อีกความสำเร็จการพัฒนาซีจี บจ.ไทย
สองอาทิตย์ก่อน สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี ได้แถลงผลการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน
ไทย (CGR)ประจำปี 2558 ซึ่งผลออกมาน่าพอใจมาก คะแนนประจำปีของบริษัทจดทะเบียน หรือ บจ.ไทยทั้งหมด 588บริษัท เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 75ซึ่งอยู่ในระดับดี ที่สำคัญปีนี้คะแนนประเมินเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกหมวด และสะท้อนการให้ความสำคัญของ บจ.ไทยในเรื่องการปฏิบัติตามนโยบายด้านซีจีอย่างเป็นรูปธรรม วันนี้จึงอยากเขียนเรื่องนี้ เพื่อให้ผู้อ่านเศรษฐศาสตร์บัณฑิตรับทราบความน่าพอใจนี้
การกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาล นำไปสู่การเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาทั้งสถาบันไอโอดี หน่วยงานกำกับดูแลและองค์กรเอกชน เช่น สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และสมาคมนักลงทุนไทย ได้ร่วมกันผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี พร้อมมีการประเมินการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ต่อเนื่องเป็นรายปี ตั้งแต่ปี 2544 โดยใช้เกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่สถาบันไอโอดีพัฒนาขึ้น ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการ เกณฑ์ดังกล่าว ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแต่ละปีตามความเหมาะสม เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับพัฒนาการในระดับสากล
ในการประเมินครั้งแรกปี 2544 คะแนนรวมของ บจ.ไทยอยู่ที่ร้อยละ 50 (จากคะแนนเต็มร้อย) จากนั้นคะแนนก็พัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับ สูงสุดที่คะแนนร้อยละ 80 ปี 2553 จากนั้นคะแนนก็ยืนอยู่ระหว่างร้อยละ 77-78 ในช่วงสามปีต่อมาก่อนจะลดลงที่ร้อยละ 72 ปีที่แล้ว หลังเกณฑ์การประเมินมีการปรับครั้งใหญ่ในปี 2557 ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของ ASEANCG Scorecardที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมา เพื่อประเมินซีจีของบริษัทจดทะเบียนหนึ่งร้อยบริษัทแรก ของแต่ละตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน ทำให้ปีนี้มีการจับตาว่า คะแนนประเมินCGR ปี 2558 จะกลับมาดีขึ้นหรือไม่ จากที่ลดลงปีที่แล้ว เพราะเกณฑ์การประเมินมีการปรับให้ยากขึ้น
ผลที่ออกมาน่าพอใจมาก คะแนนประเมินด้าน CG หรือ Corporate Governance ปีนี้อยู่ในระดับดี จากการสำรวจ บจ.ทั้งหมด 588 บริษัท โดยคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 75 สูงกว่าปี 2557 ที่เฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 72 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของคะแนนเฉลี่ยทุกหมวด ยกเว้นหมวดการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน ที่มีคะแนนเฉลี่ยเท่าเดิม ซึ่งเป็นคะแนนเฉลี่ยที่สูงอยู่แล้ว
หมวดอื่นๆ ที่คะแนนเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ หมวดสิทธิของผู้ถือหุ้น หมวดการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมวดการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส และหมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
หากพิจารณาคะแนนเฉลี่ยรายหมวดของผลสำรวจปีนี้พบว่า มีสี่หมวดที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป คือ หมวดการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน สิทธิของผู้ถือหุ้น การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 91, 91, 80 และ 70 ตามลำดับ ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่การปฏิบัติตามหมวดการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย ได้รับคะแนนเฉลี่ยระดับร้อยละ 70 ซึ่งเป็นระดับดี ส่วนหมวดที่มีคะแนนเฉลี่ยในระดับร้อยละ 60 คือ หมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ปีนี้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 66 ซึ่งเป็นหมวดที่ บจ.ไทยจะต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านซีจีมากขึ้น
ในรายละเอียดมีบริษัทจดทะเบียน 405 บริษัท ที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป หรือระดับดีขึ้นไป โดยบริษัทที่ได้รับคะแนนร้อยละ 90 ขึ้นไปหรือระดับดีเลิศมีจำนวน 55 บริษัท (ร้อยละ 9) บริษัทที่ได้รับคะแนนร้อยละ 80-89 หรือระดับดีมาก มี 159 บริษัท (ร้อยละ 27) และบริษัทที่ได้รับคะแนนร้อยละ 70-79 หรือระดับดี มี 191 บริษัท (ร้อยละ 33)
