ความเสี่ยงที่กรรมการบริษัทควรทราบ

ความเสี่ยงที่กรรมการบริษัทควรทราบ

วันนี้ ผมเขียนบทความนี้เพื่อผู้อ่านที่เป็นกรรมการบริษัทโดยเฉพาะ เขียนในฐานะกรรมการผู้อำนวยการสถาบันกรรมการบริษัทไทย

หรือไอโอดี เพื่อสื่อความว่าความท้าทายต่อกรรมการบริษัทนับวันจะมีมากขึ้น ทำให้การทำหน้าที่กรรมการบริษัทเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ เพื่อให้บริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นของผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่กรรมการ

ความท้าทายที่ผมพูดถึงนี้มี 2 ลักษณะ ลักษณะแรก คือ โจทย์ทางธุรกิจของบริษัทที่นับวันจะยากมากขึ้น เพราะโลกธุรกิจปัจจุบันมีความไม่แน่นอนมาก และมีการแข่งขันสูง ความไม่แน่นอนคือความเสี่ยงต่อธุรกิจ ดังนั้นถ้ากรรมการบริษัทขาดความเข้าใจที่ดีในความเสี่ยงที่บริษัทมีหรือไม่สนใจในประเด็นความเสี่ยงก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ซึ่งจะส่งผลอย่างสำคัญต่อธุรกิจ ความท้าทายที่สอง คือ การคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อการทำหน้าที่ของกรรมการ ซึ่งปัจจุบันการคาดหวังมีสูงขึ้นกว่าในอดีตมากทั้งจากผู้ถือหุ้น นักลงทุน หน่วยงานกำกับดูแล และภาคประชาสังคมที่อยากเห็นกรรมการบริษัททำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อประโยชน์ของธุรกิจและความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจของประเทศ ความท้าทายเหล่านี้ทำให้ประเด็นเรื่องความรู้ คุณสมบัติ จริยธรรม และความพร้อมของผู้ที่จะมาทำหน้าที่กรรมการ เช่น ผ่านการอบรมในหลักสูตรกรรมการ เป็นสิ่งที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสำคัญและจับตามอง และที่ต้องตระหนักก็คือการคาดหวังเหล่านี้ไม่ได้เป็นกระแสที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่เป็นพัฒนาการถาวรที่สังคมธุรกิจและนักลงทุนมีต่อกรรมการและการทำหน้าที่ของกรรมการ

ไอโอดี ในฐานะสถาบันกรรมการมีพันธกิจในการสนับสนุนกรรมการบริษัทให้สามารถทำหน้าที่กรรมการด้วยความมั่นใจ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ นักลงทุน ผู้ถือหุ้น หน่วยงานกำกับดูแล และภาคประชาสังคม มีความมั่นใจในความสามารถของกรรมการในการทำหน้าที่ ซึ่งไอโอดีทำหน้าที่นี้ผ่านการจัดหลักสูตรอบรมกรรมการบริษัทที่ปัจจุบันมีเกือบ 20 หลักสูตรต่อปี จัดการสัมมนาให้ความรู้กรรมการ จัดประเมินผลการทำหน้าที่ของคณะกรรมการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี พัฒนากรรมการอาชีพ และศึกษาวิจัยประเด็นกรรมการเพื่อออกแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการ รวมถึงให้ความเห็นในประเด็นกรรมการเพื่อการทำนโยบายของหน่วยงานรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของสถาบันได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย

แต่ประเด็นที่จะเขียนถึงกรรมการบริษัทวันนี้ คือ เรื่องความเสี่ยง การบริหารความเสี่ยงเป็นหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของกรรมการบริษัทที่กรรมการต้องเข้าใจว่า ความเสี่ยงสำคัญต่อบริษัทที่กำกับดูแลอยู่คืออะไร และบริษัทควรบริหารและจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไร เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อธุรกิจ

ตัวอย่างเช่นปีนี้ ต้องยอมรับว่าความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจมีสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งเท่าที่ไอโอดีประเมินก็มีข้อสรุปเบื้องต้นว่า สำหรับปี 2559 มีประเด็นความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงอย่างน้อย 3 ประเด็นที่กรรมการบริษัท ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจไหนต้องให้ความสำคัญ

