ทำอย่างไรเมื่อธรรมภิบาลถูกท้าทาย

ทำอย่างไรเมื่อธรรมภิบาลถูกท้าทาย

กรณีการซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายในหรือ Insider trading โดยกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน

ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำ และเป็นแบรนด์สำคัญของประเทศได้สร้างความผิดหวังอย่างมาก ให้กับสังคมไทยที่กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของบริษัทที่มีชื่อเสียง พร้อมที่จะทำความผิดอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเอง และที่ยิ่งผิดหวังมากก็คือบทบาทของคณะกรรมการบริษัทที่มีหน้าที่โดยตรงที่ต้องกำกับดูแลบริษัทให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี แต่กลับไม่แสดงความเดือดร้อน หรือแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งที่กรรมการเหล่านี้ล้วนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ไม่ได้ห่วงใยในประเด็นธรรมาภิบาล ในเรื่องจริยธรรมและความถูกต้อง ปล่อยให้ผู้บริหารและกรรมการที่ทำผิด ดื้อแพ่ง ทำหน้าที่ต่อไปได้ ขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทก็ไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบเอาผิด หรือแม้แต่ตักเตือนผู้บริหารที่ทำผิดตามบทบาทหน้าที่ควรต้องทำ ทั้งหมดเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเรียกร้องของสังคมที่ต้องการให้ผู้ที่ทำความผิด และคณะกรรมการบริษัทแสดงความรับผิดชอบตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี แต่ก็ไม่เกิดขึ้น

เราจะทำอย่างไร เมื่อธรรมาภิบาลถูกท้าทาย โดยเฉพาะจากคนระดับนำในภาคธุรกิจหรือบริษัทชั้นนำของประเทศ เรื่องนี้ตอนเกิดเหตุใหม่ๆ ผมได้เขียนบทความ “เมื่อสังคมเรียกหาความรับผิดชอบจากคณะกรรมการบริษัท” ชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นและการปฏิบัติของแต่ละฝ่ายที่จะเกิดขึ้นตามมาจะเป็นตัวชี้ว่า สังคมไทยจะสามารถร่วมกันหาทางออกได้หรือไม่ ที่จะเป็นบรรทัดฐานและเป็นตัวอย่างที่มีคุณค่าให้กับสังคม แต่สิ่งที่สังคมได้รับถึงวันนี้ก็คือความผิดหวัง ที่เตือนทุกคนให้ตระหนักว่าธรรมาภิบาลเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เป็นปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในพฤติกรรมของคนทุกระดับ ไม่ว่าจนหรือรวย และปัญหานี้คือต้นเหตุแท้จริงที่ทำให้ประเทศไม่เดินหน้า และมีปัญหามากมายขณะนี้ เพราะคนแม้ในระดับนำของสังคม ยังไม่สามารถก้าวข้ามหรือแยกแยะเรื่องผิดถูกได้

เรื่องที่เกิดขึ้น ให้ข้อเตือนใจที่สำคัญดังนี้

หนึ่ง ความผิดด้านธรรมาภิบาล การทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นได้เสมอ แม้ในกลุ่มคนระดับสูงของสังคม หรือบริษัทชั้นนำของประเทศที่มีระบบหรือภาพลักษณ์ธรรมาภิบาลที่ดูดีจากภายนอก แต่ข้างในกลับล้มเหลว ทำให้ธรรมาภิบาลและจริยธรรมเป็นเรื่องที่วางใจไม่ได้

สอง การทำหน้าที่ของกรรมการอิสระ แม้ในบริษัทชั้นนำของประเทศยังเป็นเรื่องที่หวังยากและยังห่างไกลสิ่งที่ควรจะเป็น แม้กฎหมายจะระบุให้ทุกบริษัทจดทะเบียนต้องมีกรรมการอิสระ และประธานคณะกรรมการตรวจสอบต้องเป็นกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและสอบทานการทำหน้าที่ของฝ่ายจัดการอย่างอิสระเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยและนักลงทุน แต่ถ้ากรรมการอิสระอ่อนแอไม่ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม การตรวจสอบก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เจ้าของและฝ่ายจัดการสามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ

สาม สังคมขณะนี้ไม่มีเครื่องมือที่จะจัดการหรือกดดันให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ถ้าการลงโทษตามกฎหมายไม่มีหรือมีแต่ไม่รุนแรง ประเด็นนี้น่ากลัวมากสำหรับสถานการณ์อย่างประเทศไทย ที่การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ และอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ในสังคมมีสูง ช่องว่างเหล่านี้จะจูงใจให้ผู้ที่มีทรัพยากรมาก มีเครือข่ายดี กล้าที่จะทำผิดแบบไม่เกรงกลัวกฎหมายหรือกระแสสังคม

