เมื่อ บจ.ไทย เป็นที่หนึ่งใน ซีจี อาเซียน

เมื่อ บจ.ไทย เป็นที่หนึ่งใน ซีจี อาเซียน

วันเสาร์ที่ 14 พ.ย.2558 ผมไปร่วมงาน ASEAN Corporate Governance Awards หรือ งานมอบรางวัลบรรษัทภิบาล

ดีเด่นอาเซียน ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นการมอบรางวัลแก่บริษัทจดทะเบียนในอาเซียน ที่ได้คะแนนการประเมินการกำกับดูแลกิจการสูงสุดตามเกณฑ์ ASEAN CG Scorecard ผลที่ออกมาเป็นข่าวดีและน่ายินดีมาก เพราะมีบริษัทจดทะเบียนไทยมากถึง 23 บริษัท ที่ติดอันดับTOP 50 บริษัทจดทะเบียนอาเซียน ที่มีคะแนนการกำกับดูแลกิจการสูงสุด ทำให้ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนในเรื่องซีจีของบริษัทจดทะเบียน

นอกจากนี้ เฉพาะอันดับสูงสุดห้าอันดับแรก บริษัทจดทะเบียนไทยสองบริษัท คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ติดอยู่ในห้าบริษัทแรกของอาเซียนซึ่งน่าภูมิใจมาก วันนั้นในงานมอบรางวัล บริษัทจดทะเบียนไทยทั้ง 23 บริษัท ได้ไปร่วมงาน ถือเป็นหน้าเป็นตา เป็นความสำเร็จ เป็นภาพพจน์ที่ดีของบริษัทจดทะเบียนไทย และภาคเอกชนไทย วันนี้จึงขอเขียนเรื่องนี้เพื่อยกย่อง และชื่นชมทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการผลักดันการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนให้มีความก้าวหน้า จนเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน เป็นที่ประจักษ์ของนักลงทุนทั่วโลก

โครงการASEAN CG Scorecardริเริ่มโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ของประเทศในอาเซียน ภายใต้ความร่วมมือของ ACMF หรือ ASEAN Capital Markets Forum ที่ต้องการส่งเสริมให้หุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อาเซียน เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนในตลาดการเงินโลก (Asian Asset Class)และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โครงการ ASEAN CG Scorecard ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุน เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลมากน้อยแค่ไหน เพื่อลดข้อห่วงใยของนักลงทุน ที่อาจมีต่อมาตรฐานธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดอาเซียน

ภายใต้แนวคิดนี้ โครงการ ASEAN CG Scorecardได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลกิจการ จากหกประเทศในอาเซียนเข้าร่วมดำเนินโครงการ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งในกรณีของประเทศไทย สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยในโครงการนี้ ได้ร่วมพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนอาเซียน หรือ ASEAN CG Scorecard และทำการประเมินบริษัทจดทะเบียนในตลาดอาเซียน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอีกห้าประเทศ โดยได้ประเมินบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อาเซียนทั้งหมด 550 บริษัท เลือกจากบริษัทจดทะเบียนร้อยอันดับแรก ของแต่ละตลาดหลักทรัพย์ในห้าประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย และอีก 50 บริษัทจากตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม ทั้งหมดเรียงตามมูลค่าตลาด

สำหรับเกณฑ์การประเมินของ ASEAN ก็ยึดตามกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ OECDPrinciples of Corporate Governance ที่ให้ความสำคัญกับห้าเรื่อง คือ (1) สิทธิของผู้ถือหุ้น (2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน (3) บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และ (5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ นอกจากนี้ ยังมีการให้คะแนนพิเศษเป็น Bonusแก่บริษัทจดทะเบียนที่ทำได้ในประเด็นสำคัญเกินกว่าที่เกณฑ์กำหนด และมีคะแนนลงโทษหรือ Penaltyสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ทำในสิ่งที่ไม่สมควร ที่สื่อถึงการขาดธรรมาภิบาลอย่างรุนแรง การประเมินตามเกณฑ์ ASEAN CG Scorecard นี้ ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2012 แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการเปิดเผยรายชื่อบริษัท ที่ติดอันดับสูงสุดห้าสิบอันดับแรกของอาเซียนให้ทราบทั่วกัน

ผลคือ มีบริษัทจดทะเบียนจากประเทศไทย จำนวน 23 บริษัท ติดอันดับ TOP50 ของอาเซียน คือ ติดอันดับบริษัทที่ได้รับคะแนนประเมินสูงสุดห้าสิบบริษัทแรก ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ติด TOP50ของอาเซียนมากที่สุด เป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ที่สองคือฟิลิปปินส์ที่มี 11 บริษัทจดทะเบียน ติด TOP50อาเซียน อันดับสามคือสิงคโปร์ ที่มีบริษัทจดทะเบียน 8 บริษัท ติด TOP50อาเซียน จากนั้นเป็นมาเลเซียที่มี 6 บริษัท และอินโดนีเซียมีสองบริษัท

และที่น่ายินดีมากคือ ในอันดับสูงสุดห้าอันดับแรกของบริษัทจดทะเบียนอาเซียน หรือ TOP 5 มีบริษัทจดทะเบียนไทยสองบริษัท คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ติดอันดับ TOP5พร้อมกับอีกสามบริษัทในอาเซียนที่ติดอันดับ TOP5คือBURSA MALAYSIA BERHADของมาเลเซีย DBS GROUP HOLDINGS LTDของสิงคโปร์ และ SINGAPORE TELECOMMUNICATIONS LIMITEDของสิงคโปร์

รายชื่อบริษัทจดทะเบียนไทยทั้ง 23 บริษัทที่ติด TOP50 อาเซียน ด้านการกำกับดูแลกิจการ (เรียงตามตัวอักษร) คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

จากรายชื่อข้างต้นจะเห็นว่า การปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติได้ในทุกสาขาธุรกิจ ในทุกขนาดของกิจการ ไม่จำกัดหรือเฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นบริษัทในบางธุรกิจหรือเป็นเรื่องเฉพาะบริษัทใหญ่ แต่เป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติและทำได้ทั่วไป กรณีของประเทศไทย ความสำเร็จในคืนวันเสาร์ที่ 14 พ.ย.2558 สะท้อนความสำเร็จของความพยายามของหลายฝ่าย ที่ได้ร่วมกันผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้เกิดขึ้นต่อเนื่องในภาคเอกชนไทย ทั้งโดยบริษัทจดทะเบียนเองที่ให้ความสำคัญเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานกำกับดูแล คือ ก.ล.ต.ที่จัดทำคู่มือแบบแสดงรายการข้อมูลแบบ 56-1 ที่สร้างความโปร่งใสในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ที่ประเมินคุณภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทจดทะเบียน

ความร่วมมือทั้งหมดนี้ได้นำมาสู่ความสำเร็จในคืนวันที่ 14 พ.ย.2558 ที่น่ายินดี จึงขอชื่นชมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เป็นที่ทราบทั่วกัน