“โลกโซเชียล” กับ “โรคซึมเศร้า”
คุณพงศกร เฉลิมชุติเดช อดีตผู้ช่วยวิจัยของผม ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะเป็นคนติดเฟซบุ๊ก
ซึ่งน่าสนใจมากเพราะสามารถพิจารณาเปรียบเทียบง่ายๆ ได้ว่าสถิติผู้เป็นโรคซึมเศร้าสูงในสังคมไทยสูงมาก และขณะเดียวกันสถิติของคนที่เล่นเฟซบุ๊ก (หรืออยู่ในโลกโซเชียลอื่นๆ) ก็สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ผมคิดว่ามีความสอดคล้องบางอย่างบางประการ ใน “โลก” และ “โรค” สองอย่างนี้
ในปัจจุบันที่ความสัมพันธ์ทางสังคมเปราะบางมากขึ้น ชีวิตผู้คนถูกทำให้แยกห่างจากกัน จนไม่สามารถที่จะสื่อสารกัน และสร้าง/มีสายใยสัมพันธ์กันอย่างแท้จริง ความเปล่าเปลี่ยวในชีวิตจริงจึงถูกทดแทนด้วยการสื่อสารในโลกโซเชียล
แต่ในอีกด้านหนึ่งการสื่อสารในโลกโซเชียลถูกทำให้เป็นการแสดงความเป็น “ส่วนตัว/ตัวตน” ที่อยากจะให้คนอื่นรับรู้ และ “ชื่นชม” จึงทำให้การนำเสนอสาระเป็นเพียงการตัดส่วนเสี้ยวของชีวิตมาขยายให้กลายเป็นภาพที่อยากให้คนอื่นเห็น การนำเสนอลักษณะนี้ ก็คือการทำให้ตนเองหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกของความต้องการแสดงตน หากไม่ได้รับการตอบสนองว่าได้รับรู้และ “ชื่นชม” ก็จะรู้สึกกระทบลงลึกถึงความเป็นตัวตน (โปรแกรม line ใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า อ่านแล้วจึงก่อปัญหาทางอารมณ์ของผู้ส่งความ ว่าอ่านแล้วทำไมจึงไม่ยอมตอบ)
แม้ว่าคนกลุ่มใหญ่จะเลือกใช้โลกโซเชียลในการติดตามคนอื่นโดยที่ไม่แสดงตัวตน แต่การติดตามก็คือการมองไปที่คนอื่นด้วยสายตาของเราที่วางอยู่บนฐานอารมณ์ความรู้สึกของเรา ซึ่งเมื่อรับรู้ส่วนที่ถูกตัดมาเสนอ/แสดงซึ่งก็จะเป็นส่วนที่ “งดงาม” “ร่ำรวย” “ยอดเยี่ยม” เราก็รับรู้และนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตทั้งหมดจริงๆ ของเราทันที
ในโลกโซเชียล อารมณ์ความรู้สึกของเราจึงถูกทำให้เหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงรวดเร็วมากขึ้นมาก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2538 ผมเคยวิเคราะห์ระบบอารมณ์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปรเร็วขึ้น เพราะการดูโทรทัศน์ใช้รีโมตที่การเปลี่ยนช่องโทรทัศน์เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนความรู้สึกตลกมาสู่ความรู้สึกหวานในอก หรือความกลัวในเวลาเดี๋ยวเดียว แต่ในวันนี้โลกโซเชียลทำให้อารมณ์ของเราวิ่งขึ้นวิ่งลงทุกลักษณะอย่างรวดเร็วมากกว่าเดิมหลายร้อยหลายพันเท่า
ที่สำคัญอารมณ์ของเราที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในวันนี้ เป็นอารมณ์ที่วางอยู่บนฐานการคิด/การมอง เน้นที่ตัวตนของเรา ไม่ใช่อารมณ์ที่เกิดจากการมองการแสดงในโทรทัศน์แบบเดิม จึงก่อให้เกิดความไม่เสถียรของอารมณ์มากขึ้น จนกล่าวได้ว่าความไร้เสถียรภาพเป็นลักษณะอารมณ์คนในยุคปัจจุบัน
