นักธุรกิจรุ่นใหม่กับจริยธรรมธุรกิจ

นักธุรกิจรุ่นใหม่กับจริยธรรมธุรกิจ

เดือนที่แล้ว ผมเขียนถึงโลกธุรกิจใหม่ที่กำลังรอเราอยู่ช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ที่จะยากและแตกต่างจากปัจจุบันมาก

ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจโลกจะยังมีปัญหาเรื่องการฟื้นตัว อัตราการเติบโตจะลดต่ำลง สร้างแรงกดดันต่อการทำธุรกิจ อีกส่วนจะมาจากบทบาทเทคโนโลยีที่จะมีอิทธิพลต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ต่อวิธีการผลิต และต่อวิถีชีวิตของผู้บริโภค สร้างแรงกดดันต่อความอยู่รอดของโมเดลธุรกิจแบบดั้งเดิม ต่อความเป็นบริษัทในฐานะองค์กรธุรกิจ และต่อการมีงานทำของคนรุ่นใหม่ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะทำให้จริยธรรม และความไว้วางใจกลายเป็นปัจจัยสำคัญ และเป็นปัจจัยหายากในการทำธุรกิจ เป็นที่ต้องการของคนทำธุรกิจเพื่อลดความผิดพลาด และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและมั่นคง

วันนี้ จึงจะขอแชร์ความคิดต่อว่า ในภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจเช่นนี้ นักธุรกิจรุ่นใหม่ควรตั้งรับ และเตรียมตัวอย่างไรกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยเก็บตกมาจากสิ่งที่ผมได้พูดให้นักศึกษาที่สถาบันพัฒนบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฟัง เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ในหัวข้อภาวะผู้นำกับจริยธรรมธุรกิจ (Leadership through Business Ethics) และได้พูดซ้ำที่กรุงโตเกียวเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนให้กับนักศึกษาปริญญาโทที่ได้รับทุนการศึกษาจากไอเอ็มเอฟภายใต้โครงการ JASPA ในหัวข้อ Economic Outlook, Governance and Business Ethics.

ในโลกธุรกิจที่ยากขึ้น ภาวะผู้นำในโลกธุรกิจก็จะยิ่งยากมากขึ้น เพราะต้องอาศัยความสามารถและคุณภาพที่แท้จริงของผู้นำซึ่งในโลกธุรกิจใหม่นี้ คุณลักษณะโดดเด่นที่ผู้นำธุรกิจจะต้องมี ก็คือ ทักษะและความสามารถแท้จริง (Talent) การมีเครือข่ายที่ดีสนับสนุนในรูปของ network และมีความดีงามในแง่การมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ หรือ Ethics ที่เป็นที่ประจักษ์

3 สิ่งนี้จะสำคัญมากสำหรับนักธุรกิจรุ่นต่อไป เพราะ Talent หรือความสามารถแท้จริงจะเป็นพื้นฐานของการสร้างธุรกิจด้วยตนเอง ซึ่งกินความมากกว่าความรู้และความขยัน แต่หมายถึงความสามารถที่จะเข้าใจและเสาะหาโอกาสทางธุรกิจโดยใช้ความเก่ง ความรู้ และความสามารถที่ตนมีอยู่สร้างโอกาสทางธุรกิจให้เกิดขึ้น เป็นความสามารถที่คนอื่นทำไม่ได้ สนับสนุนโดยการมีเครือข่ายหรือnetwork ที่ดี

เครือข่ายนี้ไม่ได้หมายถึงการใช้ระบบอุปถัมภ์ เพื่อแสวงหาความได้เปรียบทางธุรกิจอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การใช้เส้นสายเพื่อการทุจริตคอร์รัปชัน แต่หมายถึงการใช้ความรู้ ความสามารถของคนอื่นที่เรารู้จักมาช่วยทำให้โมเดลธุรกิจของเราเกิดขึ้นจริง และประสบความสำเร็จ เป็นการเอาความรู้และทักษะ ที่คนอื่นมี ที่กระจายอยู่ในบุคคลต่างๆ มารวมเป็นพลังสร้างหรือขับเคลื่อนธุรกิจของเราให้ประสบความสำเร็จ เครือข่ายนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเครือญาติ หรือเพื่อนเก่าที่เรารู้จัก แต่เป็นบุคคลอื่นที่เราตั้งใจเสาะหา และตั้งใจรู้จัก เพื่อใช้ความสามารถของบุคคลเหล่านี้ มาสร้างพลังในธุรกิจที่คนอื่นทำไม่ได้ แต่เราต้องการทำ และเราก็มีความสามารถและมีความดีงามพอที่จะดึงคนเหล่านี้ให้มาร่วมทำงานด้วยอย่างเต็มใจ