อย่างแรก คือ เศรษฐกิจและภาวะตลาดการเงินโลก ที่ปีนี้จะมีความไม่แน่นอนสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือโอกาสของการเกิดปัญหาเสถียรภาพรุนแรงในระบบการเงินโลก จากจุดเปราะบางต่างๆ ที่มีอยู่ขณะนี้ เห็นได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมาที่ปรับตัวลดลงรุนแรง จากความห่วงใยของนักลงทุนต่อสถานการณ์ในตลาดหุ้นจีน นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศบราซิล ปัญหาหนี้ในประเทศตลาดเกิดใหม่ การปรับลดลงมากของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และผลกระทบที่จะตามมา รวมถึงความผันผวนของการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ จากแนวโน้มที่ทางการสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องปีนี้ จุดเปราะบางเหล่านี้เป็นความไม่แน่นอนที่อาจเป็นชนวนให้เกิดปัญหาเสถียรภาพที่รุนแรงในเศรษฐกิจโลกได้ เป็นเรื่องที่กรรมการต้องพยายามทำความเข้าใจเพื่อหาทางลดผลกระทบที่อาจมีต่อธุรกิจ

ความไม่แน่นอนที่สองคือ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศหรือ Geo-politics และการก่อการร้ายที่นับวันจะเป็นความเสี่ยงที่มากขึ้นๆ ต่อทั้งการทำธุรกิจ ความปลอดภัยในทรัพย์สินและการลงทุน สิ่งที่เราเห็นตั้งแต่ต้นปีคือ ข่าวความขัดแย้งและการก่อการร้ายในหลายพื้นที่ในโลกที่มีบ่อยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทระหว่างซาอุดิอารเบียกับอิหร่าน วิกฤติผู้อพยพในประเทศเยเมน (Yemen) ความน่ากลัวและอิทธิพลของกลุ่มไอซีส (ISIS) ทั้งด้านการทหารและการก่อการร้ายที่สามารถคุกคามความปลอดภัยในชีวิตประจำวันและการทำธุรกิจ รวมถึงความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับกลุ่มประเทศนาโต้ที่อาจสั่นคลอนความปลอดภัยและเสถียรภาพของเศรษฐกิจในยุโรป เหล่านี้เป็นความไม่แน่นอนที่ไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์จะพัฒนาต่อไปอย่างไร แต่กรรมการจำเป็นต้องหาข้อมูลสร้างความเข้าใจเท่าที่จะทำได้ เพื่อการป้องกันผลที่อาจมีต่อธุรกิจ

เรื่องที่สามก็คือ เศรษฐกิจไทยเองว่าปีนี้ แนวโน้มจะเป็นอย่างไร จะขยายตัวดีขึ้นหรือไม่ และจะสามารถดูแลตัวเองจากแรงกระทบจากภายนอกได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบการฟื้นตัวและเสถียรภาพของประเทศ ในกรณีของไทยต้องยอมรับว่าความไม่แน่นอนด้านนโยบายเองก็มี ไม่ว่าจะเป็นนโยบายระยะสั้นในการดูแลเสถียรภาพการเงิน โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน และการปฏิรูปเศรษฐกิจว่าภาครัฐจะเอาจริงกับการแก้ปัญหาโครงสร้างและการลงทุนในปีนี้หรือไม่ ซึ่ง ณ จุดนี้ความไม่ชัดเจนในทั้งสองเรื่องคงกระทบการตัดสินใจของภาคธุรกิจ

เพื่อให้กรรมการบริษัทสามารถเข้าใจและมีโอกาสได้ฟังความเห็นของผู้รู้ในทั้งสามประเด็นความไม่แน่นอนที่กล่าวถึง สถาบันไอโอดีจะจัดสัมมนากรรมการบริษัทครั้งแรกปีนี้ ในหัวข้อ “Economic and Business Outlook 2016 : Hot-button Issues for Directors” หรือ แนวโน้มเศรษฐกิจและธุรกิจ ปี 2016 : ประเด็นร้อนสำหรับกรรมการในวันจันทร์ที่ 18 มกราคม คือวันนี้โดยทางสถาบันได้รับเกียรติจาก ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมาให้ความเห็นในเรื่องเศรษฐกิจ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) จะมาให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินโลก ปี 2016 โดยเฉพาะประเด็นตลาดหุ้น และสถานการณ์ในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเด็นร้อนขณะนี้ และ Mr. Neil Fergusกรรมการผู้จัดการ บริษัท Intelligent Risks จะมาให้ความเห็นเรื่องโฉมหน้าใหม่ของการก่อการร้าย และผลที่จะมีต่อการทำธุรกิจ ซึ่งทั้งสามเรื่องนี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อกรรมการบริษัท

ก็อยากเชิญชวนกรรมการบริษัททุกท่านให้เข้าร่วมฟัง งานจะจัดวันนี้ที่ห้อง Ballroom 3 โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ ตั้งแต่เวลา 11.30-14.30 น. ก็หวังว่าคงจะได้พบกัน