ดอยช์แบงก์.. วิกฤติจริงไหม?

ดอยช์แบงก์.. วิกฤติจริงไหม?

ข่าวดังข้ามสัปดาห์ในวงการเงิน เห็นจะไม่พ้นดอยช์แบงก์ที่ตกเป็นข่าวว่ามีความเสี่ยงจากการลงทุนตราสาร

อนุพันธ์โลกที่มีจำนวนมหาศาลถึง 64 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 80% ของจีดีพีโลกที่มีอยู่ 78 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 5 เท่าของจีดีพีกลุ่มยูโรโซน หรือเท่ากับ 16 เท่าของจีดีพีประเทศเยอรมนี ส่งผลให้ราคาหุ้นดอยช์แบงก์ดิ่งลง 28% นับตั้งแต่ตันปีนี้ นอกจากนี้ หุ้นแบงก์ยุโรปอื่นเช่น เครดิตสวิสแบงก์ร่วงลง 29.9% บาร์เคลย์สแบงก์ร่วงลง 21.7% ยูบีเอสร่วงลง 20% และอาร์บีเอสร่วงลง 19.6% ในทางตรงกันข้าม CEO ของดอยช์แบงก์ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมัน ก็ได้ออกโรงแถลงว่าดอยช์แบงก์นั้นยังโคตรแกร่ง (ขออนุญาตแปลจากคำว่า Rock Solid) คำถามคือแล้ว ดอยช์แบงก์.. วิกฤตจริงไหม?’

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ขอเล่าภูมิหลังของแบงก์แห่งนี้สักหน่อย ต้องบอกก่อนว่าผมชื่นชมงานวิจัยต่างๆ ของดอยช์แบงก์เป็นอย่างมาก ช่วงที่ผมร่วมงานวิจัยและสัมมนากับธนาคารกลางเยอรมันเมื่อราว 2 ปีก่อน ผมเห็นทีมการเงินของดอยช์แบงก์ถือได้ว่ามีความแข็งแกร่งมาก ด้วยความชำนาญนี้เอง จึงทำให้ดอยช์แบงก์ทำธุรกิจในด้านที่ใช้มุมมองตลาดและการวิเคราะห์อย่างอนุพันธ์อยู่เยอะ ซึ่งเมื่อยุโรปเริ่มใช้มาตรฐานการกำกับความเสี่ยงแบบ Basel3 ตราสารอนุพันธ์ดังกล่าวถือว่ามีความเสี่ยงสูง สินทรัพย์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักความเสี่ยงอยู่ค่อนข้างสูงด้วย ดังนั้นดอยช์แบงก์จึงต้องการปริมาณเงินกองทุนที่สูงขึ้นมาก

อย่างไรก็ดี ต้นทุนของเงินกองทุนในส่วนทุนเรือนหุ้นหรือ Equity มีค่าใช้จ่ายที่ถือว่าแพงมาก จึงมีหลายแบงก์ในยุโรปหันไปใช้ตราสารทางการเงินที่ชื่อว่า หุ้นกู้สาย Hybrid ที่ชื่อ CoCo หรือ contingent convertible bonds ซึ่งจะจ่ายดอกเบี้ยในสถานการณ์ปกติ ทว่าจะกลายเป็น Equity เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ระบุในสัญญา อาทิ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าค่าๆ หนึ่ง โดยที่ CoCo มีต้นทุนถูกกว่า แต่ในการทำหน้าที่เป็นเงินกองทุน ถือว่ามีคุณภาพที่ต่ำกว่า Equity ซึ่งมีศักดิ์ศรีเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ทว่า CoCo เป็นเพียงเงินกองทุนขั้นที่ 1 แบบส่วนเพิ่มหรือ Additional Tier 1 ในภาษาบริหารความเสี่ยงเรียกกระบวนการนี้ว่า Bail-in

โดยที่ดอยช์แบงก์เป็นแบงก์หนึ่งที่ถือว่ามี CoCo อยู่มาก และก็มีแผนลดค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ต้องบอกว่าดุดันทีเดียว ทีนี้ มาถึงคำถามที่ว่าแล้วดอยช์แบงก์ถือว่าวิกฤตไหม ผมขอตอบแบบนี้

