โค้งตัดใหม่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โค้งตัดใหม่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โลกกำลังเริ่มต้นศักราชใหม่ ในเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยโค้งตัดใหม่ที่ใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เป็นแผนที่นำทาง

ปี 2558 ผ่านพันไป พร้อมกับสุดเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในโค้งแรกที่ใช้เวลาเดินทาง 15 ปี ด้วยเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) ซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ.2543

บทสรุปของการเดินทางในโค้งแรกของการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย สามารถหาอ่านได้จากบทความที่แล้ว ในชื่อตอนว่า ‘สุดโค้งแรกการพัฒนาที่ยั่งยืน’

โลกกำลังเริ่มต้นศักราชใหม่ ในเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยโค้งตัดใหม่ที่ใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) 17 ข้อ เป็นแผนที่นำทาง ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางนับจากนี้ไปอีก 15 ปี จวบจนปี พ.ศ.2573

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ชุดนี้ ได้ผ่านการรับรองโดย 193 ประเทศสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2558 ภายใต้เอกสารวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ที่ชื่อว่า ‘Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development

ทางโค้งตัดใหม่ SDGs ประกอบไปด้วยถนน 5 สาย(Areas) 17 แยก (Goals) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ในถนนสายที่ 1 - สายพหุชน (People)มี 5 แยก คือ แยก 1: การขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่ แยก 2: การขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน แยก 3: การทำให้แน่ใจถึงการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ แยก 4: การทำให้แน่ใจถึงการได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน และแยก 5: การบรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ และเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน

ในถนนสายที่ 2 - สายพิภพ (Planet)มี 6 แยก คือ แยก 1: การทำให้แน่ใจว่าเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน แยก 2: การทำให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เชื่อถือได้ ตามกำลังซื้อของตน แยก 3: การทำให้แน่ใจถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน แยก 4: การดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น แยก 5: การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และแยก 6: การพิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ในถนนสายที่ 3 - สายพิพรรธน์(Prosperity)มี 4 แยก คือ แยก 1: การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน แยก 2: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม แยก 3: การลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ และแยก 4: การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน

ในถนนสายที่ 4 - สายปัสสัทธิ(Peace)มี 1 แยก คือ การส่งเสริมให้สังคมมีความเป็นปกติสุข ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการเข้าถึงความยุติธรรมโดยถ้วนหน้า และสร้างให้เกิดสถาบันอันเป็นที่พึ่งของส่วนรวม มีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ

ในถนนสายที่ 5 - สายภาคี(Partnership) มี 1 แยก คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฏิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับถนนสายที่ 5 นี้ ประเทศไทย สามารถริเริ่มบทบาทความเป็นผู้นำในการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือในรูปของแนวพื้นที่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Corridor) กับประเทศเพื่อนบ้านในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม) โดยใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของทั้งห้าประเทศในอนุภูมิภาค ซึ่งมีพื้นที่รวมกันราว 2 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรรวมกันราว 240 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของอาเซียนโดยประมาณ (ทั้งขนาดพื้นที่และประชากร) และมีจีดีพีรวมกันประมาณ 5.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นหนึ่งในสี่ ของอาเซียน

ถัดจากนั้น ไทยสามารถใช้การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับภูมิภาคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(Regional Partnership for Sustainable Development) เป็นคานงัด (Leverage) ไปสู่การสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับประเทศสำคัญๆ นอกภูมิภาค ที่มีข้อตกลงอยู่แล้ว อาทิ GMS (กับจีน) Mekong-Ganga (กับอินเดีย) Mekong-Japan (กับญี่ปุ่น) Mekong-ROK (กับสาธารณรัฐเกาหลี)

หวังเอาไว้ว่า การเข้าโค้งตัดใหม่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย นับจากปี พ.ศ.2559 เป็นต้นไป จะบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดในกรอบ SDGs ในอีก 15 ปีข้างหน้า!