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันกู้สถานการณ์ ช่วยกันลดช่องว่าง โดยระดมเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่มาใช้ให้มากที่สุด เพื่อสร้างแนวป้องกันที่เข้มแข็งให้กับธรรมาภิบาล เพื่อให้จริยธรรมและความถูกต้องเกิดขึ้นในสังคม และเพื่อปกป้องความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจในประเทศ และชื่อเสียงของตลาดทุนไทย โดยจากกรณีที่เกิดขึ้น เครื่องมือที่เราต้องช่วยกันผลักดัน ก็คือ

หนึ่ง บทลงโทษในความผิดเรื่องการใช้ข้อมูลภายในและความผิดอื่นๆ ในตลาดทุน ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาต้องรุนแรงกว่านี้มาก ต้องมีโทษทั้งจำคุกและปรับที่รุนแรงเหมือนในต่างประเทศ เพื่อไม่ให้กล้าทำผิด ที่สำคัญคุณสมบัติของการเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียน ต้องเอาประเด็นความผิดเหล่านี้มาพิจารณา เพื่อให้ผู้ที่มีประวัติทำความผิด ขาดความเหมาะสมและไม่สามารถเป็นกรรมการบริษัทได้ตลอดชีวิต

สอง หน่วยงานกำกับดูแลต้องออกเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียน เปิดเผยข้อมูลการทำความผิดของกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงโทษที่ได้รับไว้ในรายงานประจำปีควบคู่กับข้อมูลกรรมการอื่นๆ การเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้จะทำให้นักลงทุนทราบถึงมาตรฐานของผู้ที่บริษัทเลือกเข้ามาเป็นกรรมการ หรือผู้บริหาร ว่ามีพฤติกรรมด้านจริยธรรมอย่างไร เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

สาม บทบาทประธาน ประธานคณะกรรมการบริษัทเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในบริษัท ถ้าประธานกรรมการไม่ทำหน้าที่ ไม่สนใจเรื่องธรรมาภิบาล ปัญหาธรรมาภิบาลในบริษัทก็จะมีมาก ดังนั้นที่ต้องผลักดันก็คือ ทำให้ประธานกรรมการบริษัทสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งจะเกิดได้ง่ายถ้าประธานกรรมการบริษัทเป็นกรรมการอิสระ ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้แทนเจ้าของซึ่งจะเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

สี่ กรรมการอิสระ เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้ทุกบริษัทจดทะเบียนต้องมีกรรมการอิสระ ก็เพื่อสอบทานคานอำนาจผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อดูแลผลประโยชน์ของบริษัท ของผู้ถือหุ้นรายย่อย นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ถ้ากรรมการอิสระไม่ทำหน้าที่อย่างเหมาะสมก็สามารถสร้างต้นทุนสูงมากต่อบริษัท ซึ่งสาเหตุอาจมาจากความเกรงใจเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ได้ชักจูงตนเข้ามาเป็นกรรมการอิสระ ทำให้ต้องนึกถึงผลประโยชน์ต่างตอบแทนในการทำหน้าที่ แทนที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระตรงไปตรงมา

นี้คือปัญหาความไม่อิสระของกรรมการอิสระ และวิธีหนึ่งที่ต้องผลักดันเพื่อแก้ไขเรื่องนี้คือ ต้องให้มีข้อกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถประเมินหรือให้คะแนนการทำหน้าที่ของกรรมการอิสระได้อย่างเป็นกิจลักษณะตามกฎหมาย และนำเสนอข้อมูลนี้ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี เพื่อให้กรรมการอิสระรับทราบ และพิจารณาตัวเองในการทำหน้าที่

ห้า คือ การฝึกอบรมกรรมการ ให้รู้หน้าที่และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจำเป็นมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ชี้ว่า กรรมการที่ผ่านการอบรมยังกล้าที่จะทำให้สังคมกรรมการทั้งประเทศผิดหวัง กล้าที่จะทำลายภาพพจน์ของกรรมการบริษัทไทย ทำให้ประเด็นจริยธรรมจึงสำคัญมากในคุณสมบัติของกรรมการ และเป็นประเด็นที่ต้องมีการอบรมในการอบรมกรรมการ

หก คือ บทบาทของผู้ถือหุ้นรายย่อยและนักลงทุนที่ต้องตื่นตัว เป็นกระบอกเสียงและพร้อมที่จะแสดงความเห็น ไม่ยอมให้มีการทำผิดธรรมาภิบาลเกิดขึ้น ที่ผ่านมาบทบาทของสมาคมนักลงทุนไทยและสมาคมบริษัทจัดการกองทุนต่อเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าชมเชยในฐานะเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ธรรมาภิบาลในตลาดทุนไทยเกิดขึ้นจริง