แสงสว่างปลายอุโมงค์ของการแก้คอร์รัปชัน

แสงสว่างปลายอุโมงค์ของการแก้คอร์รัปชัน

รายงานผลสำรวจความคิดเห็นกรรมการและผู้นำธุรกิจเอกชน จำนวน 828 ราย ช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ปี 2558 เกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชัน

โดยโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตหรือ CAC ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า คอร์รัปชันยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ โดยร้อยละ 90 ของกรรมการและผู้นำธุรกิจให้ความเห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่สูงถึงสูงมาก แต่ร้อยละ 48 มองว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องช่วงสองปีที่ผ่านมา เทียบกับร้อยละ 24 ที่มองว่าปัญหารุนแรงขึ้น ตัวเลขเหล่านี้ชี้ว่านักธุรกิจขณะนี้เริ่มมองปัญหาคอร์รัปชันว่ามีการปรับตัวในทางที่ดีขึ้น แม้ตัวปัญหาจะยังเป็นปัญหาใหญ่ และเริ่มมีจุดสว่างหรือ Bright Spot ในการแก้คอร์รัปชันให้เห็นมากขึ้น ทำให้ความหวังในการแก้คอร์รัปชันที่เคยดูดำสนิทและมืดมน เริ่มจะมีแสงสว่างซึ่งเน้นว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่แก้ไขได้

สิ่งที่เป็นจุดสว่างในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ได้จากผลสำรวจล่าสุดก็คือ

จุดสว่างที่หนึ่ง ความตระหนักรู้และความพร้อมของภาคธุรกิจเอกชนที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยร้อยละ 85 ของกรรมการและผู้นำธุรกิจมีความเห็นว่า ภาคเอกชนต้องมีบทบาทสูงในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 72 ในการสำรวจเมื่อสองปีก่อน ร้อยละ 65 แสดงเจตนาที่จะให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตอย่างแน่นอน ขณะที่อีกร้อยละ 33 พร้อมที่จะให้ความร่วมมือหากมีแผนงานที่ดำเนินการได้

ในความเห็นของผม ภาคเอกชนต้องเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เพราะภาคเอกชนอยู่ในสมการคอร์รัปชันในฐานะผู้ให้ ถ้าผู้ให้มีความตระหนักว่าคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขและพร้อมใจร่วมมือ โอกาสที่จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศให้สำเร็จก็มีสูง อันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ดังนั้นสิ่งที่ต้องพยายามกันมากๆ ก็คือ ผลักดันให้ภาคเอกชนหรือบริษัทธุรกิจปฏิเสธการให้สินบนและการจ่ายใต้โต๊ะในการทำธุรกิจ ทำให้การให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องของคนส่วนน้อยในภาคธุรกิจที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับและไม่ทำกัน ซึ่งในเรื่องนี้เริ่มมีจุดสว่างให้เห็นแล้ว

ตัวอย่างจุดสว่างที่เห็นชัดก็คือ โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตที่ให้บริษัทที่ต้องการทำธุรกิจอย่างสะอาด ปลอดคอร์รัปชัน สามารถมีพื้นที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ที่จะทำธุรกิจอย่างสะอาดได้อย่างเปิดเผย และมีที่ยืนได้อย่างสง่างามในสังคมธุรกิจไทย เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมอย่างสมัครใจ โดยบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์มีพันธกิจที่ต้องทำ 2 ด้าน หนึ่ง บริษัทต้องมีนโยบายบริษัทชัดเจนที่จะทำธุรกิจอย่างสะอาด ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นนโยบายระดับคณะกรรมการบริษัทหรือเจ้าของ และ สอง บริษัทต้องมีระบบการควบคุมภายในและมีแนวปฏิบัติชัดเจนที่จะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันไม่ให้เกิดขึ้นในการทำธุรกิจของบริษัท

บริษัทที่มีนโยบายและมีระบบการควบคุมภายในต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันครบถ้วนตามเกณฑ์ของคณะกรรมการ CAC และผ่านการสอบทานโดยผู้ตรวจสอบจากภายนอกว่า บริษัทมีนโยบายจริง มีแนวปฏิบัติจริง และมีการปฏิบัติตามนโยบายจริงก็จะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่าเป็นบริษัทมีนโยบาย และมีแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันตามหลักเกณฑ์ที่ CAC กำหนด