โรคซึมเศร้ามีฐานการอธิบายว่าเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่มีต่อตนเองว่า ตนไม่มีค่าไม่มีความหมายใดๆ ต่อใคร รวมไปถึงความรู้สึกที่พบว่าตนเองไม่ได้เป็นอย่างที่ฝันหรือหวังเอาไว้ ความรู้สึกหดหู่จะครอบครองทั้งหมดของวิถีความรู้สึก และส่งผลต่อเนื่องไปสู่การสูญเสียความหมายของการมีชีวิตอยู่
ในสังคมเศรษฐกิจทุนนิยม ความรู้สึกถึงความไร้ค่าของตัวตนเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความรู้สึกไร้ค่านี้กลับจะแรงมากขึ้น เมื่อคนได้พยายามหาทางทำให้ตนรู้สึกมีค่าด้วยการแสดงตนในโลกโซเชียล เพราะโลกเสมือนจริงนี้กลับเป็นตัวการที่ทำให้ความรู้สึกว่า “มีค่า” กับ “ไร้ค่า” วิ่งขึ้นลงอย่างรวดเร็วจนเราไม่สามารถที่จะควบคุมอารมณ์ให้มีเสถียรภาพได้เลย และเมื่อควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้น้อยลง ความหมายของความเป็นเรา/ตัวตนเราก็ยิ่งถูกทำลายไปเรื่อยๆ
โรคซึมเศร้าจึงเป็นสภาวะของการบ่อนทำลายความหมายของ “ชีวิตและตัวตน” คนจำนวนหนึ่งที่หันไปสู่ศาสนาและลัทธิพิธีก็เพราะต้องการหนีจากการถูกทำลายลักษณะนี้ เพื่อที่จะไปมี “ชีวิตและตัวตน” ใหม่ในวิถีแห่งความเชื่อ
การเข้าสู่โลกโซเชียลส่งผลต่อความรู้สึกของเราอย่างรุนแรง ลองนึกถึงความรู้สึกเปรียบเทียบภาพแสดงของเพื่อนที่ได้เสพสุขที่เมืองนอกทุกครั้งที่มีวันหยุด กับเราที่ต้องนั่งทำงานเสมียนด้วยเงินเดือนน้อยนิด หรือการเปรียบเทียบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสมองและความรู้สึกของเรา แม้ว่าภาพแสดงนั้นไม่ได้แสดงการเปรียบเทียบแต่อย่างใด
การเลือกที่จะอยู่ในโลกโซเชียลอย่างไม่ระมัดระวัง ความรู้สึกตัวเอง และไม่ตระหนักถึงพลังการเหวี่ยงของอารมณ์ ยิ่งก่อให้เกิดสภาวะซึมเศร้าได้ง่ายขึ้นและลึกซึ้งมากขึ้น เพราะเมื่อเราถูกทำให้หมกมุ่นอยู่กับตนเองและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ที่ให้ความหมายแก่ตัวเรา ตัวตนของเรา ก็ไม่มีทางที่จะเสถียรพอที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความหมาย
ความพยายามที่จะมี “ตัวตน” ในโลกโซเซียลอย่างไม่ระวังและไม่ตระหนัก จึงผลักดันให้คนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นกลุ่มคนที่เสนอตัวแสดงความคิดเห็นบนการใส่ความรู้สึกไปทั่วทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องอะไร (ไม่ว่ารู้หรือไม่รู้ ก็ขอเสนอความเห็นไว้ก่อน วัยรุ่นใช้คำว่า“เผือก”)
ในเงื่อนไขทางสังคมทุกวันนี้ คงไม่สามารถที่จะหยุดการอยู่ใน “โลกโซเชียล” ได้ แต่ก็ต้องเตือนกันว่า จำเป็นต้องตระหนักและระมัดระวัง “อารมณ์” ของเราให้ดีครับ