ผันธุรกิจ จาก ‘ยิ่งใหญ่’ สู่ ‘ยั่งยืน’
กิจการที่เข้าใจบริบทความยั่งยืน จะสามารถแสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อมิติทางธุรกิจ
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลก ที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ก่อให้เกิดผลกระทบไม่เพียงแต่การเติบโตของธุรกิจ แต่ยังส่งผลถึงความยั่งยืนของกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มทรัพยากรและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ พลังงาน เหล็ก เป็นต้น
การใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจ อาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ต่อการนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จหรือเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ทำให้หลายธุรกิจจำต้องมองหาทางเลือกของกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนของกิจการ เพื่อนำองค์กรให้เข้าสู่วิถีของธุรกิจที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ธุรกิจต้องมีความเข้าใจว่า ปัจจัยแห่งการเติบโต ซึ่งหมายถึง ทรัพยากรที่ใส่เข้ามาเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์มุ่งการเติบโตนั้น มีความแตกต่างจาก ทรัพยากรที่ใช้เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ปัจจัยแห่งความยั่งยืน อาจไม่ใช่ทรัพยากรประเภทเดียวกันกับที่ใช้ในการสร้างกิจการให้เติบโต
กิจการที่เข้าใจบริบทของความยั่งยืน จะสามารถแสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อมิติทางธุรกิจ มิใช่เรื่องที่แปลกแยกไปจากการดำเนินธุรกิจ โดยมีเข็มทิศการดำเนินงานในเรื่องธุรกิจกับเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน และมิได้มองว่าเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นภาระหรือค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่กลับใช้เป็นปัจจัยหรือโอกาสในการเสริมหนุนขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการได้มาซึ่งกำไรที่มั่นคง
ปัจจุบัน มีหลายองค์กรธุรกิจที่ได้นำปัจจัยแห่งความยั่งยืน มาออกแบบและปรับแต่งโมเดลทางธุรกิจ วางกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน พร้อมกับพัฒนาแนวทางในการสื่อสารเรื่องความยั่งยืน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้รับทราบถึงทิศทางขององค์กร และตอบสนองต่อความจำกัดของกลยุทธ์มุ่งการเติบโตที่ไม่อาจใช้เป็นกลยุทธ์หลักเดียวของธุรกิจได้อีกต่อไป
การกำกับดูแลกิจการที่คณะกรรมการบริษัทคุ้นเคยกับการให้ความเห็นชอบในกลยุทธ์มุ่งการเติบโตของหลายกิจการ ในห้วงเวลาที่ผ่านมา กำลังเปลี่ยนจุดโฟกัสมาสู่การให้ความเห็นชอบในกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของกิจการและความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนสร้างทั้งแรงหนุนและแรงต้านแก่องค์กร
สิ่งที่คณะกรรมการบริษัทจะต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย การรับรู้ในเรื่องความยั่งยืนของกิจการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันความจำเป็นในทางธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนประเด็นความยั่งยืนที่มีสาระสำคัญต่อกิจการการผนวกความยั่งยืนในกลยุทธ์และตัวแบบทางธุรกิจ และแผนดำเนินงานแรกเริ่มด้านความยั่งยืน เป็นต้น
ทั้งนี้ การประเมินว่าคณะกรรมการบริษัทสามารถตอบสนองต่อเรื่องดังกล่าวได้ดีมากน้อยเพียงใด พิจารณาได้จากระดับความเข้าใจร่วมโดยตระหนักว่าความยั่งยืนมีสาระสำคัญต่อกลยุทธ์และการดำเนินงานของบริษัท ความรู้และความตระหนักของคณะกรรมการบริษัทที่มีเพิ่มขึ้นต่อประเด็นความยั่งยืนที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท และความคาดหวังที่ถูกกำหนดและความประสงค์ที่จะบูรณาการความยั่งยืนสู่กลยุทธ์และนวัตกรรมตัวแบบทางธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากนี้ ขอบเขตของการกำกับดูแลที่สะท้อนถึงการบูรณาการความยั่งยืนสู่กิจการ ยังครอบคลุมถึงภาวะผู้นำของคณะกรรมการในการคำนึงถึงโอกาสและความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับความยั่งยืน การกำหนดจุดยืนทางกลยุทธ์ รวมถึงแนวนโยบาย โครงสร้าง ทักษะ และเครื่องมือในการกำกับดูแล ตลอดจนแผนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในการผนวกความยั่งยืนเข้ากับบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
ธุรกิจที่สามารถผันตัวเองเข้าสู่โหมดธุรกิจยั่งยืน จะเปลี่ยนจุดโฟกัสมาเน้นใช้กลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน เพื่อรักษาเสถียรภาพของกิจการ ด้วยการพิจารณาดำเนินงานในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ผสมผสานกลมกลืนเข้ากับการดำเนินธุรกิจ ปรับทิศทางจากเส้นทางการเติบโตเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ (Great) สู่วิถีของธุรกิจที่ยั่งยืน (Last)