู้จะเริ่มแก้ตรงไหน และแก้อย่างไร การแก้ไขจึงไม่เกิดขึ้น นี่คือความกลัวที่จะแก้ไขปัญหา ซึ่งในทางจิตวิทยา ความกลัวที่จะแก้ไขปัญหาจะเกิดจากสองสิ่ง หนึ่ง ไม่เข้าใจว่าปัญหาที่มีอยู่จะแก้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องข้อเท็จจริง สอง มีทัศนคติทางลบต่อการแก้ปัญหา เพราะไม่มีใครทำ อันนี้เป็นปัญหาความไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ควรทำเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ควรทำ
สองสิ่งนี้คือข้อจำกัดที่ทำให้คนส่วนใหญ่มักไม่ร่วมมือ เปลี่ยนพฤติกรรมคอร์รัปชัน ทั้งๆ ที่ไม่ชอบและรู้ว่าผิดกฎหมาย เช่น การไม่ยอมจ่ายค่าปรับแต่ให้สินบนแทน เพื่อซื้อความสะดวก ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดกฎหมาย ไม่ถูกต้อง และไม่ควรทำ ทางออกในเรื่องนี้ที่ศาสตราจารย์คลิทการ์ดพูด ซึ่งเป็นแนวคิดที่มาจากหนังสือชื่อ Switchเขียนโดย Chip Heath และ Dan Heathคือ ต้องสร้างจุดสว่างเล็กๆ ของความสำเร็จ หรือ Bright spot ให้เกิดขึ้นให้เห็นจริงจัง (ซึ่งคือเรื่องข้อเท็จจริง) และขยายวงจุดสว่างเหล่านี้ จนเกิดเป็นกระแสที่นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมในวงกว้าง (ซึ่งก็คือเรื่องทัศนคติ)
ถ้ากลับมาคิดในกรณีของปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทย แนวคิดนี้น่าสนใจ เพราะเรามีคอร์รัปชันมาก จนเป็นพฤติกรรมเชิงระบบของคนในสังคม ขณะเดียวกัน ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาก็มีมาก ทั้งภาครัฐ ภาคราชการ และภาคเอกชน ทำให้จุดสว่างเริ่มมีให้เห็น ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือ หนึ่ง ศึกษาความสำเร็จของจุดสว่างเหล่านี้ หรือ Bright spotว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และ สอง ขยายผลความสำเร็จนี้ โดยทำให้เป็นที่รู้จักให้ เป็นที่ทราบทั่วกัน เพื่อนำไปสู่การทำซ้ำ นำไปสู่จุดสว่างที่ใหญ่กว่า หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมในวงกว้าง
ในลักษณะนี้ โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริต หรือโครงการ CAC ถือได้ว่าเป็นจุดสว่างจุดหนึ่งในภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เพราะเป็นความสมัครใจของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ที่ต้องการสนับสนุนพฤติกรรมการทำธุรกิจที่สะอาด ปลอดคอร์รัปชัน โดยบริษัทที่เข้าร่วม จะต้องมีนโยบายของบริษัทชัดเจน ที่จะทำธุรกิจอย่างสะอาด ไม่มีการให้สินบนและทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งต่อภาคเอกชนด้วยกัน หรือเจ้าหน้าที่รัฐ สนับสนุนโดยบริษัทต้องมีระบบการควบคุมภายในป้องกันคอร์รัปชัน การประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน และการนำระบบป้องกัน และควบคุมภายในดังกล่าวไปปฏิบัติจริง
สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขและพันธกิจที่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการต้องทำ และบริษัทที่สามารถทำตามพันธกิจเหล่านี้ได้ หลังมีการสอบทานความถูกต้องของนโยบาย และระบบโดยผู้ตรวจสอบภายนอก บริษัทก็จะได้การรับรองจากคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติ ที่มี ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบาย และมีระบบในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันเหล่านี้เป็นพันธกิจของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำ และสนับสนุนการทำธุรกิจสะอาดให้เกิดขึ้นกว้างขวาง เพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ
ปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วมโครงการ CAC แล้ว 522 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียน 293 บริษัท และในจำนวนนี้มี 122 บริษัท ที่ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC นี่คือตัวอย่างของจุดสว่างหรือ Bright spotที่กำลังเกิดขึ้นในภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่เราต้องช่วยกันขยายผลให้เติบโต ให้มีความสว่างมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการทำธุรกิจในประเทศ และถ้าความสว่างนี้สามารถเกิดขึ้นได้กว้างขวาง จนเป็นพฤติกรรมธุรกิจใหม่ ความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันก็จะลดลงมาก คือ เมื่อไม่มีผู้ให้ ผู้รับก็จะไม่มีอะไรรับ การทุจริตคอร์รัปชันก็จะเกิดยาก
ดังนั้น เราต้องช่วยกันค้นหา และสนับสนุนจุดสว่างในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ให้เกิดขึ้นกว้างขวางในประเทศ และช่วยกันเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้จุดสว่างเหล่านี้สามารถเติบโตเป็นพลัง ที่จะทำลายปัญหาที่เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของชาติขณะนี้ให้สำเร็จ