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความดีงามของเราเป็นที่ตั้ง ให้คนที่เราติดต่อด้วย คนที่ได้สัมผัสเราเกิดความไว้วางใจ และปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความไว้วางใจนี้ ก็คือ การมีจริยธรรมที่ดีในการทำธุรกิจของเรา จนเป็นที่รับรู้ เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นคนดี ดีจริง ด้วยกาย วาจา และใจ ไม่ใช่ประเภท คนดีแต่ก็โกง เรื่องนี้สำคัญและนับวันจะเป็นสิ่งที่หายากของวงการธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจจากนี้ไปจะยิ่งยากขึ้น ต้องแข่งขันมาก และต้องปรับตัวมาก แต่ถ้าเราทำได้ เป็นผู้นำธุรกิจที่มีจริยธรรมจนเป็นที่ประจักษ์ ผู้นำเหล่านี้จะไปได้ไกลและจะเป็นผู้นำธุรกิจที่ภาคธุรกิจไทย คนไทย และประเทศไทยต้องการ

จริยธรรมธุรกิจ คืออะไร คิดว่าคงไม่ต้องสาธยาย เพราะนักธุรกิจทุกคนกว่าที่เรียกตนเองได้ว่าเป็นนักธุรกิจ ก็ต้องเป็นผู้มีการศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี รู้ในตัวบทกฎหมายว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูก อะไรเป็นสิ่งที่ผิด นักธุรกิจรุ่นใหม่ก็เช่นกันทราบและเข้าใจดีว่าอะไรผิด อะไรถูก แต่สิ่งที่อยากจะแนะนำวันนี้เป็นเรื่องที่ยากมากกว่า คือ เราจะฝึกฝนตัวเองอย่างไรในฐานะนักธุรกิจที่จะยึดมั่นในความมีจริยธรรม เพื่อให้ผิดพลาดน้อยที่สุด ไม่ใช่จริยธรรมแบบสร้างภาพ แต่เป็นจริยธรรมโดยความประพฤติ เพื่อให้สามารถเติบโตเป็นผู้นำทางธุรกิจที่มีจริยธรรม

คำแนะนำข้อแรก คือ ต้องตระหนักว่า ภาวะผู้นำเป็นการเดินทางไกลที่ต้องฝึกฝน ภาวะผู้นำไม่ได้เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด แต่เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นภายหลังด้วยการฝึกฝนตนเอง มีคนกล่าวว่าผู้นำคือผลลัพธ์ของกระบวนการเติบโตที่หล่อหลอมมาจากประสบการณ์ชีวิตของตนเองอย่างตั้งใจ คือ ตั้งใจจะเป็นผู้นำ ไม่ใช่ผู้นำที่เป็นเพราะตำแหน่ง การหล่อหลอมนี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในชีวิตจริงที่เราถูกทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกในความเป็นผู้นำ ในลักษณะนี้ จริยธรรมในการทำธุรกิจก็เช่นกัน ที่ผู้นำที่มีจริยธรรมจะถูกทดสอบอยู่ตลอดเวลาในชีวิตการเป็นนักธุรกิจ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แล้วแต่เหตุการณ์ และเมื่อเกิดขึ้นเราต้องสามารถตัดสินใจได้ว่าเราจะทำหรือไม่ทำ เป็นการทดสอบที่ไม่มีวันสิ้นสุดบนการเดินทางของความเป็นนักธุรกิจ

สอง โจทย์ใหญ่ด้านจริยธรรมธุรกิจ ไม่ใช่โจทย์ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรถูกผิดตามกฎหมายนั้นชัดเจน และนักธุรกิจทุกคนก็รู้ดีเพราะทุกคนมีการศึกษา แต่เชื่อหรือไม่นักธุรกิจที่ทำผิดกฎหมายส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่มีการศึกษาดีทั้งสิ้น นี่คือความท้าทายแรกของจริยธรรม แต่โจทย์ที่ยากกว่าและเป็นความท้าทายด้านจริยธรรมที่แท้จริง ก็คือ เมื่อเราต้องเลือก ต้องตัดสินใจระหว่าง 2 สิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่ท้าทายความเชื่อและค่านิยมของเรา แต่เราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่คือ ประเด็นความขัดแย้งด้านจริยธรรมหรือ Ethical dilemma ซึ่งยากกว่าประเด็นผิดถูกตามกฎหมาย และความสามารถของเราว่า จะบริหารจัดการประเด็นความขัดแย้งด้านจริยธรรมนี้ได้ดีหรือไม่ จะเป็นตัวบอกแท้จริงถึงความเป็นผู้นำด้านจริยธรรมของเรา

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้องเลือกระหว่าง การพูดความจริงกับความกตัญญูต่อบุคคลที่เราเคารพนับถือ ระหว่างความซื่อตรงและความรับผิดชอบ หรือคำมั่นสัญญาที่เราได้เคยให้ไว้ ระหว่างประโยชน์ส่วนตนที่ถูกต้องตามกฎหมาย กับประโยชน์ส่วนรวมที่เราจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้ประโยชน์ หรือระหว่างผลประกอบการระยะสั้น กับความมั่นคงระยะยาวของธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นบททดสอบด้านจริยธรรมให้เราต้องตัดสินใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งในชีวิตประจำวันและในชีวิตการเป็นนักธุรกิจ ดังนั้นสิ่งที่ผู้นำรุ่นใหม่ต้องพยายามฝึกฝนคือ ต้องมีสติที่จะรู้ตัวว่าการทดสอบกำลังเกิดขึ้น และมีวิธีตัดสินใจที่จะตั้งรับการทดสอบเหล่านี้