  หนึ่ง ผมคิดว่าดอยช์แบงก์เกิดความอึมครึมเมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อน นอกจากเรื่องของผลประกอบการทางการเงินที่จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายอย่างหนัก สิ่งที่เป็นโฟกัสจริงๆ คือความสับสนของตลาดเกี่ยวกับตัวเลข 2 ชุดที่ออกมาไม่ตรงกัน โดยที่แบงก์ที่ไม่ใช่สัญชาติเยอรมัน เวลาที่จะดูว่า CoCo จะไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยให้นักลงทุน ภายใต้กฎหมาย CRD 4 ของสหภาพยุโรป ให้ดูที่ปริมาณ Maximum Distributable Amount (MDA) ซึ่งเป็นนิยามทางบัญชีของธนาคารกลางยุโรปว่าด้วยเงินสำรองที่พร้อมจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้นักลงทุน

ทว่าแบงก์ของเยอรมันจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมภายใต้กฎหมายเยอรมัน ให้ดูที่ปริมาณ Available Distributable Items หรือ ADI ซึ่งเป็นเงินสำรองที่พร้อมจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้นักลงทุน ทว่าอยู่ภายใต้ระเบียบบัญชีของเยอรมันเอง โดยค่า ADI ของดอยช์แบงก์ เมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อน นักวิเคราะห์ประเมินว่าต่ำกว่าปริมาณ MDA ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าทางการจะให้น้ำหนัก ADI เพราะระบบบัญชีนั้น การลงบัญชีเป็นแบบ Cash Basis มากกว่าของยุโรปที่หนักไปทาง Accrual Basis

จุดที่ตลาดสงสัย เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน คือปริมาณ ADI ของดอยช์แบงก์ที่นักวิเคราะห์ประเมินกันไว้มีค่าต่ำกว่าที่จะสามารถจ่ายคืนเป็นดอกเบี้ยให้นักลงทุน ทว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางดอยช์แบงก์ก็ประกาศแบบเป็นทางการว่ามีปริมาณเงิน ADI จ่ายถึง 1 พันล้านยูโร ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยแบบเหลือเฟือ

สอง กระนั้นก็ดี ตลาดยังประเมินว่าดอยช์แบงก์มีเงินในส่วน Distributable ที่ต่ำกว่าแบงก์อื่นๆ ดังรูป

สาม ผมคิดว่าเป็นความผิดพลาดของธนาคารกลางยุโรปในส่วนหนึ่ง ที่ปี 2015 ได้ยกเลิกการทดสอบภาวะวิกฤติหรือ Stress Test สำหรับธนาคารพาณิชย์ในยุโรป จึงทำให้มองไม่เห็นภาพล่าสุดของแบงก์ในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่แล้ว ถือว่าหลายแบงก์ในยุโรปเริ่มทำธุรกิจที่เสี่ยงมากขึ้น

ท้ายสุด ผู้กำกับสถาบันการเงินสามารถระงับไม่ให้ดอยช์แบงก์สามารถจ่ายคูปอนของตราสาร CoCo ได้ทุกเมื่อ ดังนั้น เมื่อราคาหุ้นดอยช์แบงก์ตกมากๆ จึงมีคนเริ่มเสียวว่าหน่วยงานกำกับสถาบันการเงินของเยอรมัน จะประกาศให้ดอยซ์แบงก์งดจ่ายดอกเบี้ยดังกล่าว และยิ่งจะทำให้ตลาดตื่นตระหนกเป็นลูกโซ่ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเสี่ยงของดอยซ์แบงก์จริงๆ ในตอนนี้ี่แม้ในหลายส่วนเป็นการกลัวปัญหาต่างๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงก็ตาม

กล่าวโดยสรุป คือ ณ นาทีนี้ ในมุมของปัจจัยพื้นฐาน ดอยซ์แบงก์ไม่ถึงกับวิกฤติ แต่ก็ดูยังเสี่ยงอยู่เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ทว่าคำตอบสุดท้ายจริงๆ ของดอยซ์แบงก์ว่าจะมั่นคงมากแค่ไหน

ผมเห็นว่าอยู่ที่ท่าทีและคำพูดของ เจนส์ วิสแมน ผู้ว่าการธนาคารกลางเยอรมันเป็นสำคัญ เพราะเขาน่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายของการตัดสินชะตาดอยซ์แบงก์ในอนาคตครับ