Google Tax ดัดหลังธุรกิจข้ามชาติเลี่ยงภาษี
จากหลายบทความก่อนหน้านี้ ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสนำเสนอ และ จากบทความของ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
ที่ได้กล่าวถึงธุรกิจข้ามชาติในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสื่อ โซเชียลมีเดีย หรืออีคอมเมิร์ซ ที่สามารถให้บริการจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย และได้ฉกฉวยโอกาสจากความเหลื่อมล้ำกับธุรกิจภายในประเทศ ส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย ต้องรั่วไหลออกจากประเทศ จนเป็นผลลบต่อห่วงโซ่อุปทาน หรือกระทั่งผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทย
จนเกิดเป็นแนวคิดที่ว่า “เศรษฐกิจไทยจะหดตัวเพราะธุรกิจดิจิทัล” เพราะธุรกิจสื่อ โซเชียลมีเดีย หรืออีคอมเมิร์ซ ที่ประชาชนของชาติใช้ เกือบทั้งหมด เป็นการให้บริการมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น
ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับที่ปรึกษาท่านหนึ่งของ International Telecom Union (ITU)หน่วยงานสากลระดับโลก ที่ได้มอบรางวัล ITU Global Sustainable Digital Development Award ให้กับนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ไม่กี่เดือนก่อน
จากการสนทนาครั้งนั้นทำให้ได้ข้อสรุปว่า ปัญหามูลค่าทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลเกิดการรั่วไหลออกนอกประเทศในยุคดิจิทัล ไม่ใช่เป็นปัญหาที่เกิดเฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ของธุรกิจข้ามชาติ
ความเป็นอภิสิทธิของธุรกิจข้ามชาติ ที่มีเหนือกว่าธุรกิจท้องถิ่นภายในประเทศ คือ ความสามารถในการเคลื่อนย้ายรายได้ ต้นทุน และกำไร ระหว่างประเทศ เพื่อเลือกเสียภาษีในประเทศที่อัตราภาษีต่ำสุด
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย คือกรณีที่ แอ๊ปเปิ้ล ได้สร้างรายได้จากการขายสินค้าและบริการในออสเตรเลีย เป็นมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่กลับเสียภาษีให้กับออสเตรเลียเพียง 2,000 ล้านบาท จากการสืบค้นความจริงได้พบว่าด้วยความสามารถในการจัดโครงสร้างธุรกิจของตัวเองที่มีอยู่ทั่วโลก ทำให้แอ๊ปเปิ้ล สามารถทำให้กำไรส่วนใหญ่ไปปรากฏอยู่ในบัญชีของแอ๊ปเปิ้ลที่ประเทศไอร์แลนด์ที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลเพียง 12.5% และเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำสุดต่ำที่สุดในโลก
ไม่ใช่แค่ไอร์แลนด์ที่เป็นปลายทางของธุรกิจข้ามชาติในการโยกกำไร ประเทศสิงค์โปร์ ที่มีภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 17% ก็เป็นสวรรค์อีกแห่งหนึ่ง ที่ธุรกิจข้ามชาติในออสเตรเลีย นิยมใช้เป็นที่บันทึกกำไรและจ่ายภาษี
ทั้งนี้ มีการประเมินว่าธุรกิจข้ามชาติ 10 บริษัท ได้โยกย้ายรายได้ ที่คิดเป็นมูลค่าเกือบ 8 แสนล้านบาท ออกจากระบบเศรษฐกิจของออสเตรเลีย ไปยังสิงคโปร์ในปีที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นรายได้จากการซื้อขายสินค้าและบริการในประเทศออสเตรเลีย
ในมูลค่าเกือบ 8 แสนล้านบาทนี้ มีการประเมินว่า กว่า 50,000 ล้านบาท เป็นรายได้ของ Google จากการขายสื่อโฆษณาให้กับประชาชนและธุรกิจในออสเตรเลีย แต่รายได้ส่วนนี้ ถูกบันทึกเป็นรายได้ของ Google ในสิงคโปร์เช่นกัน
อังกฤษ ก็มีปัญหาเช่นเดียวกับ ออสเตรเลีย เมื่อปีที่ผ่านมาได้มีการค้นพบว่า Facebook จ่ายภาษีเพียง 2 แสนบาท Amazon จ่ายเพียง 500 ล้านบาท Apple จ่ายเพียง 600 ล้านบาท และ Google จ่ายเพียง 625 ล้านบาท ในขณะที่ทั้งสี่บริษัท ได้สร้างรายได้รวมเกือบ 1 ล้านล้านบาท จากการขายสินค้าและบริการในประเทศอังกฤษ
จึงเป็นที่มาของ กฎหมายที่ถูกขนานนามว่า Google Tax ที่อังกฤษกำลังยกร่างขึ้นมาเพื่อกำราบธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติโดยเฉพาะเจาะจง เพื่อบังคับให้ธุรกิจเหล่านี้ ต้องเสียภาษีในประเทศอังกฤษ ในอัตรา 25% และป้องกันการโยกย้ายรายได้และกำไรออกจากประเทศ โดยจะมีข้อยกเว้นกับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก
นอกจาก Google Tax ของอังกฤษ ประเทศออสเตรเลีย ก็กำลังนำเสนอ Netflix Tax เพื่อบังคับการชำระภาษีการขายทั่วไปในอัตรา 10% กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ ที่ขายสินค้าดิจิตอล เข้ามาในออสเตรเลีย เช่น การดาวน์โหลดภาพยนตร์ เพลง หนังสือ เกมส์ และการให้บริการทางดิจิทัลอื่นๆ
ไม่เพียงเท่านี้ กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปและนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ และอีกหลายประเทศในโลก ก็กำลังมีแนวทางที่จะนำเสนอภาษีในรูปแบบเดียวกับ Google Tax และ Netflix Tax โดยเน้นหลักความสำคัญว่า สินค้าและบริการนั้นได้ถูกบริโภคในที่ใด แทนที่จะมุ่งเน้นว่าสินค้าและบริการนั้นได้ถูกให้บริการมาจากที่ใด
Google Tax และ Netflix Tax และกฎหมายของประเทศอื่นๆ ที่กำลังจะตามมา กำลังสร้างแรงกดดันให้กับธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติในยุคดิจิทัล โดยไม่ได้หวังผลเพียงแค่การปกป้องมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศ แต่ยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ที่สร้างโอกาสให้ธุรกิจดิจิทัลภายในประเทศ สามารถแข่งขันได้ โดยลดความได้เปรียบของธุรกิจข้ามชาติ
หวนกลับมามองประเทศไทย เศรษฐกิจดิจิทัลของชาติ มีความเสียเปรียบยิ่งกว่าอังกฤษ ออสเตรเลีย หรืออีกหลายประเทศ ที่เริ่มออกมาตอบโต้การเอาเปรียบของธุรกิจข้ามชาติ แต่เมื่อไหร่ เราจึงจะมีมาตราการออกมาตอบโต้ หรือมียุทธศาสตร์ทางเทคโนโลยีดิจิทัล ที่คำนึงถึงบริบทของการแข่งขันระหว่างประเทศ