ก็ต้องแสดงความยินดีกับทุกบริษัทที่คะแนนปีนี้ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว สำหรับบริษัทที่คะแนนเท่าเดิม หรือลดลงก็อยากจะให้กำลังใจให้มุ่งพัฒนาด้านซีจีต่อไป เพราะสำคัญไม่ใช่เฉพาะต่อธุรกิจของบริษัทเท่านั้น แต่สำคัญต่อการยกระดับมาตรฐานซีจีของบริษัทจดทะเบียนของประเทศไทยทั้งหมดด้วย ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะสร้างความไว้วางใจของนักลงทุน ต่อการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนไทย
สำหรับผลการประเมินปีนี้ ก็ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการด้านซีจีที่น่าสนใจ ของบริษัทจดทะเบียนไทยอย่างน้อยสามประเด็น
ประเด็นแรกก็คือ บริษัทจดทะเบียนไทยให้ความสำคัญต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติจริง ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ควบคู่ไปกับการกำหนดนโยบายด้านซีจี ทำให้ปีนี้เป็นปีแรกที่คะแนนของ บจ.ไทยในหมวดการคำนึงถึงบทบาทผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพิ่มเป็นร้อยละ 70 สิ่งที่ บจ.ไทยได้ทำและเห็นชัดปีนี้คือ การกำหนดและเปิดเผยแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าและเจ้าหนี้ การจัดให้มีช่องทางในการร้องเรียนเรื่องต่างๆ การกำหนดนโยบายและแนวทางในการป้องกันพนักงาน หรือผู้แจ้งเบาะแสในการกระทำผิด และการจัดให้มีช่องทางสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแจ้งหรือร้องเรียนกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิ เพื่อให้ข้อมูลเพื่อการติดต่ออย่างชัดเจน
อีกประเด็นที่เห็นชัดและน่าพอใจ คือ การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างมาก คือนอกเหนือจากการจัดให้มีนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีกระบวนการในการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีระบบการติดตามดูแล และจัดให้มีการฝึกอบรมแก่พนักงาน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบาย และแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นผลส่วนหนึ่ง จากการเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริตของ บจ.ไทยที่ล่าสุดมี บจ.ไทยเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 295 บริษัท และในจำนวนนี้มี 60 บริษัท ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC แล้ว
สอง หมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ยังเป็นหมวดที่คะแนนของ บจ.ไทยอยู่ในระดับต่ำสุดเทียบกับสี่หมวดที่เหลือ ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพและการทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการควรพิจารณาทบทวนและอนุมัติภารกิจ และกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทอย่างน้อยทุกปี การกำหนดนโยบายจำกัดจำนวนบริษัทจดทะเบียน ที่กรรมการจะมานั่งดำรงตำแหน่งกรรมการได้ไม่เกิน 5 แห่ง การกำหนดนโยบายจำกัดจำนวนปี ในการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระไว้ไม่เกิน 9 ปี การจัดให้มีแผนสืบทอดตำแหน่งซีอีโอ (CEO) การเปิดเผยหลักเกณฑ์และกระบวนการ ในการประเมินผลงานของคณะกรรมการทั้งคณะและกรรมการรายบุคคล รวมถึงประเมินผลงานของคณะกรรมการชุดย่อย สิ่งเหล่านี้อยู่ในวิสัยที่คณะกรรมการบริษัทสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้
สาม มีบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก คือ มูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาดต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาทจำนวนสี่บริษัท ที่ได้ผลการประเมินในระดับดีเลิศ หรือ ห้าดาว ในปีนี้ และมีสิบห้าบริษัท ที่ได้ผลประเมินระดับดีมาก หรือ สี่ดาว ชี้ว่าขนาดของธุรกิจไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาซีจีของ บจ.ไทย จึงควรส่งเสริมให้คณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัท ตระหนักถึงคุณค่าของการมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติที่กว้างขวางขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทสามารถทำได้ และจะช่วยลดความห่างของคะแนนระหว่าง บจ.ที่ได้คะแนนสูงสุด และคะแนนต่ำสุดให้ลดลง (ปัจจุบันความห่างเฉลี่ยอยู่ที่ 60 คะแนน) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งระบบ