ทั้งนี้ ตั้งแต่โครงการนี้เริ่มมาปลายปี 2553 ณ สิ้นปี 2558 มีบริษัทเอกชนถึง 543 บริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ โดย 310 บริษัทที่เข้าร่วมเป็นบริษัทจดทะเบียน และใน 543 บริษัทที่เข้าร่วมนี้มี 152 บริษัท ที่ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านคอร์รัปชันตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด และที่น่ายินดีก็คือจำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรอง นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นจุดสว่างเล็กๆ ที่กำลังเติบโตเป็นพลังของการทำธุรกิจอย่างสะอาดที่มีจริยธรรมและมีธรรมภิบาลสูงในประเทศไทย นี่คือตัวอย่างของจุดสว่างแรก

จุดสว่างที่สอง คือความสำคัญที่รัฐบาลให้กับการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ การต่อต้านการทุจริตถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ทั้งการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันในระดับมหภาค การประกาศรายชื่อและย้ายข้าราชการที่พัวพันการทุจริต การยุบเลิกกฎหมายเก่าที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน การปรับปรุงกฎหมาย ปปช. ที่ให้อำนาจรัฐเอาผิดกับนิติบุคคลที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ และการออกพระราชบัญญัติ (พรบ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการปี 2558 ที่จะสร้างความโปร่งใสให้กับการให้บริการของภาครัฐ เหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้จริง ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือและการเอาจริงของฝ่ายข้าราชการประจำที่จะใช้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในประเด็นนี้ก็มีจุดสว่างให้เห็นในการให้บริการของหน่วยงานรัฐว่าปรับตัวดีขึ้น ผลสำรวจของ CAC คราวนี้ชี้ว่ามีหลายกระบวนงานในการให้บริการของภาครัฐที่ปรับตัวดีขึ้นในสายตาของนักธุรกิจ เช่น การจดทะเบียนธุรกิจ ทะเบียนการค้า และการจัดตั้งบริษัทที่มีการปรับปรุงดีขึ้นมากที่สุด รองลงมาก็คือกระบวนการภาษีและสรรพากร อย่างไรก็ตามการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ การจัดประมูลโครงการภาครัฐ และการจดทะเบียนขอใบอนุญาตต่างๆ ยังเป็นกระบวนการที่ถูกมองว่ามีโอกาสเกิดการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุด ดังนั้นจุดดำของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการยังมีอยู่มาก แต่ก็เริ่มเห็นจุดสว่างในบางส่วน

จุดสว่างที่สาม ก็คือ บทบาทของภาคประชาสังคม ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชนที่เข้มแข็งมากขึ้นและพร้อมจะร่วมมือให้ข้อมูลเปิดโปง และตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อให้การเอาผิดตามกฎหมายเกิดขึ้นจริง บทบาทเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขับเคลื่อนโดยองค์กรจัดตั้งของภาคประชาสังคม เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย หรือ ACT อีกส่วนหนึ่งมาจากแนวร่วมของภาคประชาชนเองที่จะไม่ยอมให้สิ่งไม่ถูกต้องเกิดขึ้นและพร้อมลุกขึ้นมาตรวจสอบและแสดงความเห็น เหล่านี้เป็นจุดสว่างที่จะเอื้อต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคตที่ประชาชนทั่วไปพร้อมจะมีบทบาทมากขึ้นในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นกรณีทุจริตคอร์รัปชันหรือการทำผิดจริยธรรมหรือธรรมาภิบาลรุนแรงในบริษัทเอกชนซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี

ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันขยายจุดสว่างเหล่านี้ให้มากขึ้น ให้สามารถต่อยอดเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่จะเบ่งบานให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศประสบความสำเร็จ ตรงกับความเห็นของกรรมการบริษัทและผู้นำธุรกิจร้อยละ 44 ในการสำรวจของ CAC คราวล่าสุดนี้ที่มีความเชื่อมั่นสูง ถึงสูงมากว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจะสามารถแก้ไขได้ ผมเองก็เชื่อเช่นนั้น เพราะคอร์รัปชันเป็นพฤติกรรมมนุษย์ และพฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ ถ้าสังคมสามารถสร้างแรงจูงใจได้ถูกต้อง